Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นกันเกรา ความหมาย ประโยชน์ ไม้มงคลปลูกในบ้าน สรรพคุณทางสมุนไพร ราคาถูก?

กันเกรา เป็นพรรณไม้ไทย ที่นอกจากจะมี "รูป" งาม อันหมายถึงลักษณะลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปกลมแหลมคล้ายเจดีย์ และดอกมีกลิ่นหอมรวยรื่นตลอดทั้งวัน

หากยังเป็นพรรณไม้ที่ "นาม" มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 9 ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ มีความหมายว่า จะช่วยป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ไม่ให้มากล้ำกราย

ต้นกันเกรา (มันปลา)

กันเกราเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่พบทั่วทุกภาคของประเทศ การกระจายพันธุ์ พบค่อนข้างง่ายในภาคใต้และภาคตะวันออก พบเล็กน้อยในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก ในจังหวัดบึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ต่างประเทศพบในอินเดียตอนบน เมียนมาร์ตอนใต้ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี

มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ถิ่นอาศัย ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ทุ่งนา ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ และป่าบุ่งป่าทาม หรือตามพื้นที่ดินปนทรายใกล้ ชายทะเล ชอบขึ้นในเขตที่ราบ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 300 ม. และมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,500 มม./ปี ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม- มิถุนายน

ดอกกันเกรา

กันเกราออกดอกในช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูฝน ราวเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในช่วงเวลานี้พื้นที่ที่มีกันเกราขึ้นอยู่มากจะส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่ว ดึงดูดให้หมู่แมลงและผึ้งพากันมาดูดกินน้ำหวานและผสมเกสรให้กันเกราได้ขยายพันธุ์ต่อไป จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

รายละเอียดเพิ่มเติม

กันเกรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea fragrans Roxb. วงศ์ Gentianaceae ชื่อภาษาอังกฤษ Tembesu มีชื่อท้องถิ่นอื่นอีกหลายชื่อ เช่น กันเกรา (ภาคกลาง), ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), ตำมูซู (มลายู-ภาคใต้), มันปลา (ภาคเหนือ, อีสาน), ตะเตรา (เขมร-อีสานใต้) ชื่อพ้อง Cyrtophyllum fragrans (Roxb.) DC.

ชาวอีสานเรียกกันเกราว่า มันปลา เหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะมันปลาเป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว แก่นสีเหลืองอ่อนมีลวดลายสวย คล้ายไม้สัก มีน้ำมันหล่อเลี้ยง เนื้อไม้คล้ายทาด้วยน้ำมันจากปลา

ชาวบ้านนิยมนำไม้มันปลามาทำเสารั้ว เสาเรือน เสาโรงนา หรือการก่อสร้างที่ต้องตากแดด ตากฝน หรือฝังลงดิน แปรรูปใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก เช่น เสา คาน ตง กระดาน ทำโครงเรือ-รถ ทำเครื่องเรือน หรือด้ามเครื่องมือ เพราะไม้มันปลามีน้ำมันหล่อเลี้ยง ปลวกจึงเจาะไม่เข้าและไม่ผุ ทนทานต่อปลวกและมอด

นอกจากนี้ชาวอีสานยังถือว่ามันปลาเป็นไม้มงคล จึงนิยมนำมาแกะพระพุทธรูปไม้และทำเครื่องรางของขลังอื่นๆ รวมทั้งก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันยังมีผู้นิยมนำไม้มันปลาไปแกะสลักพระเครื่องไม้อีกด้วย ส่วนในภาคใต้ จะเรียกกันเกราว่าตำเสาหรือทำเสา เนื่องจากนิยมนำลำต้นมาใช้ทำเสาบ้าน

สรรพคุณ กันเกรา

สรรพคุณ สมุนไพร กันเกรา

กันเกราหรือมันปลา ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร โดยแก่นกันเกราจะมีรสเฝื่อน ฝาด ขม ใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้หืด ไอ ริดสีดวง ท้องมาน แน่นหน้าอก แก้พิษฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดแก้ลมต่างๆ และเป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกใช้เข้ายาบำรุงโลหิต แก้ผิวหนังพุพองปวดแสบปวดร้อน

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นกันเกรา มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง สูง 15-25 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ เปลือกหยาบ สีน้ำตาลเข้ม เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามแนวยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีเหลืองอ่อน เรือนยอดรูปกลมแหลม รูปกรวยแหลม หรือรูปเจดีย์

ใบเดี่ยว ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ รูปรีแกมรูปหอก กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 8-11 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นแผ่นหนัง ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมันทั้งสองด้าน โคนก้านใบเป็นเบ้าโอบกิ่งเล็กน้อย ใบแก่ก่อนร่วงสีเหลือง มีเส้นแขนงใบ 5-10 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกัน ก้านใบยาว 0.7-2 ซม.

ดอกกันเกรา

ดอกกันเกรา ออกเป็นช่อ ช่อดอกแบบแยกแขนง คล้ายรูปร่ม ออกตามซอกใบ ง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง ยาว 4-12 ซม. รูปแจกันทรงสูง ช่อดอกไม่มีขน เมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 2 ซม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียว รูประฆัง ยาว 2-3 มม. ปลายแยก 5 แฉก

ดอกเมื่อแรกบานมีสีขาวแล้ว ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นดอกสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองแก่เมื่อดอกใกล้โรย เมื่อบานกลีบดอกจะม้วนกลับ ดอกมีกลิ่นหอม

ผลกันเกรา มีลักษณะเป็นผลรูปเกือบกลม มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มม. ปลายมีติ่งแหลมสั้นๆ ติดอยู่ตรงส่วนบนสุดของผล ผิวมันเงา ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่จัดมีสีเหลืองจนถึงสีแดงเลือดนก ลักษณะเมล็ด สีน้ำตาลอ่อน มีหลายเมล็ด ขนาด 2-3 มม. ผลแก่มิถุนายน-กันยายน

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์กันเกรา ใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ปลูกต้นกันเกรา ปลูกทิศไหนดี

การปลูกต้นกันเกรา เชื่อกันว่าถ้าปลูกต้นกันเกราจะเป็นมงคลแก่ตัวผู้ปลูกและบริวารภายในบ้าน โดยจะช่วยคุ้มภยันตราย ควรปลูกทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีความหมายถึง การขัดเกลาบุตรหลาน บริวาร ผู้อยู่อาศัยในบ้าน ให้ว่านอนสอนง่าย ไม่มีทิฐิ ดื้อรั้น ไม่โลภ ไม่มัวเมากับสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย

อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552; หนังสือเผยแพร่ : ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน โดย มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล, ศรันย์ จิระกร กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, 2561

รายละเอียดเพิ่มเติม