Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นพุดผา (พุดสีดาดง) ดอกพุดผา ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะเด่น ไม้ดอกหอมของไทย?

"พุดผา" พรรณไม้ดอกหอมในสกุลพุดที่มีเสน่ห์อย่างมากชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ออกดอกสีขาวพรูเต็มต้น และส่งกลิ่นหอมกระจายไปตลอดวัน ได้สร้างความประทับใจ ให้แก่ผู้ที่ไปชื่นชมจนยากจะลืมเลือน ซึ่งยังมีชื่ออื่นๆ เป็นชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ข่อยด่าน ข่อยหิน และพุดสีดาดง เป็นต้น

พุดผา (พุดสีดาดง)

พุดผา (พุดสีดาดง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia collinsae Craib วงศ์พุด Rubiaceae

พุดผาเป็นพรรณไม้ในวงศ์พุด Rubiaceae พบครั้งแรกในประเทศไทย โดย D.J. Collins ที่บริเวณใกล้ชายหาด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี 1913 มีชื่อระบุชนิด 'collinsae' ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ มาดามคอลลิน นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบพุดผาชนิดนี้

ส่วนใครที่อยากชื่นชมพรรณไม้ชนิดนี้ ต้องไปหาชมช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูดอกบาน ดอกมีสีขาวพรูเบ่งบานพร้อมกันเกือบทั้งต้น มีช่วงดอกบานอยู่เพียง 1 สัปดาห์ แต่ละดอกบานอยู่ได้วันเดียวแล้วโรย แต่จะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ไปตลอดวัน

ต้นพุดผา (พุดสีดาดง) ดอกพุดผา

พุดผา เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย กระจายพันธุ์อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีความนิยมปลูกพุดผาเป็นไม้ประดับเพิ่มมากขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากมีฟอร์มทรงต้นที่งดงาม ดอกสวยและมีกลิ่นหอมแล้ว พุดผายังมีสรรพคุณทางสมุนไพร นิยมใช้ผิวเปลือกของพุดผาอุดฟันแก้ปวดฟัน

นอกจากนี้ยังมีการนำไม้พุดผามาทำหวี โดยบรรยายสรรพคุณว่า ช่วยทำให้ผมดกดำ ลดอาการผมแตกปลาย และช่วยให้ผมหงอกได้ช้าลง

เนื่องจากพุดผาเป็นพืชทนแล้ง ถึงแม้จะโตช้าก็ตาม แต่ก็ยังมีความนิยมปลูกตามสวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ หรือตามแหล่งพักผ่อนที่อยู่ในเขตแห้งแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์

แต่ทั้งนี้ขอแนะนำว่า การปลูกในที่ร่มหรือดินปลูกชื้นตลอดปี พุดผาจะออกดอกได้น้อย

ลักษณะพรรณไม้ของพุดผา

ต้นพุดผา มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม ผลัดใบ มีความสูงได้ถึงประมาณ 3-6 ม. เส้นผ่าศูนย์กลางของโคนต้น 5-10 ซม. ลำต้นค่อนข้างเปลาหรือแตกเป็นหลายลำต้น เปลือกบาง เรียบสีเทาอมขาว เปลือกแก่มักล่อนออกเป็นแผ่นโตๆ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ กิ่งอ่อนมักแข็งคล้ายหนาม

ใบเป็นใบเดี่ยว ติดตรงข้ามเป็นคู่ และแต่ละคู่ มักอยู่ชิดติดกัน ทำให้ดูเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่มบริเวณใกล้ๆ ปลายกิ่ง ใบรูปรี แกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 3-7 ซม. ทั้งโคนและปลายใบเรียวสอบแคบและเบี้ยวเล็กน้อย เนื้อใบ ค่อนข้างหนา มีขนสากๆ แข็งๆ ประปรายทั้งสองด้าน

ดอกพุดผา ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งและซอกใบ กลีบเลี้ยงสีเขียวมี 6 แฉก จะติดอยู่จนเป็นปลายจุกผล โคนกลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแจกัน ปลายหลอดแยกเป็นกลีบดอก 5-6 กลีบ ดอกสีขาว กลีบบาง ปลายกลีบบิดเวียน

ดอกบานวันเดียวและโรยวันรุ่งขึ้น ผลพุดผา ทรงกลมรี ยาว 2.5 ซม. ปลายผลมีครีบแหลม ของกลีบเลี้ยงติดอยู่ 6 แฉก เมล็ด มีขนาดเล็ก ยาว 3-4 มม. มีจำนวนมาก

การขยายพันธุ์พุดผา สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง

อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม