Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: ปัดหิน (ข่อยหิน,พุดผา) ไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย?

"พุดผา" หรือมีชื่ออื่นว่า ปัดหิน ข่อยหิน ข่อยโคก ข่อยดาน เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ดอกสีขาวบานสะพรั่งสวยงามและส่งกลิ่นหอมแรง นิเวศวิทยาในประเทศไทย ขึ้นอาศัยบนลานหินทราย ในป่าเต็งรัง

พุดผา (ปัดหิน)

ถิ่นกำเนิดพุดผา(ปัดหิน) พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ที่ระดับความสูง 50–590 ม. การกระจายพันธุ์ที่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม

พุดผา (ปัดหิน) ดอกพุดพื้นเมืองของไทย บอนไซ ไม้แคระ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม

ดอกพุดที่เรียกกันว่า"พุดผา"ในไทยจะมีอยู่ 2 ชนิด  ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะดอกคล้ายกันมาก คือ 

  1. พุดผา (พุดสีดาดง) Gardenia collinsiae Craib 
  2. พุดผา (ปัดหิน) Gardenia saxatilis Geddes   

รายละเอียดเพิ่มเติม

ความแตกต่างอยู่ที่ ต้นพุดผา (พุดสีดาดง) G. collinsiae เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึง 3-5 เมตร ใบรูปรีแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่ต้นพุดผา (ปัดหิน) G. saxatilis เป็นไม้พุ่มโปร่ง มีความสูงเพียง 1-3 เมตร และ ใบรูปไข่กลับ ปลายใบโค้งมนกลม

พุดผา (ปัดหิน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia saxatilis Geddes (อ่านว่า กา-ดิ-เนีย แซก-ซา-ติ-ลิส) จัดอยู่ในวงศ์พุด Rubiaceae สำรวจพบครั้งแรกโดย หมอคาร์ ชาวไอริช เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2467 ที่จังหวัดมุกดาหาร ในระดับความสูง 100 เมตร มีรายงานการตั้งชื่อในปี พ.ศ.2471

ลักษณะเด่นเฉพาะตัว

ลักษณะเด่นเฉพาะตัวของพุดผา(ปัดหิน) คือ เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ตามซอกบนลานหินทราย หรือตามพื้นทรายบนลานหินทรายที่แห้งแล้ง กลางแจ้งแดดจัด จึงสามารถทนแล้งได้ดี เติบโตช้า ทรงพุ่มโปร่ง ออกดอกดก 

ดอกพุดผา ดอกมีกลิ่นหอมแรง จึงนิยมปลูกเป็นไม้แคระหรือบอนไซ รูปทรงค่อนข้างคงที่ จึงสามารถปลูกในกระถางได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนกระถางบ่อย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นพุดผา (ปัดหิน) มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ผลัดใบ เจริญเติบโตช้ามาก มีความสูง 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับ กว้าง 1.8–2 ซม. ยาว 1.5–3 ซม. ปลายใบโค้งมนกลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ผิวใบมีขน คายสากมือ

ดอกพุดผา (ปัดหิน) มักออกเดี่ยว ๆ ดอกสีขาวนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 6 แฉก สีเขียว มีขนปกคลุม 

 กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปทรงกระบอกแคบ ปลายแยกเป็น 6 แฉก กลีบดอกรูปไข่กลับหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยมกลับหัว ปลายมนหรือตัด กลีบดอกสีขาว มีขนขนาดเล็กปกคลุม

เกสรเพศผู้ มี 6 อัน ลักษณะเป็นแผ่นเรียว ส่วนโคนติดอยู่ด้านในของหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปเกือบกลม มี 2 ห้อง 

ผลแบบคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงกลม มักมีเมล็ดเดียว ผลกลมสีเขียวสดเมื่อผลสุกสีส้ม ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคม–พฤษภาคม

อ้างอิง

  1. หนังสือเผยแพร่; พืชที่ถูกคุกคามในป่าภูวัว-ภูลังกา สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2558
  2. พรรณไม้ถิ่นเดียว: การอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ โดย ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น, จิรพันธ์ ศรีทองกุล, อนันต์ พิริยะภัทรกิจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2551.

รายละเอียดเพิ่มเติม