ต้นพุดภูเก็ต ดอกพุดพันธุ์พื้นเมืองไทย ดอกหอมแรง ลักษณะ ออกดอกช่วงเดือนไหน?
"พุดภูเก็ต" มีชื่ออื่นเป็นชื่อท้องถิ่นอีกว่า คำมอกสงขลา, พุดป่า, รักนา เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของไทย มีกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา ตรังและสตูล ชอบขึ้นใกล้ชายทะเล
พุดภูเก็ต
พุดภูเก็ต เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยในวงศ์ดอกพุด Rubiaceae ที่มีความโดดเด่นที่น่าสนใจ คือ เป็นพรรณไม้ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อความแห้งแล้ง ยืนต้นได้แม้จะมีน้ำและอาหารเพียงน้อยนิด ซ้ำยังทนทานต่อลมทะเลในช่วงฤดูมรสุมเช่นเดียวกับไม้ป่าอื่นๆ คนทั่วไปจึงเรียกพุดชนิดนี้ว่า "พุดป่า"
พุดภูเก็ต มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia thailandica Tirveng. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae (คำระบุชนิดว่า 'thailandica' หมายถึง พบในประเทศไทย) ชื่อสามัญ Phuket Gardenia มีชื่อพื้นเมืองเป็นชื่ออื่นว่า พุดป่า, รักนา, คำมอกสงขลา
พุดภูเก็ต ถูกจัดให้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย คือในโลกนี้จะพบได้ในประเทศไทยเท่านั้น โดยที่ ดร.ชวลิต นิยมธรรม สำรวจพบเป็นครั้งแรกที่อำเภอกระทู้ ในจังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2525 พบในบริเวณป่าละเมาะเนินเขาชายทะเลที่ระดับความสูง 30 ม. และมีรายงานการตั้งชื่อในปี 2526
ปัจจุบันพุดภูเก็ตมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงระดับ 150 ม. พบมากในจังหวัดภูเก็ต และพบบ้างประปรายในเกาะตะรุเตา และบางเกาะของจังหวัดพังงา
ผู้ที่ไปเยือนจุดชมวิวบนหาดกะตะของจังหวัดภูเก็ตในเดือนเมษายน จะชื่นชมต้นพุดภูเก็ตที่ออกดอกดกเต็มต้น ทั้งสีขาว สีเหลือง พร้อมทั้งส่งกลิ่นหอมไปไกล
ธรรมชาตินั้นน่ามหัศจรรย์ ที่สามารถเสกสรรค์พลันบังเกิดความงดงามขึ้นได้ทุกถิ่นที่บนโลก ไม่ว่าดินแดนนั้นจะอุดมสมบูรณ์ หรือจะแห้งแล้งเพียงใด แม้จะเป็นป่าดิบแล้งมีความชุ่มชื้นต่ำ หรือบนเนินเขา ชายทะเลที่แสนกันดาร ธรรมชาติก็ยังให้กำเนิด "พุดภูเก็ต"
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนอันยาวนาน พุดภูเก็ตจะแสดงคุณสมบัติอันโดดเด่น ด้วยการไม่ยอมแพ้ต่อสภาพอากาศที่ทั้งร้อนและแห้งแล้งทารุณ ด้วยการปลิดใบทิ้งหมดทั้งต้น คงเหลือไว้ก็แต่กิ่งก้านสาขาและออกดอกผลิบานเต็มต้นแทนที่ ดอกพุดภูเก็ตนี้มีกลิ่นหอมและมีช่อดอกสีเหลืองเข้มสวยงามมาก
ใครที่ต้องการสัมผัสกับความงามของพรรณไม้ชนิดนี้ ควรเดินทางไปเยือนจุดชมวิวหาดกะตะ ในจังหวัดภูเก็ตช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่พุดภูเก็ตออกดอกสีเหลืองสดใสพราวไสวไปทั้งต้นนับพันนับหมื่นดอก อีกทั้งยังส่งกลิ่นหอมจรุงอบอวลไปทั่วบริเวณ เป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น
ด้วยความที่พุดภูเก็ตเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว หายากในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ แต่มีดอกดก สวยงามมาก จึงมีความพยายามที่จะนำมาขยายพันธุ์ และได้พบว่าสามารถใช้วิธีเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำได้ผลดี จึงได้รับความนิยมปลูกดอกพุดกันอย่างแพร่หลาย และพ้นสภาพจากการเป็นพรรณไม้หายากแล้ว
ลักษณะพรรณไม้ของพุดภูเก็ต
ต้นพุดภูเก็ต มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-6 ม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาล แตกกิ่งน้อย ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบเดี่ยว มักจะมีใบเฉพาะปลายกิ่ง ใบรูปไข่กลับหรือใบหอก กว้าง 5-8 ซม. ยาว 15-30 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบบาง ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า และสากคาย
ดอกพุดภูเก็ต ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 เซนติเมตร
เมื่อเริ่มแย้มสีขาวนวล ส่งกลิ่นหอม ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหลืองเข้ม ดอกบานวันเดียวแล้วโรย ทยอยออกดอกได้ตลอดปี และออกดอกดกในช่วงฤดูร้อน เดือนเมษายน
ผลพุดภูเก็ต มีลักษณะผลกลมรี สีเขียวสด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 ซม. ยาว 3-4 ซม. มีครีบตามแนวยาวของผลเป็น 5 สัน ลักษณะเมล็ด กลมรี สีน้ำตาลอ่อน ขนาด 3-5 มม.
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์พุดภูเก็ต สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และปักชำ