✓ต้นไม้: 'ปาหนันขี้แมว' ไม้ดอกหอมไทย ประโยชน์ สรรพคุณ?
"ปาหนันขี้แมว" เป็นพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ก็เป็นพรรณไม้ดอกหอมของไทยอีกชนิดหนึ่ง ที่กำลังได้รับความสนใจในวงการเภสัชศาสตร์ไทย
ปาหนันขี้แมว
ปาหนันขี้แมว มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Goniothalamus tenuifolius King วงศ์กระดังงา Annonaceae พรรณไม้ดอกหอมของไทย
ภาพ* : Marty Siamocananga
จากการวิจัยขณะนี้ค้นคว้าพบว่า ดอกปาหนันขี้แมวมีสารต้านเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดไข้มาลาเรียได้ ส่วนใบนั้นพบว่ามีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ ตัวการที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ผลิตผลจากธรรมชาติส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เอื้อ คุณประโยชน์ให้แก่สิ่งมีชีวิต ด้วยเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่พักพิงอยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมอบความร่มรื่นเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนกายและใจ รวมทั้งใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ของคนเราอีกด้วย
ซึ่งหากได้รับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็มีความหวังว่า ในไม่ช้าวงการการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย อาจจะมีสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาโรคเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่งในทำเนียบยาสมุนไพรของไทย
ปาหนันขี้แมวเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่มีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ตอนล่าง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง ที่ระดับความสูง 200-400 ม. และนอกจากดอกและใบที่มีสรรพคุณทางยาแล้ว ผลสุกของปาหนันขี้แมว ก็ยังเป็นอาหารของสัตว์ป่าได้
ส่วนในกลุ่มคนที่นิยมไม้แปลกก็มีการนำมาปลูกเป็นไม้สะสม โดยพืชชนิดนี้มีการตั้งชื่อตามกลิ่นของดอกที่คล้ายกับขี้แมว แม้จะไม่ใช่ไม้ดอกที่มีดอกสวยงามเมื่อเทียบกับปาหนันชนิดอื่นๆ
แต่ด้วยคุณประโยชน์ของพรรณไม้ชนิดนี้ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะใช้เป็นเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านเภสัชศาสตร์ในอนาคต
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นปาหนันขี้แมว มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4-6 ม. เปลือกลำต้น เรียบ สีน้ำตาลอมดำ เปลือกค่อนข้างหนา เหนียว มีกลิ่นฉุน แตกกิ่งน้อย มีใบเฉพาะส่วนปลายกิ่ง
ใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 3-5 ซม. ยาว 10-16 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบหนาและเหนียว ใบสีเขียวเข้มเป็นมันทั้งสองด้าน
ดอกปาหนันขี้แมว ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบตามกิ่ง ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกรูปไข่ กว้างและยาว 5-8 มม.
กลางกลีบด้านนอกเป็นสันนูน กลีบดอกเรียงเป็น 2 ชั้น กลีบชั้นนอกหนารูปไข่ โคนกลีบคอด ปลายกลีบมน มีสันกลางกลีบตามยาวด้านนอกนูนเด่น ขอบกลีบโค้งออกด้านนอก ขอบกลีบดอกชั้นในประกบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยม ปลายแหลม
ผลปาหนันขี้แมว มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 25-40 ผล ผลรูปกลมรี เปลือกเรียบ ยาว 1-1.2 ซม. เมื่อแก่สีส้มมี 1 เมล็ด ลักษณะเมล็ด รูปรี ยาว 1 ซม. มีเมือกแข็งสีขาวหุ้มอยู่
การขยายพันธุ์ปาหนันขี้แมว สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด และมีปลูกอยู่ในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบสะสมพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา
ที่มา : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2552