Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นมะละกอฮอลแลนด์ ลักษณะเด่น วิธีปลูกดูแล กำจัดศัตรูพืช โรคมะละกอ เมล็ดพันธุ์?

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะละกอทั้งหมดประมาณ 14,344 ไร่ โดยมีการปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ประมาณร้อยละ 8 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปแบบของมะละกอบริโภคสุก 

มะละกอฮอลแลนด์

ในปัจจุบันมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมะละกอสุก เป็นส่วนใหญ่ โดยมะละกอพันธุ์นี้สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อต้น ราคาขายปลีก 20-30 บาทต่อกิโลกรัมทำให้มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นพืชทางเลือกใหม่อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจของเกษตรกรในปัจจุบัน

ลักษณะเด่น มะละกอฮอลแลนด์

มะละกอฮอลแลนด์

มะละกอฮอลแลนด์ เป็นมะละกอที่มีลำต้นใหญ่และก้านใบมีสีเขียว ออกดอกเป็นช่อ ติดผลดก ผลเป็นทรงกระบอก ปลายทู่ ผิวเรียบ อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือนหลังปลูก เนื้อสีส้มแดงเมื่อสุก ไม่เละเนื้อหนา น้ำหนักผล ประมาณ 0.7-2.0 กิโลกรัมต่อผล นิยมบริโภคสุก

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะเด่นของมะละกอฮอลแลนด์

ไม่มีกลิ่นยาง เนื้อหนา รสหวาน เปลือกหนา ผลดก ทนทานต่อโรคแมลง ตลอดจนทนทานต่อสภาพการขนส่ง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกมะละกอฮอลแลนด์

ต้นมะละกอฮอลแลนด์ สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่น้ำขัง ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินเหนียวปนทราย ความเป็นกรดด่าง 5.5-5.0 กรณีพื้นที่ชื้นแฉะควรยกร่องปลูก ระยะปลูก 2.5 x 3 เมตร 1 ไร่จะสามารถปลูกได้ 224 ต้น 

ส่วนสภาพแวดล้อมพบว่า ถ้าอากาศร้อนจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนดอกกระเทยให้กลายเป็นดอกตัวเมีย แต่ถ้าอากาศร้อนมากจะทำให้มะละกอไม่ติดดอก จึงควรให้ความขึ้นกับมะละกออย่างเพียงพอในช่วงที่มีอากาศร้อน 

นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยการปลูกพืชเป็นแนวกันลม พืชร่มเงา และพืชพี่เลี้ยงที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดโรคในมะละกอได้อีกทางหนึ่ง

วิธีการปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์

เกษตรกรควรเลือกกล้าพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์ที่มาจากแหล่งขยายพันธุ์ที่เชื่อถือได้ โดยจะต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการระบาดของโรคและแมลง โดยเฉพาะโรคไวรัสจุดด่างวงแหวน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เหมาะสม โดยการปลูกพืชแนวกันลม พืชร่มเงา หรือพืชพี่เลี้ยง 

ควรมีการจัดการภายในสวนและดูแลมะละกอ ด้วยการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟและไรแดงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นพันธุ์มะละกอแข็งแรงและสามารถให้ผลผลิตได้ในปริมาณมากอีกทั้งยังมีคุณภาพผลที่ดีซึ่งมีวิธีการปลูกและการดูแลดังนี้

1. การเพาะเมล็ดมะละกอฮอลแลนด์

ขั้นตอนแรกเกษตรกรเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์ โดยใช้อัตราส่วนระหว่าง ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีต่อแกลบดำ ในอัตราส่วน 51 หรือ ดินปลูกต่อแกลบดำ ต่อ ดินทราย ต่อปุ๋ยคอกจากมูลวัวในอัตราส่วน 3:3:2:2 เพาะใส่ถุงหรือกระบะเพาะกล้า 3-5 เมล็ดต่อถุง

แล้วคลุมถุงเพาะกล้าด้วยผ้าบางแล้วรดน้ำพอให้ดินชุ่มวันละ 1-3 ครั้ง โดยการเพาะต้นกล้ามะละกอแบบนี้ควรอยู่ใต้หลังคาพลาสติกใสหรือแสลน เพื่อป้องกันฝนและแสงแดดที่มากเกินไป ปรกติหลังเพาะกล้าไม่เกิน 15 วันเมล็ดจะงอก จึงเปิดผ้าคลุมออก

และดูแลต้นกล้าจนกระทั้งมีใบจริง ประมาณ 5-6 ใบ หรือกล้ามะละกอมีอายุ 30-60 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลง

2. การเตรียมดินและการปลูกมะละกอฮอลแลนด์

เริ่มจากการเตรียมดิน โดยการไถตากแดดทิ้งจนแห้ง ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน แล้วจึงไถพรวนย่อยดิน จากนั้นยกร่องแปลงให้มีขนาดกว้าง 1.5 เมตร สูง 50 เซนติเมตร แล้วขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร

โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้น 3 x 3 เมตร (ไร่ละ 177 ต้น)ถ้าระยะระหว่างต้น 2.5 x 2.5 เมตร (ไร่ละ 256 ต้น) การปลูกมะละกอในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชอื่นแซมด้วย พบว่าระยะปลูกมะละกอจะไม่มีระยะที่แน่นอนขึ้นอยู่กับแปลงของพืชหลักชนิดนั้น 

 หรือตามความเหมาะสมอายุกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูก 30-60 วัน โดยเฉลี่ยจะปลูกมะละกอ 3 ต้นต่อหลุมและก่อนการย้ายปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ใบไม้ผุ และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต (0-3-0) แล้วจึงกลบดินลงหลุม

3. การคัดเพศดอกมะละกอฮอลแลนด์

หลังจากที่มะละกอปลูกลงแปลงประมาณ 3-4 เดือน มะละกอจะเริ่มออกดอก ให้ทำการตัดต้นที่เป็นดอกตัวผู้และตัวเมียทิ้ง เหลือไว้เพียงต้นมะละกอที่ที่มีดอกสมบูรณ์เพศ(ต้นกระเทย)ไว้ 1 ต้นต่อหลุม เพื่อให้ได้มะละกอที่มีผลยาว โดยสามารถสังเกตลักษณะของดอกมะละกอได้ คือ 

ดอกตัวผู้ จะเกิดเป็นช่อ มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 25-75 เซนติเมตร ดอกประกอบด้วยกลีบดอกเชื่อมติดกันตั้งแต่โคนดอกเป็นท่อยาวส่วนปลายดอกแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน 

 ส่วนของเกสรตัวเมียจะลดรูปลงจึงไม่สามารถเจริญเป็นผลได้ 2 ดอกตัวเมีย ประกอบด้วยกลีบ 5 กลีบ แยกออกจากกันตั้งแต่โคนดอก มีเกสรตัวเมีย 5 อัน ไม่มีส่วนของเกสรตัวผู้อยู่เลย

ดอกสมบูรณ์เพศ (ดอกกระเทย) เป็นทรงกระบอกยาว มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน กลีบดอกเชื่อมติดกัน 3 ใน 4 ของความยาวกลีบดอก ส่วนปลายแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน และมีเกสรตัวเมีย 5 ช่องรังไข่

4. การให้ปุ๋ย สำหรับต้นมะละกอฮอลแลนด์

เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังย้ายกล้าแล้ว 1 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะต่อต้นร่วมกับปุ๋ยคอกและปุ๋ยน้ำหมัก โดยใส่ 1 ครั้งต่อเดือน เมื่อมะละกอเจริญเติบโตอยู่ในช่วงให้ผลผลิต จะเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 13-3-21 อัตรา 1-2 ช้อนโต๊ะต่อต้น ถ้าพบว่ามีต้นที่แสดงอาการขาดธาตุอาหารจะใช้ปุ๋ยเกร็ดฉีดพ่นทางใบร่วมกับใช้ปุ๋ยคอกและปุยน้ำหนักประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน

5. การให้น้ำ สำหรับต้นมะละกอฮอลแลนด์

การให้น้ำสำหรับต้นมะละกอฮอลแลนด์ควรเป็นระบบมินิสปริงเกอร์ จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดโรคทางใบของมะละกอได้ เนื่องจากการกระจายน้ำจะอยู่บริเวณใต้ต้นเท่านั้น โดยให้น้ำ 1 ครั้งต่อวันหรือสังเกตดูว่ามะละกอเริ่มขาดน้ำ จึงให้น้ำเป็นเวลา 15-30 นาทีต่อครั้ง 

ในช่วงฤดูแล้งจะให้น้ำถี่ขึ้น เพื่อช่วยให้มะละกอสามารถติดผลได้ดี ดังนั้น ถ้าต้องการให้มะละกอมีผลผลิตตลอดปีต้องมีแหล่งน้ำเพื่อใช้เพาะปลูกอยู่ใกล้แปลงมะละกอ และมีเพียงพอตลอดฤดูการปลูก 

 สำหรับฤดูฝนการให้น้ำในแปลงมะละกอจะลดลงหรืองดการให้น้ำ เนื่องจากมะละกอไม่ชอบสภาพน้ำขังแปลง ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดโรครากเน่าตามมา

6. การกำจัดวัชพืช

ควรใช้วิธีการถอนวัชพืชรอบโคนต้นและตัดรอบๆแปลงให้เตียนโล่ง หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในแปลงมะละกอควรทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้นมะละกอจะเติบโตผิดปกติ ถ้าได้รับสารกำจัดวัชพืช 

 ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีในมะละกอต้นเล็ก จะใช้ถุงพลาสติกคลุมต้นแล้วจึงพ่นยา ในมะละกอต้นโตจะพ่นยารอบแปลงปลูกหรือในร่องแปลงเท่านั้น ส่วนรอบโคนต้นจะใช้วิธีถากหญ้า

7. โรคใบด่างวงแหวน

โรคใบด่างวงแหวน เป็นปัญหาหลักในการปลูกมะละกอที่ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมากและไม่ได้คุณภาพ โดยจะเข้าทำลายมะละกอในทุกระยะการเจริญเติบโต อาการที่แสดงออกที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ใบด่างเหลือง บิดเบี้ยวหงิกงอ และเรียวเล็ก 

 อาการที่พบบนลำต้นและก้านใบจะพบลักษณะที่จุด หรือรอยช้ำเป็นทางยาว ส่วนอาการบนผลจะเป็นจุดคล้ายวงแหวนทั่วทั้งผล เนื้อส่วนที่เป็นจุดมักจะเป็นไตแข็ง มีรสขม 

วิธีการป้องกัน ไม่ควรใช้กล้าพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์มาจากแหล่งที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสชนิดนี้ การจัดการภายในสวนโดยการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง ซึ่งเป็นพาหะของไวรัส รวมทั้งการปลูกพืชแซมเช่น กล้วยน้ำว้า ระหว่างแถวของมะละกอสามารถช่วยลดอัตราการติดไวรัสชนิดนี้ได้

โรคอีกชนิดที่พบ คือ โรคแอนแทรคโนส พบในใบมะละกอแสดงอาการจุดเล็กๆ สีเทาบนใบ ต่อมาขยายตัวเล็กน้อยและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเนื้อเยื่อกลางจุดซีดจางฉีกขาดเป็นรู ส่วนผลมะละกอสามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต แต่พบมากกับผลมะละกอที่แก่และสุกเป็นจุดสีน้ำตาลปุ่มบริเวณกันผลและบนผล 

โดยสามารถแพร่ระบาดโดยทางลมเข้าทำลายผลมะละกอในระยะที่อ่อนแอ เช่น ในระยะช่อดอกและผลอ่อน เมื่อสภาพความชื้นสูงในฤดูฝนทำให้ดอกและผลอ่อนเน่าแห้งมีคราบสปอร์สีส้มปกคลุม แต่เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเชื้อราพักตัวที่ผิวผล เมื่อผลมะละกอสุก เชื้อจะทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลกระจัดกระจายบนผิวผล

วิธีการป้องกัน รวมใบแห้งและเศษพืชเผาทำลายฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดดูดซึม ได้แก่ แมนโคแซปสลับกับคาร์เบนดาซิลหรือเบนโนมิล เป็นระยะๆ ตั้งแต่ระยะช่อดอก

นอกจากนี้ โรครากเน่าและโคนเน่า ก็พบได้บ่อยในมะละกอ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา โดยมะละกอจะแสดงอาการใบเดี่ยวเหลืองและแห้งตายอย่างรวดเร็ว โคนต้นจะเน่าเนื้อเยื่อเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลชุ่มน้ำ

วิธีการป้องกัน ใช้วิธีเพิ่มจุลินทรีย์ในดินหลุมปลูกโดยการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อช่วยป้องกันกำจัดเชื้อราด้วยชีววิธีลดสภาพความเป็นกรดของดินโดยการใส่ปูนขาว จัดการระบบระบายน้ำในแปลงไม่ให้มีน้ำขังและทำให้ดินร่วนซุย

8. แมลงศัตรูพืช

แมลงที่เข้าทำลายมะละกอที่พบ ได้แก่ เพลี้ยหอย ส่วนมากจะเป็นเฉพาะต้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัด ส่วนใหญ่เกษตรกรจะตัดต้นที่ถูกเพลี้ยหอยเข้าทำลายทิ้ง หรือ นำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก 

นอกจากนี้ ยังมีหอยทากพบการระบาดค่อนข้างมาก การกำจัดเป็นไปได้ยาก ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดเท่านั้น ส่วนมากพบบนต้นมะละกอ กัดกินใบอ่อนและดอก ทำให้ไม่ได้ผลผลิตในบางส่วน

9. การเก็บเกี่ยว ผลมะละกอฮอลแลนด์

เมื่อมะละกออายุ 6-8 เดือนหลังย้ายปลูกลงแปลง โดยดูผลที่เริ่มเปลี่ยนสีจะมีพื้นผิวสีเขียวเข้มและจะมีสีเหลืองอ่อนๆ บริเวณสันทางด้านปลายผล ประมาณ 2-3 แต้ม เกษตรกรสามารถเก็บได้ประมาณต้นละ 100 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี 

ถ้าไม่มีการระบาดของโรคใบด่างวงแหวน สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 ปี หลังจากเก็บเกี่ยวสามารถเก็บไว้ได้นาน 7 วัน

10. การปฏิบัติภายหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก

ทำการเก็บเกี่ยวนำผลมะละกอใส่ภาชนะแล้วลำเลียงไปยังแหล่งคัดบรรจุ ต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลหรือกระทบกระแทก โดยคัดเอาผลเสียหรือผิดปรกติที่ไม่ได้ขนาด และมีตำหนิออก 

ทำความสะอาดผลใส่โฟมหุ้มผลเพื่อป้องกันผลมะละกอ ตรวจสอบคุณภาพครั้งสุดท้าย ก่อนจะบรรจุผลตั้งในกล่องกระดาษ โดยให้ด้านขั้วลงแล้วปิดฝากล่องนำเข้าเก็บรักษาในอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เพื่อรอการขนส่งต่อไป

มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ นอกจากใช้เพื่อการบริโภคผลสุก แล้วยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ ได้แก่ มะละกออบแห้ง แยมมะละกอ น้ำมะละกอ มะละกอหั่นชิ้นในน้ำเชื่อม เป็นต้น

อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

รายละเอียดเพิ่มเติม