Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: เข็มอัปสร เข็มป่าพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของไทย ไม้หายาก?

"เข็มอัปสร" คือเข็มป่าอีกชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งจัดเป็นเข็มป่าหายาก เพราะเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย คือพบได้เฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราดเท่านั้น เป็นดอกเข็มที่น่าสนใจมากๆ เป็นไม้พุ่ม ใบสวย ดอกสีขาวอมชมพูระเรื่อ สวยหวาน และดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลิ่นหอมชื่นใจอีกด้วย

ต้นเข็มอัปสร

เข็มอัปสร เข็มป่าดอกสีขาว เข็มขาวป่า ดอกหอม ไม้ถิ่นเดียวของไทย หายาก

ต้นเข็มอัปสรในธรรมชาติ เริ่มหายากมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากชาวบ้าน ชาวสวนในพื้นที่ถิ่นอาศัย อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นเข็มขาวที่พบเห็นได้ทั่วไป จึงไม่ได้สนใจอะไรมากมาย ตัดถางไถทำลายทิ้งไป

รายละเอียดเพิ่มเติม

ก็ยิ่งทำให้ต้นเข็มอัปสรถูกคุกคามอย่างหนักในถิ่นอาศัยเดิม เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำสวนยาง สวนผลไม้ แหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ท หรือที่พักอาศัย จึงยิ่งทำให้เข็มอัปสรยิ่งหายากมากขึ้นทุกวัน จนอาจไม่พบในถิ่นอาศัยดั้งเดิมที่เคยมี

ลักษณะพรรณไม้ของเข็มอัปสร

ต้นเข็มอัปสร มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-2 ม. หูใบมีขน ปลายมีรยางค์แข็ง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาว 10-20 ซม. ก้านใบหนา ยาว 0.8-1.2 ซม. 

ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อเชิงลั่น ออกตามปลายกิ่งสั้น ๆ ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 2-3 มม. มีขนหยาบหนาแน่น กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-6 มม. หลอดกลีบดอกยาว 2.3-2.5 ซม. กลีบยาว 5-6 มม. อับเรณูยาวประมาณ 4 มม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียยาว 4-8 มม. ผลจัก 2 พูตื้น ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 มม.

เข็มอัปสร เป็นเข็มป่าหายากของไทย ขึ้นกระจายห่าง ๆ ตามป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่งทะเล เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ที่พบเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราดเท่านั้น

ซึ่งมีรายงานพบในหมู่เกาะมัน จังหวัดระยอง อ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี และเกาะช้าง จังหวัดตราด เข็มอัปสร ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Ixora dolichophylla K. Schum. จัดอยู่ในวงศ์ Rubiaceae

ดอกเข็มอัปสร ดอกเข็มป่าของไทย
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ดอกเข็มอัปสร ดอกสีขาว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดูเผินๆแล้วอาจมีลักษณะดอกดูคล้ายดอกเข็มหอม หรือ ดอกเข็มพวงขาวหอม ที่เห็นนิยมปลูกประดับบ้านกันทั่วไป ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน เหมือนเป็นพี่น้องฝาแฝดกัน

แต่จริง ๆ แล้วเป็นคนละชนิดกัน ความแตกต่างกันคือ ดอกเข็มอัปสร เมื่อดอกตูม ที่ปลายดอกจะมีแต้มสีชมพูอ่อนๆ เมื่อดอกบาน ดอกสีขาว ปลายกลีบดอกสีขาวอมชมพูระเรื่อย ดอกหอมอ่อนๆ (กลิ่นหอมอ่อนกว่า ดอกเข็มพวงขาวหอม) และใบเข็มอัปสร ใบแคบกว่า ใบรูปหอกกลับ โคนใบสอบ ใต้ใบมีขน แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม

ต้นเข็มอัปสร เป็นไม้พุ่มที่มีทรงฟอร์มพุ่มสวย โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบมาก ๆ ครับ ผมมีความเห็นว่า เข็มอัปสร มีศักยภาพเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้สบายๆเลยครับ

เพราะมีชื่อไพเราะและความหมายดี เป็นมงคล และยังเป็นไม้หายาก เฉพาะถิ่นของไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และที่สำคัญคือ ต้นเข็มอัปสร ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย

วิธีการปลูกต้นเข็มอัปสร สามารถปลูกในกระถางก็ออกดอกได้ ชอบแสงแดดรำไรหรือแสงแดดครึ่งวันเช้าก็ได้ จึงนำมาปลูกใส่กระถางวางไว้ชื่นชมดมกลิ่นใกล้ ๆ บ้านได้

ซึ่งแตกต่างจากเข็มพวงขาวหอม ที่ชอบแสงแดดมากกว่า เรื่องกลิ่นหอมและความดกของดอก เข็มอัปสรอาจจะสู้ดอกเข็มพวงขาวหอมไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องความสวยงาม อ่อนหวาน ดอกเข็มอัปสรมีเสน่ห์ ที่น่าหลงใหลได้ไม่แพ้กันเลยครับ

อ้างอิง

  • หมายเหตุนิเวศวิทยา ปีที่1 ฉบับที่2 เมษายน-มิถุนายน 2550 โดย ปิยะ เฉลิมกลิ่น, พัชรินทร์ เก่งกาจ และ จิรพันธ์ ศรีทองกุล ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
  • กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รายละเอียดเพิ่มเติม