✓ต้นไม้: เข็มภูลังกา (เข็มก้นปิด,เข็มดง) เข็มดอกหอมของไทย?
เข็มภูลังกา หรือ เข็มก้นปิด หรือ เข็มดง คือเข็มชนิดใหม่ของโลก และยังเป็นไม้ถิ่นเดียวของไทย คือในโลกนี้จะพบเข็มภูลังกาได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
เข็มภูลังกา (เข็มก้นปิด, เข็มดง)
เข็มภูลังกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ixora phulangkaensis Chamch.
จัดอยู่ในวงศ์ Rubiaceae (ชื่อสกุล Ixora มาจากภาษาสันสกฤต “Iswari” ชื่อของพระแม่อุมาเทวี (ปารวตี) เทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมี พระชายาองค์ที่สองของ พระศิวะ ที่ชาวอินเดียใช้ดอกเข็มแดงเพื่อบูชา
คำระบุชนิด 'phulangkaensis' อ่านว่า ภูลังกา-เอนสิส หมายถึง พบที่ภูลังกา ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามสถานที่พบครั้งแรก)
เข็มภูลังกา เป็นเข็มหายาก อยู่ในสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องจาก ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม เป็นดอกเข็มที่สวยงาม ช่อห้อยลง ดอกสีขาวอมชมพู ดอกมีกลิ่นหอม มีศักยภาพเป็นไม้ประดับ
ต้นเข็มภูลังกา มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีความสูงได้ถึง 3 เมตร ก้านใบเกลี้ยง ยาว 1-2 มม. ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 2-3.5(-4) ซม. ยาว 5-15(-18) ซม. โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยง เส้นใบข้างละ 6-8 เส้น หูใบยาว 3-5 มม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม ติ่งหูใบ ยาว 2-3 มม.
ดอกเข็มภูลังกา ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกแบบช่อกระจุกประกอบ ช่อห้อยลง ใบประดับรองรับช่อดอกกว้างประมาณ 3.5 ซม. ยาว 10-12 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-5 มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก ยาว 2-4 มม. กลีบดอกสีขาวอมชมพู ดอกมีกลิ่นหอม
กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดกลีบดอกยาว 25-35 มม. แฉกกลีบดอกรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง 2-2.2 มม. ยาว 6-7 มม. โคนกลีบดอกมีขนสั้น อับเรณูสีเหลือง ยอดเกสรเพศเมียสีชมพูเข้ม ผลแบบผนังผลชั้นในแข็ง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 มม. เมื่อผลสุกสีแดงและเมื่อผลแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ
ต้นเข็มภูลังกา เป็นเข็มป่าพื้นเมืองของไทย ซึ่งจัดว่าเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย คือในโลกนี้จะพบได้ในประเทศไทยเท่านั้น มีการกระจายพันธุ์ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เลย บึงกาฬ นครพนม)
พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ และอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม ซึ่งนิเวศวิทยาในประเทศไทยพบขึ้นริมลำธารในป่าดิบแล้ง หรือตามชายเขาหินปูน ที่ความสูงจากระดับทะเล 100–600 ม.ออกดอกและเป็นผล ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน
สถานภาพและปัจจัยคุกคาม พืชถิ่นเดียวของไทย (Chamchumroon, 2014); ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม การประเมินสถานภาพตามเกณฑ์ IUCN (2001) ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)
อ้างอิง: หนังสือเผยแพร่; พรรณไม้สำคัญในระบบนิเวศเขาหินปูน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว โดย กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561