เล็งเก็ง (ยี่หุบเบตง) แมกโนเลียของไทย ไม้ดอกหอม ลักษณะเด่น วิธีขยายพันธุ์?
ชื่อว่า "เล็งเก็ง" ก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความเป็นพรรณไม้พื้นถิ่นของปักษ์ใต้ เนื่องจากคำนี้เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมชายแดนไทย-มาเลเซียใช้เรียกพรรณไม้ชนิดหนึ่งในวงศ์จำปา ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ในจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสไปจนถึงตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ...
เล็งเก็ง ยี่หุบเบตง
เล็งเก็ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia betongensis (Craib) H.Keng วงศ์จำปี Magnoliaceae
Synonyms
- Lirianthe liliifera var. obovata (Korth.) Sima & S.G.Lu
- Magnolia candollei var. obovata (Korth.) Noot.
- Magnolia liliifera var. obovata (Korth.) Govaerts
- Talauma betongensis Craib
- Talauma levissima Dandy
- Talauma oblanceolata Ridl.
- Talauma obovata Korth.
- Talauma sclerophylla Dandy
ภาพ : องค์การสวนพฤกษศาสตร์
เล็งเก็ง (ยี่หุบเบตง) เป็นพรรณไม้ที่มีความใกล้ชิดกับมณฑาป่าและมณฑาดอย ด้วยมีลักษณะของดอกคล้ายคลึงกัน วิธีสังเกตความแตกต่างให้ดูที่กลีบดอกชั้นนอก ซึ่งหากเป็นเล็งเก็งกลีบดอกจะบางกว่าและมีสีเขียวอ่อน
ขณะที่มณฑาป่าและมณฑาดอยกลีบดอกชั้นนอกมีสีม่วงแดง และหากสังเกตที่ใบจะพบว่า ปลายใบของเล็งเก็งเป็นรูปไข่กลับ ส่วนปลายใบของมณฑาป่าและมณฑาดอยจะเรียวแหลม
เล็งเก็งเป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่ชอบอากาศร้อนชื้น ทรงพุ่มสวยงาม มีดอกขนาดใหญ่ และส่งกลิ่นหอมแรง โดยจะเริ่มส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ดอกแรกแย้มในช่วงพลบค่ำ และสามารถส่งกลิ่นหอมไปไกลแม้กลีบดอกจะร่วงลงสู่โคนต้นจนหมดแล้ว จึงเหมาะแก่การปลูกเป็นไม้ประดับ
แต่ด้วยข้อจำกัดที่เล็งเก็งเป็นพรรณไม้หายากเพราะมีการกระจายพันธุ์ต่ำ อันเนื่องมาจากขณะที่เป็นผลอ่อนจะมีผีเสื้อกลางคืนเจาะผลเข้าไปวางไข่ในเมล็ดอ่อน
เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนก็จะกัดกินเมล็ดอ่อนจนเมล็ดเสียหายเกือบทั้งหมด ไม่มีเมล็ดแก่ที่สมบูรณ์พอจะงอกเป็นต้นใหม่ได้ เป็นเหตุให้เล็งเก็งมีจำนวนต้นอยู่ในถิ่นกำเนิดน้อยมาก จนมีสภาพเป็นพรรณไม้หายาก ใกล้จะสูญพันธุ์
ด้วยความมุ่งมั่นพยายามที่จะขยายพันธุ์เล็งเก็ง ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นักวิจัยจึงได้เฝ้าเก็บผลแก่ของเล็งเก็งนำมาขยายพันธุ์เพาะเป็นต้นกล้า แล้วนำออกไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นคล้ายคลึงกับแหล่งกำเนิดเดิม
ประกอบกับการที่เล็งเก็งเป็นพรรณไม้ที่มีดอกหอมและสวยงาม จึงได้รับความนิยมปลูกเป็นไม้ดอกหอม จนมีจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้นและพ้นสภาพจากการเป็นพรรณไม้หายากแล้ว ถึงแม้ว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นๆ จะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
ลักษณะพรรณไม้ของเล็งเก็ง (ยี่หุบเบตง)
ต้นเล็งเก็ง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 6-10 ม. ทรงพุ่มกลมโปร่ง เปลือกลำต้นหนาและมีกลิ่นฉุน กิ่งก้านเหนียวมาก ใบเล็งเก็งมีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนรอบกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 10-12 ซม. ยาว 24-35 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาแข็งกรอบ
ดอกเล็งเก็ง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด ดอกสีขาว ดอกบานตั้งขึ้น บานอยู่ได้ 2-3 วัน มีกลิ่นหอมแรง เริ่มส่งกลิ่นหอมแรงตั้งแต่ดอกแรกแย้มในช่วงพลบค่ำ
ดอกมีกลีบดอก 9 กลีบ เรียบเป็น 3 ชั้น กลีบหนาแข็ง อวบน้ำ กลีบชั้นนอกสีเขียวอ่อนรูปไข่ กลีบชั้นกลางและชั้นในหนาสีขาวนวล รูปไข่กลับ เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 ซม.
ผลเล็งเก็ง มีลักษณะเป็นผลกลมรี กว้าง 5-7 ซม. ยาว 8-10 ซม. มีผลย่อย 70-80 ผล เปลือกผลย่อยหนาและแข็งเชื่อมติดกัน
เมื่อผลแก่ผลย่อยแตกออกตามรอยเชื่อมและหลุดออก มีเมล็ดสีแดงติดอยู่กับแกนกลางผล ช่องละ 2 เมล็ด ลักษณะเมล็ด กลมรี ยาว 1-1.3 ซม. สีแดงเข้ม
การขยายพันธุ์เล็งเก็ง ใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552