✓ต้นไม้: จำปีดอย จำปีพื้นเมืองของไทย จุดเด่น ก้านดอกยาว?
จำปีดอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia gustavii King ถือเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่งในบรรดาพรรณไม้วงศ์จำปา (Magnoliaceae) ตามประวัติพบว่า จำปีดอยถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2434 ที่แคว้นอัสสัมของอินเดีย และทางตอนเหนือของพม่า หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบอีกเลย แม้แต่ในประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของพรรณไม้ชนิดนี้...
จำปีดอย
จนกระทั่งเมื่อปี 2541 มีการค้นพบจำปีดอยที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีบนภูเขาสูง ใกล้ชายแดนไทย-พม่า
ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้แก่บรรดานักสำรวจพรรณไม้เป็นอย่างมาก ที่ได้พบพรรณไม้ชนิดนี้อยู่ห่างไกลจากถิ่นกำเนิดเดิมเป็นระยะทางเกือบพันกิโลเมตร
และความสงสัยนี้ก็กระจ่างชัด เมื่อบรรดานักสำรวจพรรณไม้และนักจำแนกพรรณไม้ นำตัวอย่างแห้งที่เก็บมาใหม่ไปตรวจเทียบกับตัวอย่างแห้งต้นแบบ (Type specimen) แล้วสรุปว่าเป็นต้น"จำปีดอย" พรรณไม้ที่แสนจะหายาก จึงเกิดเป็นความพยายามที่จะขยายพันธุ์และนำไปปลูกในอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่อยู่ในระดับสูง
เนื่องจากต้นจำปีดอยเป็นพรรณไม้ที่ต้องการอากาศหนาวเย็นในการเจริญเติบโต ปัจจุบันมีการเก็บเมล็ดจากต้นจำปีดอยมาเพาะขยายพันธุ์ทำให้ได้ต้นกล้าจำนวนหนึ่ง และมีการนำไปปลูกในอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพนิเวศวิทยาใกล้เคียงกับแหล่งที่ค้นพบ คืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปรากฏว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี
ซึ่งเป็นความหวังได้ว่า อีก 5-10 ปีข้างหน้า จะพบต้นจำปีดอยจำนวนมากออกดอกงามละลานตาที่ตำบลปิล็อก ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและจะมีสถานะเป็นพันธุ์ไม้สัญลักษณ์ของพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้ไปชื่นชมความงามและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
สำหรับลักษณะเด่นของจำปีดอยที่แตกต่างจากบรรดาพรรณไม้ในวงศ์จำปาก็คือ ใบเล็ก ด้านล่างของใบมีสีขาวเคลือบอยู่ก้านดอกยาว ดอกบานคว่ำลง กลีบดอกชั้นนอกกางกระดกขึ้น ผลย่อยมีจำนวนน้อย แต่มีขนาดใหญ่อยู่ชิดแน่นบนแกนกลางผล เมื่อแก่จะแตกกางออกเผยให้เห็นเมล็ดสีแดงเข้มที่อยู่ภายในผลได้อย่างเด่นชัด
ดอกจำปีดอย ออกดอกที่ปลายยอด ดอกบาน 1-2 วัน เมื่อบานแล้วกลีบดอกจะกางลู่และดอกห้อยลง ดอกสีขาว เมื่อดอกโรยแล้ว กลีบดอกกางออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นหอม ดอกตูมรูปกระสวย กลีบดอก 9 กลีบ เรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกสุด ค่อนข้างบางสีขาวนวล ด้านนอกมีแถบสีเขียวอ่อน กลีบรูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 3-3.5 ซม. กลีบชั้นกลางและชั้นในรวม 6 กลีบ หนา อวบน้ำ
ผล(ฝัก)จำปีดอย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกเรียวยาว ผลอ่อนสีเขียว มีช่องอากาศสีขาวเป็นจุดเด่นชัดรอบผล มีผลย่อย 3-8 ผล เรียงอัดแน่นอยู่บนแกนกลางผลอันเดียวกัน แต่ละผลมีขนาดกว้าง 1 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. เมื่อผลแก่ แต่ละผลแตกตามแนวยาว มี2 เมล็ด สีแดง ลักษณะเมล็ดเป็นสีแดง รูปร่างกลมแต่มีสันนูน ขนาด 6-9 มม.
ลักษณะพรรณไม้ของจำปีดอย
ต้นจำปีดอย มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 8-12 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งในระดับสูง เรือนยอดกลมโปร่ง เปลือกลำต้นสีเทาปนน้ำตาล ที่โคนต้นแตกเป็นร่องตื้นๆ มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เนื้อไม้เหนียว
ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 3-4.5 ซม. ยาว 12-16.5 ซม. ปลายใบเรียวแหลมและงุ้มลง โคนใบรูปลิ่มและเบี้ยวไม่เสมอกัน ขอบใบเรียบหนาและบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาแข็ง ใบด้านบนเรียบเป็นมัน สีเขียวเข้ม ด้านล่างเคลือบสีขาว
การขยายพันธุ์จำปีดอย สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติโดยวิธีการเพาะเมล็ด แล้วนำไปปลูกเพิ่มเติมในแหล่งธรรมชาติ แต่ยังไม่มีการขยายพันธุ์ที่ได้ผลดีโดยวิธีอื่น คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง
อ้างอิง* : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552
จําปีดอย Magnolia gustavii King ยังไม่สูญพันธุ์
จากรายงานการตรวจสอบรายชื่อพรรณไม้ในวงศ์จําปาทั่วโลก ของสวนพฤกษศาสตร์คิว แห่งประเทศอังกฤษ ในปีค.ศ. 1996 (Frodin & Govaerts, 1966) ระบุว่า มีรายงานการค้นพบจําปีดอย ในปีค.ศ.1891 ที่อ้างอิงโดย Ann. Roy. Bot. Gard. (Calcutta) 3(2) หน้า 209 ว่ามีการเก็บตัวอย่างจากป่าโมคุ่มในแคว้นอัสสัม ตอนเหนือของพม่า
และหลังจากนั้นไม่มีรายงานการเก็บตัวอย่างจําปีดอยได้อีกเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1891 โดยที่หนังสือหรือรายงานที่เกี่ยวกับแมกโนเลียในยุคต่อ ๆ มาก็จะกล่าวถึงบริเวณที่เก็บตัวอย่างได้ในครั้งแรกเท่านั้น ดังเช่นในหนังสือแมกโนเลียของ Callaway (1994)
นับเป็นเวลากว่า 100 ปีที่ข่าวคราวของจําปีดอยเงียบหายไป จนกระทั่งนักวิจัยและนักสํารวจแมกโนเลียทั่วโลกลงความเห็นกันว่า จําปีดอยอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
ในการสํารวจพรรณไม้ในวงศ์จําปาทั่วประเทศของคณะผู้เขียน ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดําริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ได้ค้นพบจําปีดอยบนแนวสันเขาชายแดนไทยและพม่า ในเขตจังหวัดเพชรบุรีที่ระดับความสูง 1,300 เมตร (ปิยะ, 2545)
ซึ่งอยู่ไกลจากแหล่งกําเนิดเดิมในแคว้นอัสสัมมากกว่า 1,000 กิโลเมตร มีการนําภาพของดอกและผล ออกเผยแพร่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่นิยมแมกโนเลียเป็นอย่างมาก นับเป็นครั้งแรกของโลกที่จําปีดอยได้มีโอกาสเผยโฉมต่อสายตาชาวโลกอีกครั้ง
การขยายพันธุ์ของจําปีดอย (ปิยะ, 2545) รายงานว่า ตามธรรมชาติมีการขยายพันธุ์โดยเมล็ด แต่ในปัจจุบัน มีจํานวนต้นเหลืออยู่ในถิ่นกําเนิดน้อยมาก จึงมีโอกาสขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้น้อย จนอยู่ในสภาพใกล้จะสูญพันธุ์
ส่วนการขยายพันธุ์ที่ทําโดยมนุษย์นั้น ยังไม่มีวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้ได้ผลดีกับพืชชนิดนี้ แม้ว่าจําปีดอยจะออกดอกจํานวนมาก แต่ก็ติดเมล็ดน้อยมาก ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมีความอ่อนแอและตายเกือบหมดในเวลาต่อมา
การขยายพันธุ์โดยวิธีตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอดนั้น ยังไม่มีการทดลองทํา ส่วนการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากยอดอ่อนและเมล็ดอ่อน พบว่ายังไม่ประสบผลสําเร็จ และในขณะนี้จึงยังไม่มีการปลูกเลี้ยงจําปีดอย
สิ่งที่น่ายินดีสําหรับชาวไทยและชาวโลกก็คือ ได้มีการขยายพันธุ์จำปีดอย โดยวิธีการเพาะเมล็ดและปลูกต้นกล้าลงในพื้นที่แนวสันเขาชายแดนไทยและพม่า ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ.2548 ในระดับความสูงเดียวกัน
พบว่าต้นกล้าเจริญเติบโตได้ดี และหวังว่าจําปีดอยจะออกดอกและติดผลได้ใน 4 - 5 ปีข้างหน้านี้ นับเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าจําปีดอยยังไม่สูญพันธุ์
อ้างอิง: หมายเหตุนิเวศวิทยา Ecological Notes ปีที่1 ฉบับที่1 2550 โดย ปิยะ เฉลิมกลิ่น, พัชรินทร์ เก่งกาจ และจิรพันธ์ ศรีทองกุล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย