Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นพรหมขาว ไม้ดอกหอมไทยในสกุลมหาพรหม ลักษณะเด่น ออกดอกช่วงเดือนไหน?

ดอกของพรหมขาว ดอกสีขาว ดังชื่อคำระบุชนิดที่ว่า 'alba' ซึ่งแปลว่า ขาว ปลายกลีบชั้นในสีชมพูอมม่วง ประกบกันเป็นกระเช้างดงามสะดุดตาเฉกเช่นพรรณไม้ในสกุลมหาพรหมอื่นๆ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมหวาน คนในท้องถิ่นจึงนิยมปลูกพรหมขาวเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

พรหมขาว

พรหมขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora alba Ridl. วงศ์กระดังงา Annonaceae เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ในวงศ์กระดังงา ที่ค้นพบครั้งแรกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายงานการค้นพบในปี 2458 และถึงแม้วันเวลาจะผันผ่านไปนับร้อยปี แต่เมื่อย้อนกลับไปที่ถิ่นกำเนิดเดิม ก็ยังพบต้นพรหมขาวแตกกิ่งอ่อนช้อย ออกดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เช่นเดิม

ลักษณะพรรณไม้ของพรหมขาว

พรหมขาว ไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย ดอกสีขาว

photo by Marty Siamocananga.

ต้นพรหมขาว มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 6-8 ม. ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดกลมรูปโดม เปลือกลำต้นหนาเรียบ สีดำ เนื้อไม้เหนียว ใบเดี่ยว รูปรี กว้าง 4.5-6 ซม. ยาว 10-14 ซม. โคนใบมน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบด้านล่างสีอ่อนกว่า

รายละเอียดเพิ่มเติม

ดอกพรหมขาว ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 1-3 ดอก ออกตามกิ่งแก่ตรงข้ามใบ ดอกสีขาวปนม่วงแดง มีกลิ่นหอมหวาน มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกสีขาว รูปร่างค่อนข้างกลม กลีบชั้นนอกรูปช้อน โคนกลีบเรียวเล็ก ปลายกลีบแผ่กว้างสีม่วงแดงประกบกันเป็นรูปกระเช้า

ผลพรหมขาว เป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 4-7 ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอกยาว 4-6 ซม. เปลือกผลขรุขระหรือเรียบคอดตามรอยเมล็ดเล็กน้อย เมื่อแก่สีเขียวอมเหลือง มี 6-8 เมล็ด ลักษณะเมล็ด สีขาวนวล กลมแบน ขนาด 5-7 มม.

การขยายพันธุ์พรหมขาว สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด เสียบยอด และทาบกิ่ง

ในสมัยก่อน พรหมขาวเคยมีการกระจายพันธุ์อยู่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ได้สูญพันธุ์ไปหลายแห่ง และคงเหลือในปัจจุบันอยู่น้อยมาก ทุกวันนี้พรหมขาวมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในป่าดิบชื้น ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา ที่ระดับความสูง 50-200 ม. เท่านั้น

ด้วยความที่เป็นพรรณไม้ที่ได้รับความนิยม จึงมีผู้คิดขยายพันธุ์พรหมขาวให้มีจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับและไม้กระถาง วิธีการขยายพันธุ์ของพรหมขาวทำได้หลายวิธี นับตั้งแต่เพาะเมล็ด เสียบยอด และทาบกิ่ง ซึ่งมีข้อดีเด่นแตกต่างกัน ส่วนวิธีที่จะทำให้ได้ทรงพุ่มกลมแน่นสวยงามคือการเพาะเมล็ด

แต่วิธีนี้จะทำให้ออกดอกช้า ใช้เวลานาน 4-5 ปี ขณะที่การทาบกิ่งและการเสียบยอด จะออกดอกได้ภายใน 1 ปี แต่ทรงพุ่มจะสูงชะลูดไม่สวยงามเท่ากับการเพาะเมล็ด การเสียบยอดและทาบกิ่ง นิยมใช้ต้นมะป่วน ซึ่งเป็นพรรณไม้พื้นเมืองในสกุลเดียวกันที่หาได้ง่าย แข็งแรงทนทานมาเป็นต้นตอ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาในการ ปลูกเลี้ยงให้สั้นลง และจะออกดอกได้ภายใน 1 ปี

ที่มา : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม