Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นกลาย ดอกกลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ ไม้ดอกหอม ลักษณะเด่น ออกดอกช่วงเดือนไหน?

ต้นกลาย (ดอกกลาย)

"กลาย" เป็นพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ที่มีช่วงฤดูดอกบานยาวนานที่สุดชนิดหนึ่ง รองจากกระดังงาสงขลา และกระดังงาจีน

ต้นกลาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora keithii Ridl. วงศ์กระดังงา Annonaceae พรรณไม้ดอกหอมของไทย สำรวจพบโดย A.Keith นักสำรวจพรรณไม้ชาวนิวซีแลนด์ ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงมีชื่อระบุชนิดว่า keithii ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ผู้ที่สำรวจค้นพบครั้งแรก

ต้นกลาย เป็นพรรณไม้ยอดนิยมของบรรดานักชมธรรมชาติและนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง

เนื่องจากพรรณไม้ชนิดนี้มีกลิ่นหอมจรุงใจ จนหลายคนคิดจะเก็บเมล็ดไปเพาะเพื่อปลูกเลี้ยงบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้นกลายเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยเมล็ดซึ่งมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ

ต้นกลาย ไม้ดอกหอม

ดังนั้นหลายคนจึงพบว่าต้นกลายบางต้นอาจมีเพียงกลิ่นหอมอ่อนๆ หรือบางต้นอาจไม่มีกลิ่นหอมเลย จึงเป็นที่มาของชื่อ "กลาย" ซึ่งหมายถึงการกลายพันธุ์นั่นเอง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ต้นกลาย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่ออกดอกและติดผลตลอดปี ดอกที่เริ่มบานจะมีสีเหลืองนวล พอใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ส่วนผลกลายที่แก่จะมีสีแดงเข้มและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวานจึงเป็นอาหารอันโอชะของสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกและค้างคาวตัวเล็กๆ

และเมื่อกินผลแก่แล้วไปถ่ายมูลที่อื่นก็เท่ากับเป็นการกระจายเมล็ดได้ดีอีกทางหนึ่ง และจากความมีเสน่ห์ที่มีดอกสวยงาม กลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี จึงได้รับความนิยมนำมาปลูกกันมากขึ้น

ต้นกลายเป็นพรรณไม้ที่กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 50-700 ม.เหนือระดับน้ำทะเล

ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับลงในแปลงที่ร่มรำไร หรือไม้กระถาง เนื่องจากมีดอกดกสีสวย ที่สำคัญคือออกดอกตลอดปี

ส่วนวิธีการเลือกต้นกล้าของต้นกลายเพื่อนำไปปลูกควรเลือกจากต้นที่ดอกมีกลิ่นหอมแรง และเป็นต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด เนื่องจากจะมีทรงพุ่มกลมแน่นสวยงาม แต่อาจจะออกดอกได้ช้าสักหน่อย

ต้นกลาย ดอกกลาย

สำหรับผู้ที่เลือกต้นกล้าจากการทาบกิ่ง หรือเสียบกิ่ง ถึงแม้ว่าจะออกดอกในเวลารวดเร็ว แต่ก็จะมีทรงพุ่มที่สูงชะลูด ไม่สง่างามเท่ากับต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด ปัจจุบันต้นกลายเป็นพรรณไม้ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี และไม่มีโอกาสสูญพันธุ์แล้ว

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะพรรณไม้ของต้นกลาย

ต้นกลาย มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 2-4 ม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนดำ แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว แตกกิ่งน้อยขนานกับพื้นดิน ทรงพุ่มโปร่ง เนื้อไม้เหนียว ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 8-12 ซม. แผ่นใบเกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน

ดอกกลาย ออกดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อเล็กๆ ตรงข้ามใบ กลีบเลี้ยงเล็กๆ 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง โคนกลีบแต่ละวง เรียงจรดกัน

กลีบวงนอกหนา และยาว 2-2.5 ซม. กลีบวงในขอบกลีบประกบกันคล้ายกระเช้า สั้นกว่ากลีบ ด้านนอกเล็กน้อย ดอกเริ่มบานสีเหลืองนวล ดอกบานอยู่ได้ 2-3 วัน เมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มส่งกลิ่นหอมแรง

ผลกลาย เป็นแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย 7-14 ผล รูปทรงกระบอก ยาว 1.5-2 ซม. เมื่อสุกมีสีแดง เปลือกนิ่ม รสหวาน เมล็ด กลมแบน ขนาด 4-5 มม.

การขยายพันธุ์ต้นกลาย สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด ทาบกิ่ง และเสียบกิ่ง โดยการคัดเลือกแม่พันธุ์ควรเลือกจากต้นที่มีกลิ่นหอมแรงดอกดกและออกดอกตลอดปี

การปลูกต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด จะได้ทรงพุ่มที่กลมแน่น สวยงาม แต่การปลูกจากการทาบกิ่งหรือเสียบกิ่ง จะมีทรงพุ่มที่สูงชะลูด

อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม