Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นมหาพรหมราชินี ไม้มงคลดอกหอม ประวัติความเป็นมา สรรพคุณ วิธีปลูก ออกดอก?

ข้อมูล ต้นมหาพรหมราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ สกุลมหาพรหม ในวงศ์กระดังงา ดอกไม้หอม ลักษณะ ดอกมหาพรหมราชินี วิธีการปลูกให้ออกดอก การขยายพันธุ์ ราคา...

มหาพรหมราชินี

มหาพรหมราชินี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & R. M. K.Saunders วงศ์ Annonaceae

เมื่อปี 2547 ประเทศไทยได้ประกาศการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย เป็นชื่อระบุชนิดพืชชนิดใหม่นี้ว่า sirikitiae

และใช้ชื่อภาษาไทยว่า "มหาพรหมราชินี" เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา อันถือเป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย

มหาพรหมราชินี ไม้ดอกหอมถิ่นเดียวของไทย ดอกใหญ่ สีสันสวยงาม ไม้มงคล
Photo by พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา(Annonaceae) สกุลมหาพรหม (Mitrephora) ดอกมีขนาดใหญ่สีขาวและม่วงสวยงามมาก และมีขนาดใหญ่ที่สุด ในสกุลมหาพรหมซึ่งมีอยู่ทั่วโลก 48 ชนิด ในประเทศไทยที่สำรวจพบแล้วมี 7 ชนิด โดยมีมหาพรหมราชินี เป็นชนิดที่ 8

รายละเอียดเพิ่มเติม

มหาพรหมราชินีจึงเป็นดอกไม้ที่ประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ ถึงความยิ่งใหญ่ของไม้ดอกที่งดงามและมีชื่อตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแห่งประเทศไทย ถิ่นกำเนิดของมหาพรหมราชินีอยู่บนสันเขาแคบๆ บริเวณยอดเขาสูงชันเหนือระดับน้ำทะเล 1,100 ม. ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว ที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และยังจัดเป็นพรรณไม้หายากเนื่องจากจำนวนต้นในถิ่นกำเนิดน้อยมาก และมีการกระจายพันธุ์ต่ำ ผู้ที่ค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้คือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ซึ่งได้ทำการวิจัยและพัฒนาแล้วพบว่า มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้ที่มหัศจรรย์มากชนิดหนึ่ง ที่แม้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่บนเขาหินปูน ในระดับความสูง 1,100 ม. ที่มีอากาศหนาวเย็น มีต้นสูง 3-5 ม.

แต่เมื่อนำเมล็ดมาเพาะในกรุงเทพฯ ที่มีอากาศร้อนจัด ก็สามารถปรับตัวได้โดยใช้เวลาปลูกเลี้ยง 3 ปี มีความสูง 1.5 ม. ก็ออกดอกได้เกือบตลอดปี ปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นไม้ประดับกระถาง ซึ่งมีการปลูกกันทั่วประเทศ ช่วยให้พ้นสภาพจากการเป็นพรรณไม้หายากได้แล้ว

ดอกมหาพรหมราชินี

มหาพรหมราชินีเมื่อออกดอกจะบานพร้อมกันทั้งต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และแต่ละดอกบานอยู่ได้ 1-2 วัน ช่วงเวลาดอกบานราวเดือนพฤษภาคม ต้นที่ปลูกจากต้นกล้าเพาะเมล็ดจะมีทรงพุ่มสวยงาม ออกดอกได้เต็มทรงพุ่ม ขณะที่ต้นที่ปลูกจากต้นทาบกิ่ง จะมีทรงพุ่มแผ่กระจายและออกดอกเฉพาะกิ่งที่อยู่ด้านบนทรงพุ่ม

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะพรรณไม้ของมหาพรหมราชินี

ต้นมหาพรหมราชินี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 3-5 ม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเทาอมขาวมีขนอ่อนปกคลุม แตกกิ่งน้อย ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 4-9 ซม. ยาว 11-19 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบ เป็นมันทั้งสองด้าน ด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบ 8-11 คู่ ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.

ดอกมหาพรหมราชินี ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก 1-3 ดอกใกล้ปลายยอด กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงกลีบสองชั้น เมื่อดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ดอกดกทยอยบาน แต่ละดอกบานอยู่ได้ 1-2 วัน

ผลมีลักษณะเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 5-8 ผล รูปทรงกระบอก ยาว 5-8 ซม. มีเมล็ด 13-21 เมล็ด ลักษณะเมล็ด รูปคล้ายไข่หรือทรงกลม สีน้ำตาล ขนาด 5-8 มม.

การขยายพันธุ์มหาพรหมราชินี มีการนำผลแก่มาเพาะเมล็ดซึ่งงอกได้ดี ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ การทาบกิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีการที่รวดเร็ว สะดวก ประหยัด และสามารถกำหนดให้กิ่งทาบมีความยาวได้ตามความต้องการ ตั้งแต่ความสูง 30 ซม. จนถึง 150 ซม. โดยใช้ระยะเวลาทาบเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น มีอัตราการทาบติดได้สูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์

อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

"มหาพรหมราชินี" พรรณไม้พระราชทานนาม

พรรณไม้ในพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นแม่ฟ้าหลวงของแผ่นดินไทย ทรงมีความสนพระทัยในด้านการอนุรักษ์พรรณไม้ชนิดต่างๆ

มหาพรหมราชินี ไม้มงคลดอกหอม สรรพคุณ วิธีปลูก

อีกทั้งทรงพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพรรณไม้แต่ละชนิด ที่มีการค้นพบครั้งแรกในโลก อาทิ มหาพรหมราชินี (Mitrephora sirikiteae Weersooriya, Chalermglin & R.M.K. Saunders) และ โมกราชินี (Wrightia sirikitiae D.J. Middleton & Santisuk)

รายละเอียดเพิ่มเติม

มหาพรหมราชินี จัดอยู่ในสกุลมหาพรหม (Genus Mitrephora) วงศ์กระดังงา (Annonaceae Family) สำรวจพบครั้งแรกโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2546 จากอุทยานแห่งชาติแม่สุรินทร์ บ้านห้วยฮี้ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในระดับความสูง 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล และเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย (Endemic of Thailand)

พรรณไม้สกุลนี้พบในเมืองไทยประมาณ 8 ชนิด ทั้งโลกมีรายงานพบมากกว่า 40 ชนิด แต่มหาพรหมราชินีเป็นชนิดที่มีขนาดดอกใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ มหาพรหมราชินี ตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ ในวันที่12 สิงหาคม พ.ศ.2547

ลักษณะทั่วไป จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ทรงต้นสวย ความสูงลำต้นเมื่อเติบโตเต็มที่ 3-5 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ใบเดี่ยวเรียงสลับ ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ปลายใบแหลม 

ดอกเดี่ยว บางครั้งออกเป็นกระจุก ดอกสีขาว มีลักษณะคล้ายโคมคว่ำ ขนาด 8-10 เซนติเมตร จำนวน 6 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกสีขาว มี 3 กลีบ ลักษณะกางออก ปลายกลีบโค้งเล็กน้อย กลีบดอกชั้นในสีม่วงแดง มี 3 กลีบ บริเวณปลายกลีบทั้ง 3 เชื่อมติดกัน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 วัน

วิธีปลูก

ต้นมหาพรหมราชินี

มหาพรหมราชินี ถูกนำมาขยายพันธุ์เพื่อปลูกเลี้ยงนอกถิ่นกำเนิด โดยวิธีการเพาะเมล็ด แต่การเพาะเมล็ดค่อนข้างยาก เนื่องจากเมล็ดมีอัตราการงอกต่ำมาก จึงได้มีการขยายพันธุ์โดยวิธีเสียบยอด หรือ ทาบกิ่ง ซึ่งได้ผลดีกว่า เนื่องจากโตเร็ว และสามารถออกดอกได้เร็วกว่าต้นที่เพาะเมล็ด

รายละเอียดเพิ่มเติม

โดยนำยอดมหาพรหมราชินีมาเสียบกับต้นตอมะป่วน (มะป่วนเป็นพืชสกุลเดียวกันมีเมล็ดมาก งอกง่าย และมีการกระจายพันธุ์ทั่วไป ต้นตอเหล่านี้ เป็นต้นกล้าที่ได้มาจากการเพาะเมล็ด จึงมีระบบรากที่แข็งแรง)

ต่อมาภายหลังได้มีการปลูกเลี้ยงมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่งเพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ขนาดใหญ่ สามารถนำไปปลูกเลี้ยงได้เร็วกว่า ทั้งนี้การปลูกเลี้ยงมหาพรหมต้องคำนึงถึงปริมาณแสงแดด 

เนื่องจากการปลูกกลางแจ้ง แสงแดดอาจทำให้ใบเหลืองและขอบใบแห้งได้ แต่จะมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกมากกว่าการปลูกเลี้ยงในที่ร่ม ส่วนระบบการให้น้ำจัดว่าเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากมหาพรหมราชินี ถ้าขาดน้ำจะทำให้ใบไม้ร่วง (ผลัดใบ) ทรงพุ่มไม่สวย แต่ถ้าให้น้ำมาก (แฉะเกินไป) อาจทำให้ระบบรากเน่าได้

อย่างไรก็ตามต้องหมั่นตรวจสอบและตัดแต่งกิ่งที่เจริญหรือแตกออกมาจากบริเวณโคนต้นตอทิ้ง เนื่องจากต้นตอเป็นพืชต่างชนิดกับมหาพรหมราชินี ดังที่กล่าวมากข้างต้น อาจส่งผลให้ยอดของมหาพรหมไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด

สรรพคุณ

สำหรับสรรพคุณทางยา ขณะนี้ยังไม่ได้ทำวิจัยออกมาเพียงแต่แยกดีเอ็นเอในสายพันธุ์ และกำลังตรวจหาสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

อ้างอิง: จดหมายข่าว วว. ฉบับที่ 8 / สิงหาคม 2559 ปีที่ 19 โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

รายละเอียดเพิ่มเติม