ต้นมะป่วน, นมหนู ลักษณะ ออกดอกเดือนไหน วิธีปลูกให้ออกดอก วิธีปลูก ขยายพันธุ์?
ต้นมะป่วน (นมหนู)
มะป่วน, นมหนู, ลำดวนดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora tomentosa Hook. f. & Thomson วงศ์ Annonaceae ไม้ไทยดอกหอม เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ไม้ไทยดอกหอมที่พบได้ทั่วทุกภาคของไทย
ต้นมะป่วน (นมหนู, ลำดวนดง) มีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 20 ม. ตามกิ่งก้านอ่อนปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่ม
ลักษณะใบเป็นแบบใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปไข่กว้าง รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 3–10 ซม. ยาว 6.5–21.5 ซม. โคนใบมนหรือคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ใบหนาคล้ายหนัง ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนแน่น เส้นใบข้างละ 8–20 เส้น ก้านใบยาว 4–13 มม.
ดอกมะป่วน (นมหนู, ลำดวนดง) ออกดอกเป็นช่อดอกออกตามกิ่ง ก้านดอกยาว 1.1–2.3 ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง 5–9 ซม. ยาว 5–9 ซม. กลีบดอกวงนอกรูปใบหอกถึงรูปใบหอกกลับ
ดอกสีเหลืองถึงสีเหลืองเข้ม กลีบกว้าง 0.7–1.8 ซม. ยาว 1.6–2 ซม. ขอบเป็นคลื่น กลีบดอกวงในสีครีมถึงสีเหลือง ปลายกลีบมีแถบสีม่วงแดง กว้าง 0.7–1.3 ซม. ยาว 0.8–1.7 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 1–1.3 มม. รังไข่ 12–17 คาร์เพล คาร์เพลละ 10–12 ออวุล
ผลมะป่วน (นมหนู) มีลักษณะเป็นแบบผลกลุ่ม เป็นพวง มีผลย่อย 15-25 ผล รูปรีกว้าง 0.8–2 ซม. ยาว 1.5–2.5 ซม. ผิวผลปกคลุมด้วยขนสั้นหนาแน่น เมล็ดทรงรีแบน กว้างประมาณ 8 มม. ยาวประมาณ 12 มม.
นิเวศวิทยาขึ้นตามป่าดิบแล้ง ที่ความสูงจากระดับทะเล 100–1,200 ม. ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน มีการกระจายพันธุ์ที่ อินเดีย ตอนใต้ของจีน กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
มะป่วน (นมหนู) ไม้ไทยดอกหอม ในสกุลมหาพรหม
มะป่วน เป็น 1 ใน 8 ชนิดของพรรณไม้สกุลมหาพรหมที่มีอยู่ในประเทศไทย จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา โดยมีลักษณะเด่นคือ เป็นพรรณไม้ที่มีเมล็ดจำนวนมาก มีระบบรากแข็งแรง ทนแล้งได้ดี จึงนิยมนำมาเป็นต้นตอทาบกับพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในสกุลมหาพรหมด้วยกัน
ดอกมะป่วนจะออกในเดือนเมษายน ส่วนผลจะแก่ เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม มะป่วนมีการกระจายพันธุ์ ในป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูง 100-300 ม.
ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และเป็นพืชสมุนไพร แก่นมะป่วนใช้ต้มน้ำดื่มครั้งละ 1 กำมือ วันละ 3 ครั้ง
โดยปกติมะป่วนจะกระจายพันธุ์ได้ดี เนื่องจากผลสุกมีรสหวานและเป็นอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิด นับตั้งแต่ กระรอก นก ค้างคาว
เมื่อผลร่วงหล่นลงมาแล้วยังเป็นอาหารของพวกเก้งและไก่ป่า เมื่อสัตว์เหล่านี้กินผลมะป่วนเข้าไปพอถ่ายมูลออกมาก็จะมีเมล็ดมะป่วน งอกขึ้นในบริเวณดังกล่าวด้วย
วิธีปลูกให้ออกดอก
มะป่วนมีทรงพุ่มที่กลมสวยงาม จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานจัดภูมิทัศน์และในสนามกอล์ฟ
แต่การที่มะป่วนจะออกดอกได้พร้อมกันทั้งต้นเป็นทรงพุ่มหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับสภาพความแล้ง หากพื้นที่ปลูกเป็นเนินและเป็นโคกที่แห้งแล้ง หรือเนินที่ระบายน้ำได้ดี มะป่วนจะออกดอกได้พร้อมกันทั้งต้น มีความสวยงามมาก
แตกต่างจากต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ลุ่มหรือมีน้ำแฉะตลอดเวลา รวมทั้งต้นที่ปลูกตามบ้านพัก ซึ่งมีการให้น้ำกันอยู่แทบทุกวัน จนดินปลูกมีสภาพความชื้นสูง จะทำให้ต้นมะป่วนแตกใบอ่อนอยู่ตลอดเวลาและไม่ออกดอก หรือมีดอกออกน้อยมาก
ลักษณะพรรณไม้
ต้นมะป่วน มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึงประมาณ 10-15 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 9-20 ซม. ปลายใบเรียวแหลม ผิวใบมีขนสีน้ำตาล
ดอกมะป่วน ออกดอกเป็นกระจุก 2-3 ดอก ตรงข้ามใบ ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. กลีบดอกสีเหลือง 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ รูปขอบขนานปลายแหลมและโค้ง ขอบกลีบหยักเว้า กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว ประมาณ 2.5 ซม. กลีบดอกชั้นในรูปช้อน กว้างและยาวประมาณ 1.5 ซม. เรียงตัวชิดกันเป็นรูปโดม
ผลมะป่วน ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 16-24 ผล แต่ละผลรูปกลมรี ยาวประมาณ 3 ซม. ก้านยาวประมาณ 1.5 ซม. เมื่อผลสุกสีเหลือง ผิวมีขนสีน้ำตาลคลุม มี 3-7 เมล็ด ลักษณะเมล็ด สีน้ำตาล กลมแบน ขนาด 6-8 มม.
วิธีการขยายพันธุ์มะป่วน
มะป่วน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด แต่หากต้องการให้ออกดอกได้รวดเร็วขึ้นจะใช้วิธีทาบกิ่ง โดยใช้ต้นมะป่วนทาบกับกิ่งยอดของมะป่วนที่ออกดอกแล้ว