Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓การใช้ประโยชน์ จากการปลูกพรรณไม้ดอกหอม ชนิดต่างๆ?

กลิ่นหอมเย็นชื่นใจของพรรณไม้ดอกหอม เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญดลใจให้ผู้คนต้องไปเลือกสรรแต่ละชนิดมาปลูกเลี้ยงกันตามต้องการ โดยทั่วไปหรือส่วนใหญ่ ดอกไม้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความหอมมักจะมีกลีบดอกสีขาวหรือสีอ่อน ๆ ดอกบานในช่วงเวลากลางคืน ส่งกลิ่นหอมในยามค่ำคืน

พรรณไม้ดอกหอม

ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ต่างกับดอกไม้ที่ไร้กลิ่นหอมและบานในตอนกลางวัน ที่มักมีสีสันรูปร่างเด่นสะดุดตาอย่างไรก็ตาม มีพรรณไม้ดอกหอมหลายชนิดที่บานและส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลากลางวัน

การนำจุดเด่นของพรรณไม้ดอกหอมชนิดต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตคนไทย

จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่ชื่นชอบไม้ดอกหอมได้เชยชมกลิ่นกันอย่างจุใจ ยิ่งหากว่าพรรณไม้ดอกหอมเหล่านั้นมีรูปร่างสวยงามหรือมีสีสันเด่นสะดุดตาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์มากขึ้นเป็นทวีคูณ

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะของดอกอาจเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อที่แทงออกมาบานอยู่ตามลำต้นกิ่ง ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือตามปลายยอด ทยอยกันผลิบานชูช่ออวดโฉมกันอยู่วันแล้ววันเล่า

ซึ่งนับวันจะมีรูปร่าง สีสันเด่นสะดุดตามากขึ้น และกลิ่นหอมที่ประทับใจมากขึ้น เพื่อใช้ปลูกประดับ หรือเพื่อเก็บเอาดอกไม้เหล่านี้ไปอบกลิ่นหอมหรือนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ประโยชน์ของไม้ดอกหอม

การใช้ประโยชน์ในพรรณไม้ดอกหอม นอกจากปลูกเพื่อเชยชมกลิ่นหอมอันเป็นเป้าหมายหลักแล้ว หากพรรณไม้ชนิดนั้นมีรูปทรงดอกที่สวยงาน สีสันเด่นสะดุดตา ก็มีโอกาสที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น และถ้าชนิดใดมีทรงพุ่มสวยงานก็ยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วยดังเช่น จำปี จำปา โมก กระดังงาสงขลา พิกุล

ส่วนไม้ดอกหอมที่เป็นพุ่มรอเลื้อย หรือไม้เลื้อย นิยมนำมาปลูกประดับซุ้ม ตามประตูรั้ว นอกชาน ลานบ้าน ตามซุ้มประดับในสวน หรือเลื้อยเกาะพันรั้ว เพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น การเวก มะลิวัลย์ และชมนาด

ส่วนชนิดที่มีต้นสูงใหญ่ก็ยังใช้เป็นไม้ให้ร่มเงา บังลมให้กับอาคารบ้านเรือนได้อีกด้วย เช่น กันเกรา กระทิง ลำดวน บุนนาค

ไม้ดอกหอมในภูมิปัญญาไทย คนไทยเราฉลาดหลักแหลม รู้จักดัดแปลงธรรมชาติรอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตมานาน จนกลายเป็นภูมิปัญญาไทยสืบทอดต่อเนื่องกันมา

ต้นไม้ดอกไม้เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทย ที่คนไทยในสมัยก่อนรู้จักดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะไม้ดอกหอมด้วยแล้ว นำใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างเช่น

เครื่องประดับตกแต่งและเครื่องบูชา

คนไทยสมัยก่อนรู้จักนำดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น จำปี จำปา มะลิซ้อน มาประดับทัดหู ห้อยเสียบผมประบ่า ให้หอมกรุ่นติดจมูก

ต่อมาคิดประดิษฐ์ร้อยกรองไม้ดอกหอม เช่น มะลิ กุหลาบ พิกุล พุทธชาด จำปี จำปา มาเย็บเป็นตุ้มอุบะ พวงมาลัย ใช้เป็นเครื่องตกแต่งร่างกาย จัดแต่งพุ่มประดับ รูปทรงสวยงามแปลกตา ประดับสถานที่ให้สวยงาม รวมทั้งใช้เป็นเครื่องบูชาในงานพิธีต่างๆ ทั้งทางด้านศาสนา และประเพณี ทุกช่วงเวลาตลอดปี

เครื่องสำอางและเครื่องหอม

บรรพชนคนไทยนิยมปรุงเครื่องหอมใช้มาแต่โบราณ ดังปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่องด้วยกัน เครื่องหอมประกอบด้วยดอกไม้ดอกหอม ใช้อบร่ำเครื่องนุ่งห่มให้หอมติดนาน บุหงารำไปหรือบุหงา คือดอกไม้ที่ปรุงด้วยเครื่องหอม แล้วบรรจุในถุงผู้โปร่งเล็กๆ ทำเป็นรูปทรงน่ารัก

เมื่อยามอากาศร้อน ใช้น้ำอบน้ำปรุงที่ใช้ประพรมร่างกายให้เย็นหอมผิวกาย ก่อนที่น้ำหอมจากทวีปยุโรปเข้ามา ก็ได้มาจากกรรมวิธีสกัดกลิ่นจากไม้ดอกหอมเป็นหลัก ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมที่นิยมนำมาสกัด เช่น มะลิ กุหลาบ กระดังงา ชำมะนาค

เครื่องปรุงแต่งอาหาร

อาหารไทยสมัยก่อนแม้จนกระทั่งปัจจุบัน นิยมใช้ดอกมะลิ กุหลาบ กระดังงา ปรุงแต่งกลิ่นอาหาร โดยเฉพาะของหวาน ให้มีกลิ่นหอมและดูสวยงาม ส่วนดอกขจรและดอกพะยอม นำมาปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวาน แม้กระทั่งน้ำดื่ม บางคนยังนิยมดื่มน้ำลอยดอกมะลิที่หอมจรุงใจ

เครื่องปรุงยาสมุนไพร

ในสมัยก่อนคนไทยนิยมนำไม้ดอกหอมหลายชนิดมาเป็นเครื่องประกอบตามตำรับยาไทยผสมปรุงแต่งเป็นยารักษาโรค และยาบำรุงร่างกาย ปัจจุบันนิยมทำเป็นสมุนไพรใช้ชงเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ไม้ดอกหอมที่นิยมนำมาทำยาสมุนไพรมีดอกมะลิ ปีบ พะยอม สารภี คัดเค้า พิกุล

เครื่องปลูกประดับ

ในวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงต้นไม้ที่มีดอกหอม เช่น แก้ว มะลิ โศก พุดซ้อน ที่ปลูกประคับส่งกลิ่นหอมตามระเบียงบ้านนอกชานเรือน

ส่วนตามบ้านเรือนไทย ยังนิยมปลูกไม้ดอกหอมเป็นรั้วรายรอบ หรือประดับสวน เช่น แก้ว มะลิ โมก พูดซ้อน พุทธชาด ราตรี ซ่อนกลิ่น ชมนาด กุหลาบ ส่วนที่นิยมปลูกในสวนสาธารณะและริมถนนหนทาง เพื่อให้ร่มเงาและส่ง กลิ่นหอมยามถึงฤดูกาล เช่น กันเกรา อโศก พิกุล ประดู่ป่า ลำดวน สารภี

ไม้ดอกหอมในวิถีชีวิตคนไทย

ทุกช่วงเวลาคนไทยเรามักสัมผัสอยู่กับกลิ่นหอมของมวลบุปผาชาติต่างๆ ไม้ดอกหอมนานาพรรณ ล้วนมีกลิ่นหอมที่เกิดจากธรรมชาติที่คนไทยคุ้นกลิ่นกันอย่างดี เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกจำปา เป็นต้น

ไม้ดอกหอมบางชนิดคนไทยเก็บเอาดอกไม้เหล่านี้ไปอบกลิ่น หรือนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย สกัดเป็นน้ำหอม น้ำปรุง หรือนำมาทำเป็นดอกไม้แห้งที่เรียกกันว่า บุหงารำไป

นอกจากนั้นไม้ดอกหอมยังมีบทบาทกับวิถีชีวิตในด้านต่างๆมาตั้งแต่อดีตที่คนไทยนำ ดอกไม้มาประดิษฐ์เป็นมาลัยดอกไม้สด บายศรี และบูชาพระ หรือเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ดังนั้น ไม้ดอกหอมจึงมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด

อ้างอิง* : สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

การศึกษาการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ดอกหอมในด้านต่างๆ ใช้เป็นไม้ประดับ พืชสมุนไพร อาหาร ก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้ น้ำหอม และอื่นๆ

พรรณไม้ดอกหอมได้รับความนิยมปลูกกันมานานแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้จึงขอนำข้อมูลการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ดอกหอม ซึ่งเป็นผลการศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 แล้ว แต่ว่าเนื้อหาข้อมูลยังทันสมัยและยังเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ในปัจจุบัน

จากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา และการใช้ประโยชน์จากพรรณ ไม้ดอกหอมในสวนไม้หอม ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 

พบพรรณไม้ดอกหอมทั้งหมด 23 วงศ์ 38 สกุล 43 ชนิด โดยวงศ์ Apocynaceae พบจำนวนชนิดมากที่สุด คือ 8 ชนิด รองลงมาได้แก่ วงศ์ Annonaceae และ Rubiaceae พบ 5 ชนิด มีพรรณไม้ดอกหอมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย 4 ชนิด คือ การเวก กระดังงาสงขลา จำปีสิรินธร และรวงผึ้ง

การใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ดอกหอมชนิดต่าง ๆ ที่นิยมปลูกในประเทศไทย

จากการศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ เป็นไม้ประดับ พืชสมุนไพร อาหาร ก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้ น้ำหอม และอื่นๆ พบว่ามีการนำพรรณไม้ดอกหอมมาใช้เป็นไม้ประดับมากที่สุด (43 ชนิด) รองลงมาคือใช้เป็นสมุนไพร 

โดยพรรณไม้ดอกหอมที่มีการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากที่สุดคือ ประคู่บ้าน และพะยอม รองลงมาคือ จำปา พุดซ้อน และพิกุล

พรรณไม้ดอกหอมในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายชนิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ปลูกประดับเพื่อเชยชมกลิ่นหอม และรูปร่างสีสันที่สวยงามของดอก หรือรูปทรงที่สวยงามของลำต้นและทรงพุ่ม นำดอกมาอบทำเครื่องหอม สกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรอีกด้วย

ปัจจุบันพรรณพืชต่าง ๆ กำลังถูกคุกคามโดยกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งที่ตั้งใจและความรู้ไม่เท่าทัน จึงทำให้จำนวนชนิดและปริมาณของพืชลดน้อยลงทุกวัน รวมทั้งพรรณไม้ดอกหอมด้วย ซึ่งบางชนิดอาจไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนในยุคปัจจุบันแล้ว

ด้วยเหตุนี้ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงได้ดำเนินการรวบรวมพรรณไม้ดอกหอม ปลูกไว้บริเวณหน้าศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองเพื่อเป็นการรวบรวมเชิงอนุรักษ์พันธุ์ไม้ดอกหอม

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนชนิด ลักษณะทางสัณฐานวิทยา และการนำพืชเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะสำรวจจำนวนชนิดรวมทั้งศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของพรรณไม้ดอกหอม และศึกษาประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากพรรณไม้ดอกหอม

เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอันจะนำไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของพรรณไม้ดอกหอมเหล่านี้ ให้เป็นรู้จักและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและคุ้มค่าต่อไป

พรรณไม้ดอกหอมหมายถึงพรรณไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอม อันเนื่องมาจากต่อมน้ำหอมซึ่งอยู่ภายในดอก ผลิตสารหอมระเหย (ปิยะ, 2543) กลิ่นหอมของดอกไม้มักจะเกิดจากสารที่ระเหยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไปในเนื้อเยื่อชั้นผิว (epidermis) ของวงกลีบรวม (perianth)

ในพืชบางชนิดสารที่มีกลิ่นหอมนี้จะเกิดจากต่อมพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่ง Vogel เป็นผู้ตั้งชื่อขึ้นเมื่อปี 1962 ว่า Osmophor ส่วนต่าง ๆ ของดอกจะเปลี่ยนรูปไปเป็น osmophor ได้ และอาจจะมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น คล้ายปาก กระเป๋าเสื้อ ขนสั้น ๆ หรือแปรง และส่วนที่ดึงดูดแมลงของดอกกล้วยไม้คือ osmophor (เทียมใจ, 2542)

พรรณไม้ดอกหอมจัดเป็นพรรณพืชที่มีความสำคัญทางศิลปะวัฒนธรรมไทยกลุ่มหนึ่ง มีความผูกพันธ์กับคนไทยมายาวนาน ในวรรณกรรมหลายสมัยจะต้องมีบทกวีที่กล่าวถึงพรรณไม้ดอกหอมอยู่เสมอ

พรรณไม้ดอกหอมหลายชนิด นอกจากจะให้ดอกหอมชื่นใจแล้วยังเป็นสมุนไพรใช้ผสมเป็นยารักษาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บและใช้เนื้อไม้ทำบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย

ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์สูตรซึ่งมีป่าไม้ประกอบด้วยพรรณพืชชนิดต่าง ๆ กันเป็นจำนวนมาก พรรณไม้ดอกหอมหลายชนิดพบในป่าของประเทศไทย

บางชนิดนำเข้ามาจากต่างประเทศและปลูกกันไว้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน ความรู้ที่คนไทยพื้นบ้านได้สะสมกันมายาวนานในการรักษาโรคต่าง ๆ ประโยชน์ของพรรณพืชต่าง ๆ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทยที่สมควรอนุรักษ์ไว้ เป็นความภูมิใจ เป็นประโยชน์ของคนรุ่นหลังที่นับวันจะมีโอกาสได้รับความรู้เหล่านี้น้อยลงทุกที (วงศ์จันทร์, 2541)

พรรณไม้ดอกหอมมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน ไม้ดอกหอมที่มีความสำคัญในสมัยก่อนสุโขทัยที่สำคัญ คือ พิกุล (Mimusops elengi Linn.) โดยนำมาปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ จัดอยู่ในเกสรทั้งห้าทั้งเจ็ด และทั้งเก้า ซึ่งเป็นตัวหลักในการทำยาหอม

ไม้ดอกหอมที่ปรากฏหลักฐานในสมัยสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตไทย ได้แก่ จันทน์ นาคพฤกษ์ (กระทิง) ลำควน จำปา ชาติบุตร (มะลิ) มะลิซ้อน พุด สารภี บุนนาค ประดู่ และแก้ว สมัยอยุธยา

ได้แก่ พะยอม การะเกด มะลิวัลย์ ประยงค์ ลำเจียก กรรณิการ์ อโศก จันทน์ สบันงา (กระดังงา) ชนิดที่นำมาร้อยมาลัย ได้แก่ สายหยุด พุทธชาด ลำดวน มาลุลี (มะลุลี) และจำปา นำมาทำน้ำหอม ได้แก่ กุหลาบมอญ (อรไท ,2541)

ดอกไม้ที่เป็นแหล่งของความหอม มักจะมีกลีบดอกสีขาวหรือสีอ่อน ๆ ดอกบานในช่วงเวลากลางคืน ส่งกลิ่นหอมในยามค่ำคืน ต่างจากดอกไม้ที่ไร้กลิ่นหอมซึ่งบานในตอนกลางวัน ลักษณะของดอกอาจจะเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ ที่ออกตามกิ่ง ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือตามปลายยอด

ลักษณะของต้นมีทั้งที่เป็นไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้รอเลื้อย และไม้น้ำ พรรณไม้ดอกหอมนอกจากจะให้กลิ่นหอมแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง

บางชนิดได้รับความนิยมนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อแสดงลำต้นและทรงพุ่มที่สวยงาม เช่น จำปี จำปา โมก พิกุล กระดังงาสงขลา บางชนิดนำมาปลูกนอกประตูรั้ว ลานบ้าน ประดับสวน เช่น กันเกรา กระทิง บุนนาค ลำดวน มีลำต้นสูงใหญ่ใช้เป็นร่มเงา

นอกจากนี้สามารถนำดอกมาใช้ประโยชน์เป็นพืชสมุนไพร ดังมีชื่ออยู่ในตำราไทยแผนโบราณ เช่น เกสรทั้งห้า เกสรทั้งเจ็ด และเกสรทั้งเก้า

ซึ่งได้มาจากไม้ดอกหอมชนิดต่าง ๆ กัน เช่น มะลิ สารภี บุนนาค บัวหลวง (ปิยะ, 2543) เกสรทั้ง 5 ได้แก่ มะลิ พิกุล สารภี บุนนาค และบัวหลวง เกสรทั้ง 7 ประกอบด้วย มะลิ พิกุล สารภี บุนนาค บัวหลวง จำปา และกระดังงา และเกสรทั้ง 9 ได้แก่ มะลิ พิกุล สารภี บุนนาค บัวหลวง จำปา กระดังงา ลำดวน และลำเจียก (อรไท ,2541)

ตัวอย่างของไม้ดอกหอมที่มีสรรพคุณทางตำรายาไทย ได้แก่ กระดังงาไทย ใช้ใบและเนื้อไม้ต้ม กินเป็นยาขับปัสสาวะ คอกปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน จัดอยู่ในเกสรทั้งเจ็ด คนโบราณใช้ดอกทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำน้ำมันใส่ผม มีการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกมีฤทธิ์ไล่แมลงบางชนิด

กระดังงาสงขลา ใช้ดอกเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต พลับพลึงดอกขาว ใช้ใบสดลนไฟให้อ่อนตัวลง ประคบแก้เคล็ด ยอก ช้ำบวม สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านการเจริญของเนื้องอก ใบและหัวใต้ดิน มีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ ชื่อ Lycoline ซึ่งมีฤทธิ์ต้านทานไวรัส ที่เป็นสาเหตุของโรคโปลิโอ และ หัด

แต่สารนี้มีความเป็นพิษสูง ต้องมีการทดลองต่อไปก่อนนำไปใช้ สารภี ใช้ดอกแห้งปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ชูกำลัง จัดอยู่ในเกสรทั้งห้า พิกุล ใช้ดอกเข้ายาหอม บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จัดอยู่ในเกสรทั้งห้า เปลือกต้นอมกลั้วคอแก้โรคอักเสบ เนื้อไม้ที่ราลงมีสีน้ำตาลเข้มประขาว มีกลิ่นหอมเรียกว่า ขอนดอก ใช้บำรุงตับ ปอด หัวใจ และบำรุงครรภ์(สมุนไพรสวนสิริรุกขชาติ,2535)

ในปี พ.ศ.2528 ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองโดยความคิดริเริ่มของ ผศ.กรึก นฤทุม และ ผศ.ดร.วิชัย ก่อประดิษฐ์สกุล ได้เริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณหน้าศูนย์ฯ สร้างสวนไม้หอม

เพื่อเป็นสถานที่ให้คุณประโยชน์ด้านการศึกษาแก่นิสิต บุคลากรของมหาวิทยาลัย บุคคลทั่วไปรวมถึงชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม้ไทยประเภทดอกหอมจัดเป็นไม้ที่หาดูได้ยากขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

พรรณไม้ดอกหอมจัดเป็นพรรณไม้ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งมีความผูกผันกับคนไทยมายาวนาน ในวรรณกรรมหลายยุคหลายสมัย จะต้องมีบทกวีที่กล่าวถึงพรรณไม้ดอกหอมอยู่เสมอ การใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ดอกหอมหลายชนิด นอกจากจะให้ดอกมีกลิ่นหอมชื่นใจแล้ว ยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร ใช้ผสมเป็นยารักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ และยังสามารถใช้เนื้อไม้ทำเครื่องใช้และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย

พรรณไม้ดอกหอมหลายชนิดพบในป่าธรรมชาติในประเทศไทย บางชนิดเป็นพรรณไม้ดอกหอมถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะถิ่น คือในโลกนี้จะพบขึ้นในธรรมชาติได้ในประเทศไทยเท่านั้น บางชนิดนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ได้ปลูกกันไว้ใช้ประโยชน์มานานมาก

ความรู้ของคนไทยที่ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนานในการใช้ประโยชน์ของพรรณไม้ดอกหอม ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นความภาคภูมิใจของคนรุ่นหลัง ซึ่งนับวันจะมีโอกาสที่จะได้สัมผัสข้อมูลความรู้เหล่านี้น้อยลงไปทุกวัน

ปัจจุบันพรรณไม้ดอกหอมของไทยในธรรมชาติถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยความตั้งใจก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ อีกทั้งประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงพอ จึงขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน

อ้างอิง : สัณฐานวิทยาและการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ดอกหอม ในสวนไม้หอม ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง โดย นายยุทธนา ปานขลิบ

รายละเอียดเพิ่มเติม