✓ต้นไม้: โมกนเรศวร โมกของไทย ณ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตาก?

"โมกนเรศวร" ตั้งชื่อไทยตามแหล่งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนชื่อคำระบุชนิด "poomae" ตั้งเป็นเกียรติแก่ ดร.ราชันย์ ภู่มา หนึ่งในคณะสำรวจพรรณไม้และเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้

โมกนเรศวร

โมกนเรศวร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia poomae D. J. Middleton วงศ์ Apocynaceae ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Gardens' Bulletin Singapore เล่มที่ 61 ฉบับที่ 2 หน้า 376 ปีค.ศ. 2010 

โมกนเรศวร โมกถิ่นเดียวของไทย ทุ่งใหญ่นเรศวร ดอกสีเหลืองอมส้มง ดอกหอม

ตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงต้นแบบ Pooma, Karaket, Pattharahirantricin & Saengrit 6973 (holotype: BKF; isotypes: A, AAU, BKF, E, K, L, SING)

รายละเอียดเพิ่มเติม

โมกนเรศวร เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ในสกุลโมก Wrightia จัดอยู่ในวงศ์โมก Apocynaceae มีเขตการกระจายพันธุ์ พบเฉพาะทางภาคเหนือของไทย ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก นิเวศวิทยา พบขึ้นตามสันเขาในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร ดอกออกเดือนพฤษภาคม

โมกนเรศวร โมกถิ่นเดียวของไทย ทุ่งใหญ่นเรศวร ดอกสีเหลืองอมส้ม ดอกหอม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโมกนเรศวร

ต้นโมกนเรศวร มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 4 เมตร เปลือกสีเขียวปนเทา กิ่งอ่อนมีขนละเอียด ใบ รูปไข่หรือรูปรี ยาว 2.3-12 ซม. ปลายใบแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนใบมนหรือแหลม แผ่นใบมีขนละเอียดกระจายตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น ก้านใบยาว 2-5 มม.

ดอกโมกนเรศวร ออกดอกเป็นช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ก้านช่อยาวได้ประมาณ 1 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 2.5-7 มม. กลีบเลี้ยง รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 4.5 มม. ปลายมน มีขนละเอียดปกคลุม สีเขียวเข้ม ไม่มีต่อมที่โคนกลีบ

กลีบดอกบานรูปกงล้อ มี 5 กลีบ หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2.7 มม. มีปุ่มเล็กๆ ด้านใน กลีบดอกรูปรี ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายตัด มีปุ่มเล็กๆ ด้านในและด้านนอก ดอกมีกลิ่นหอม

โมกนเรศวร โมกถิ่นเดียวของไทย ทุ่งใหญ่นเรศวร ดอกสีเหลืองอมส้ม ดอกหอม

เมื่อดอกบานใหม่ ๆ ดอกสีเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นดอกสีส้มอมเหลือง แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นดอกสีแดงซีดๆ ก่อนจะร่วงโรย

ลักษณะเด่นของดอกโมกนเรศวร คือ เกสรตัวผู้โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกอย่างชัดเจน เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูสีเหลือง โคนเป็นเงี่ยงลูกศร รังไข่เกลี้ยง มีกระบังสีส้มเข้มกว่ากลีบดอกเล็กน้อย มีกระบัง 3 ชั้น คือ

  • กระบังหน้ากลีบดอก ยาวประมาณ 6.5 มม. โคนเชื่อมติดกลีบดอกประมาณ 1 ใน 3 ปลายเป็นชายครุย
  • กระบังระหว่างกลีบดอก ยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก
  • กระบังย่อย ที่อยู่ระหว่างกระบังทั้งสอง ขนาดเล็กติดอยู่ที่โคนกลีบดอก

ดอกโมกนเรศวร มีลักษณะคล้ายกับ "ดอกโมกมัน" Wrightia pubescens R.Br. (ซึ่งมีกระบัง 2 ชั้น และผลเชื่อมติดกัน) และดอกยังคล้ายกับ "ดอกโมกกวางตุ้ง" Wrightia kwangtungensis Tsiang (ซึ่งพบในจีนและเวียดนาม มีกระบัง 3 ชั้น แต่กลีบเลี้ยงขนาดเล็กกว่า มีต่อมที่โคน กลีบดอกยาวกว่า)

ผล(ฝัก)โมกนเรศวร ยังไม่เคยพบ

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  2. Middleton, D.J. (2010). Three new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 61 (2): 369-378.
  3. ที่มาภาพ : ปรีชา การะเกตุ