ต้นตาเบบูญ่าเหลือง เหลืองปรีดียาธร ประวัติ ความหมาย ที่มาของชื่อ แต่ละสายพันธุ์?
ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี เมื่อขับรถเดินทางไปไหน มักจะได้พบเห็นต้นไม้ออกดอกสีเหลืองสด เป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกบานสีเหลืองอร่าม บานสะพรั่ง ตลอดสองข้างทาง หรือ ตามเกาะกลางถนนบางสาย ในหลายๆ แห่ง ดูสดใสสวยงาม น่าประทับใจมาก เจ้าดอกไม้สีเหลืองอร่าม บนต้นไม้สองข้างทางริมถนน นั้นก็คือดอกของต้น "เหลืองปรีดียาธร" นั่นเอง ...
ตาเบบูญ่า 'เหลืองปรีดียาธร'
ชื่อว่า "เหลืองปรีดียาธร" แม้ชื่อเรียกอาจจะฟังดูเป็นชื่อไทย ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่พรรณไม้ไทยอย่างที่บางคนเข้าใจผิดกันนะครับ แต่เป็นพรรณไม้ต่างถิ่น อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae ที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ ทางอเมริกาใต้ แถบประเทศปารากวัย อาร์เจนตินา และบราซิล
ที่มาของชื่อ "เหลืองปรีดียาธร"
จากบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ให้สัมภาษณ์แก่ โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2558 โดยเล่าถึงที่มาที่ไป ว่าชื่อ “เหลืองปรีดียาธร” นี้มีมาได้ 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะประกาศลดค่าเงินบาท
โดยเริ่มต้นจากที่คุณวิชัย อภัยสุวรรณ เจ้าของคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้นำต้นไม้พันธุ์ในสกุล Tabebuia (คนไทยอ่านออกเสียงว่า "ตาเบบูญ่า") เข้ามาจากประเทศเม็กซิโก โดยนำเข้ามาพร้อมกัน 5 สายพันธุ์ และต้องการนำแต่ละพันธุ์ไปจดทะเบียนกับกรมป่าไม้ เพื่อตั้งชื่อเป็นภาษาไทย
"ซึ่งต้นตาเบบูญ่าที่มีดอกสีเหลือง ลักษณะต้นมันสูง และดอกมันเยอะแกก็ว่ามันเหมือนดอกเบี้ย คุณวิชัยเลยนึกถึงผม เพราะตอนนั้นผมอยู่แบงก์กสิกรไทย แกโทรมาหาผมที่แบงก์ บอกว่าขอยืมชื่อผมไปจดเป็นชื่อที่กรมป่าไม้ ผมก็บอกว่าด้วยความเต็มใจ รู้สึกเป็นเกียรติเลยสิ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักด้วย ผมก็ยิ่งชอบใหญ่เลย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็ได้ชื่อไปตามชื่อของหม่อมราชวงศ์ท่านต่าง ๆ ดังนี้
- ต้นตาเบบูญ่า ดอกสีชมพู ชื่อ ชมพูพันธุ์ทิพย์ (ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร)
- ต้นตาเบบูญ่า ดอกสีเหลือง ชื่อ เหลืองคึกฤทธิ์ (ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)
- ต้นตาเบบูญ่า ดอกสีเหลือง ชื่อ เหลืองถนัดสี (ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์)
- ต้นตาเบบูญ่า ดอกสีเหลือง ชื่อ เหลืองถวัลภากร (ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.ถวัลภากร วรวรรณ)
- ต้นตาเบบูญ่า ดอกสีเหลือง ชื่อ เหลืองปรีดิยาธร (ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล)
ต้นเหลืองปรีดียาธร เป็นไม้ผลัดใบ ช่วงเวลาที่จะออกดอก จะผลัดใบร่วงจนเกือบหมด แล้วออกดอกสีเหลืองอร่ามเต็มต้นเลย ซึ่งภาพดอกเหลืองปรีดียาธรในบทความนี้ ถ่ายรูปจากริมทางข้างถนนกาญจนาภิเษก(วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก)
และหลังจากที่ผมถ่ายรูปดอกเหลืองปรีดียาธร จนพอใจแล้ว พอดีมีคุณพี่อีกท่านหนึ่ง แวะมาจอดรถข้างทาง แล้วถือกล้องถ่ายรูป ลงมาถ่ายรูปดอกตาเบบูญ่าต้นนี้ด้วยเช่นกัน ดีใจจัง! ที่ยังมีคนมองเห็นความงดงามของดอกไม้ริมทางข้างถนนแบบนี้ ด้วยเหมือนกัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
สกุล 'ตาเบบูญ่า' Tabebuia Gomes ex DC. มีประมาณ 100 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน บางครั้งแยกเป็นสกุล Handroanthus และ Roseodendron (ชื่อสกุลตาเบบูญ่า Tabebuia มาจากชื่อพื้นเมืองในบราซิล “tabebuia” หรือ “tabebuya” หมายถึง ต้นไม้ที่มีมด)
พรรณไม้สกุลตาเบบูญ่า ในเมืองไทย
- กลุ่มตาเบบูญ่า ดอกสีชมพู เช่น แตรชมพู Tabebuia pallida (Lindl.) Miers และ ชมพูพันธุ์ทิพย์ Tabebuia rosea (Bertol.) Bertero ex A.DC.
- กลุ่มตาเบบูญ่า ดอกสีเหลือง เช่น เหลืองอินเดีย Tabebuia chrysantha (Jacq.) G. Nicholson หรือ Tabebuia ochracea (Cham.) Standl. subsp. neochrysantha (A. H. Gentry) A. H. Gentry และ Tabebuia chrysotricha (Mart. ex DC.) Standl. เป็นต้น
เหลืองปรีดียาธร มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Tabebuia aurea (Silva Manso) Benth. & Hook.f. ex S.Moore อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae มีชื่ออื่นว่า ตาเบบูญ่าเหลือง, เหลืองหลวง ส่วนชื่อสามัญ เป็น ภาษาอังกฤษ ว่า Silver trumpet tree, Tree of gold และ Paraguayan silver trumpet tree
ต้นเหลืองปรีดียาธร มีลักษณะไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. เปลือกหนาเป็นคอร์ก
ใบรูปฝ่ามือ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5–9 ใบ ก้านใบประกอบยาว 4–9 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 1–14 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มกว้าง มนหรือเว้าตื้น แผ่นใบหนา มีเกล็ดสีเงินรูปโล่ทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาว 1–5 ซม. ด้านบนเป็นสันคมทั้งสองข้าง ใบคู่ล่างขนาดเล็ก โคนสอบเรียว ก้านสั้น ใบอ่อนสีน้ำตาลเข้ม
ดอกเหลืองปรีดียาธร ออกดอกเป็นช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูประฆัง หนา ยาว 0.8–1.7 ซม. แยก 2 แฉกตื้น ๆ ด้านนอกมีเกล็ด ดอกสีเหลืองรูปแตร ยาวได้ถึง 8 ซม. ปลายแยก 5 กลีบ รูปกลม เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอด เกสรเพศผู้เป็นหมัน 1 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียไม่ยื่นพ้นปากหลอด ยอดเกสรแยก 2 แฉก
ฝักเหลืองปรีดียาธร ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก รูปขอบขนาน ยาว 8–15 ซม. ไม่มีสัน มีเกล็ดปกคลุมหนาแน่น เมล็ดบาง มีปีกบางทั้งสองด้าน
ชื่อพ้อง : Bignonia aurea Silva Manso, Tabebuia argentea (Bureau & K.Schum.) Britton