✓ต้นไม้: 'ด้ามมีด' ไม้พื้นเมืองไทย ไม้ดอกหอมในวงศ์กระดังงา?
ต้น"ด้ามมีด" เป็นพรรณไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทยที่มีชื่อแปลก ชื่อนี้มีที่มาจากลักษณะผล ที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก เปลือกหนาแข็ง และมีรอยคอดตามขวาง เหมือนเป็นร่องนิ้ว เมื่อจับผลจึงรู้สึกกระชับมือ เหมือนกับด้ามมีด หรือด้ามปืน จึงได้รับการตั้งชื่อเรียกขานว่า "ด้ามมีด" นั่นเอง
ต้นด้ามมีด
ต้นด้ามมีด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyathocalyx martabanicus Hook.f. & Thomson เป็นพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา
ภาพ* : Marty Siamocananga
มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่ระดับความสูง 200-750 ม. ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี
ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวหรือนักสำรวจพรรณไม้ต้องการชื่นชมความงามของต้นด้ามมีด หรือต้องการเห็นลักษณะผลของพรรณไม้ชนิดนี้ ก็จะต้องเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ดังกล่าว
ประโยชน์ของด้ามมีดนั้นมีหลายอย่าง ชาวบ้านนิยมนำไปทำสมุนไพรพื้นบ้าน หรือปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา เพราะด้ามมีดเป็นพรรณไม้ที่มีทรงพุ่มแน่นทึบและมีใบหนาจำนวนมาก
นอกจากนี้ด้ามมีดยังเหมาะแก่การนำไปปลูกเพื่อยึดหน้าดิน เพราะเป็นพรรณไม้ที่มีระบบรากดี จึงช่วยยึดหน้าดินริมลำธารบนภูเขาและพื้นที่ลาดชันได้ดี
ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีใครรู้จักพรรณไม้ชนิดนี้มากนัก จึงควรมีการส่งเสริมให้ปลูกมากยิ่งขึ้น โดยเก็บเมล็ดจากผลแก่ที่ร่วงหล่นอยู่ เพาะเป็นต้นกล้าแล้วปลูกรวมกันให้เป็นแปลงใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ท่องเที่ยว ให้มีคนมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ได้ชื่นชมกับดอกหอมและรูปร่างแปลกตา
ลักษณะพรรณไม้ของต้นด้ามมีด
ต้นด้ามมีด มีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-20 ม. เปลือกหนา สีน้ำตาลเข้ม โคนลำต้นเป็นพูพอน แตกกิ่งน้อย มีใบเฉพาะที่ปลายกิ่ง ทรงพุ่มแน่นทึบ เนื้อไม้เหนียวมาก
ใบรูปรี กว้าง 6-9 ซม. ยาว 12-17 ซม. โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม เนื้อใบหนา แข็ง กรอบ เส้นแขนงและเส้นกลางใบด้านล่างนูนเด่นชัด ขอบใบเป็นคลื่น
ดอกด้ามมีด ออกดอกเป็นกระจุก 2-3 ดอก ออกตามกิ่งบริเวณตรงข้ามใบ ดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาว 3-4.5 ซม. ดอกส่งกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกบานเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
ผลด้ามมีด รูปทรงกระบอก เปลือกหนาแข็ง กว้าง 3 ซม. ยาว 4-6 ซม. มีรอยคอดตามขวางจับได้กระชับมือเหมือนด้ามมีดหรือด้ามปืน เมล็ดเรียง 2 แถว มี 10 เมล็ด
เมล็ดรูปกลมแบน ตรงขอบเป็นรอยเว้า เปลือกเรียบ สีน้ำตาลเข้ม ขนาด 4-7 มม. การขยายพันธุ์ด้ามมีด สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด
อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552