✓ต้นไม้: สลัดไดป่า(สลัดได) สมุนไพรไทย ประโยชน์ สรรพคุณ?
ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "สลัดไดป่า" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) และยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น สลัดได, หงอนเงือก, กะลำพัก, กระลำพัก, กะลำภัก, กาลำพัก, เคียะเลี่ยม, หงอนงู, เคียะผา เป็นต้น
สลัดไดป่า
สลัดไดป่า มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค
นิเวศวิทยา ถิ่นที่อยู่อาศัย พบขึ้นตามร่มเงาของป่าดิบแล้ง บนโขดหิน หรือตามซอกหินบนเขาหินปูน หินทรายหรือหินแกรนิต หาดทรายริมทะเล และตามเกาะแก่งทางภาคใต้ของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-250 เมตร ทนแล้งและทนร้อนได้ดีมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ, ชื่อพ้อง
- สลัดไดป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Euphorbia antiquorum L.
- อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae
- มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Malayan spurge tree
-
ชื่อพ้อง (Synonyms) :
- Euphorbia mayuranathanii Croizat
- Tithymalus antiquorus (L.) Moench
ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ สลัดไดป่า
ต้นสลัดไดป่า มีลักษณะเป็น ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม้อวบน้ำ สูงได้ถึง 8 เมตร ขนาดเส้นรอบวงยาวได้ถึง 22 เซนติเมตร แตกกิ่ง อวบน้ำ มียางสีขาวข้น ลำต้นแก่มักจะกลม เปลือกสีน้ำตาล
ต้นอ่อนเปลือกเรียบ สีเขียว ลำต้นและกิ่งมี 3-4 สันเหลี่ยม เห็นเป็นข้อชัดเจน กว้าง 2-5 ซม. ยาว 6-30 ซม. หูใบเปลี่ยนรูปเป็นหนาม หนามสีดำ ยาว 3-6 มม. ออกเป็นคู่ เรียงเป็นแถว ติดทน
ใบสลัดไดป่า เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับตามแนวสันหรือเหลี่ยมรูปไข่กลับ กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร ปลายโค้งกว้าง หรือเว้าเล็กน้อยโคนแหลม ขอบเรียบ ใบหลุดร่วงง่ายมาก
ดอกสลัดไดป่า ดอกแบบช่อรูปถ้วย ออกดอกเดี่ยว ๆ หรือ ออกเป็นช่อกระจุกซ้อน ตามซอกใบ ช่อละ 3 ดอก ยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร ดอกแยกเพศร่วมต้น มีใบประดับ 2 ใบ เรียงตรงข้ามกันมีใบประดับย่อยรูปครึ่งวงกลมติดอยู่รอบดอกดอกเพศผู้มีหลายดอก
เกสรเพศผู้มี 4-30 อัน อับเรณูกลม ติดอยู่ที่ปลายก้านเกสรเพศเมีย ดอกเพศเมียมีดอกเดียว ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือพฤษภาคมถึงสิงหาคม
ผลสลัดไดป่า ผล รูปเกือบกลมถึงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 มิลลิเมตร ผลแบบแยกแล้วแตก สีส้มอมสีเหลืองเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมม่วงเมื่อแก่ กว้าง 6.5-7 มม. ยาว 4-4.5 มม. ก้านผลยาว 1-3 มม.
เมล็ดสลัดไดป่า เมล็ดรูปรีสีน้ำตาลแกมสีเทา กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 2.5 มม. ติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน หรือกรกฎาคมถึงธันวาคม
ประโยชน์ สลัดไดป่า สรรพคุณ ทางสมุนไพร
ชื่อสมุนไพร กระลำพัก (KRALUMPAK) กระลำพักเป็นแก่นแห้งสีดำและมีกลิ่นหอมของต้นสลัดไดป่า ส่วนที่ใช้ทำยา ลักษณะเครื่องยาของกระลำพักเป็นชิ้นส่วนของแก่นแห้งรูปร่างไม่แน่นอน สีดำกลิ่นหอมอ่อน รสขม
สรรพคุณของแต่ละส่วนที่ใช้ทำยา ตำราสรรพคุณยาไทยว่า กระลำพักมีรสขมหอมมันเย็นใช้แก้ลมอังคมังคานุสารี (ลมที่พัดทั่วร่างกายตั้งแต่กระหม่อมถึง ปลายเท้า) แก้ตรีสมุฏฐาน แก้โลหิตโทษ แก้พิษเสมหะโลหิตและมูกเลือด บำรุงตับและปอดทำให้มีกำลัง บำรุงครรภ์ เป็นต้น
รายงานการวิจัยในปัจจุบัน ข้อมูลการศึกษาว่าพรีคลีนิกพบว่า กระลำพักมีสารกลุ่มไดเทอร์พีนอยด์บางชนิด เช่น ดีออกซีแอนทิควอริน แอนทิควอริน มีพิษต่อเซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลองและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอด และปากมดลูก
สารสำคัญ องค์ประกอบทางเคมีของกระลำพักมีสารกลุ่มไดเทอร์พีนอยด์ (diterpenoids) ที่สำคัญได้แก่ ดีออกซีแอนทิควอริน (deoxyantiquorin) แอนทิควอริน (antiquorin) และ โจลคิโนไลด์เอ (jolkinolide A) เป็นต้น และกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์เช่น ทาราซีรอล (taraxerol) เป็นต้น
สรรพคุณ สลัดไดป่า
- น้ำยาง : รักษากลาก-เกลื้อน
- แก่นไม้ตายที่มีเชื้อรา (กะลำพัก) : บำรุงหัวใจ แก้ความดันโลหิตสูง กิ่งสด : รักษาแผลน้ำร้อนลวก
- ตำรับ ยาไข้กำเดาใหญ่ แก้ไข้กำเดาใหญ่
- ตำรับ ยาเทพมงคล แก้ไข้ตัวร้อน ถอนพิษไข้ ไข้กาฬ, แก้อาการชัก-ลิ้นกระด้างคางแข็ง-แน่นิ่งหน้าเปลี่ยนสี-มีอาการมึน-กระหายน้ำหอบพัก, แก้โรคหละ-โรคละออง-โรคซางในเด็ก
- ตำรับ ยาบำรุงเลือด/หัวใจ/ร่างกาย บำรุงเลือด ดูมีเลือดฝาด บำรุงหัวใจ บำรุงร่างกายทั้งชาย-หญิง แก้อาการซูบผอม
- ตำรับ ยาบำรุงโลหิตระดู บำรุงโลหิตระดู
- ตำรับ ยาละลายลิ่มเลือด ช่วยละลายลิ่มเลือด บรรเทาอาการเส้นเลือดตีบ
- ตำรับ ยาหอม (สูตรพื้นบ้าน) แก้เป็นลม วิงเวียนศรีษะ หน้ามืดตาลาย
- ตำรับ ยาหอมนวโกฐ แก้คลื่นเหียนอาเจียน วิงเวียน ลมจุกแน่นในอก แก้ลมปลายไข้ แก้อาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว หรือครั่นเนื้อครั่นตัว ร้อนวูบวาบเหมือนจะเป็นไข้ บำรุงประสาท
- ตำรับ ยาหอมอินทจักร์ แก้คลื่นเหียนอาเจียน หน้ามืดจะเป็นลม ลมจุกเสียดแน่นหน้าอก แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปรับระบบการหมุนเวียนเลือดให้ดี ช่วยบำรุงหัวใจ
คำเตือน : การใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค ผู้ที่ยอมรับแนวทางการรักษานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ การนำยาสมุนไพรมาใช้จะต้องได้รับคำปรึกษา การจัดยา วิธีการปรุง และวิธีการใช้ โดยแพทย์แผนไทยหรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดมีพิษ มีวิธีการกำจัดพิษหรือปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันไป
วิธีปลูก สลัดไดป่า และการขยายพันธุ์
พื้นที่เหมาะสมในการปลูกต้นสลัดไดป่า ในประเทศไทย ลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก ต้องเป็นพื้นที่เชิงเขาค่อนข้างจะแห้งแล้ง เป็นหิน หรือดินลูกรังก็ได้ สลัดไดไม่ชอบที่ลุ่มมีน้ำขัง ส่วนใหญ่จะเป็นที่ภูเขา ทุกภาคของประเทศไทย จังหวัดที่มีภูเขาเป็นส่วนใหญ่แทบทุกภาค เช่น ปราจีนบุรี สระแก้ว ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์
การคัดเลือกพันธุ์ (สลัดไดป่า พันธุ์ต่าง ๆ ที่นิยมปลูกในประเทศไทย) พันธุ์สลัดไดป่าที่ใช้เป็นยา คือ สลัดไดสามเหลี่ยม, สลัดไดใบเสมา
การขยายพันธุ์สลัดไดป่า ขยายพันธุ์โดยการปักชำ และการเพาะเมล็ด
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก ฤดูกาลเพาะปลูก ปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ถ้าปลูกฤดูแล้ง ควรรดน้ำในช่วงแรก การเตรียมดิน ไม่ต้องเตรียมดิน โดยทำการขุดหลุมลึก 15-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม 1 กำมือ หลุมควรห่างกัน 1 เมตร ขึ้นไป
วิธีปลูก สลัดไดป่า
วิธีปลูกต้นสลัดไดป่า เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว ตัดสลัดได ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ฝังลงไปในหลุมประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วกลบดินให้แน่น ช่วงปลูกหน้าแล้ง ควรรดน้ำเพื่อให้สลัดไดงอกรากได้ดีแต่ปลูกฤดูฝน ไม่ต้องรดน้ำขุดฝังได้เลย
การดูแล ต้นสลัดไดป่า
- การให้ปุ๋ย สลัดไดป่า ใช้ปุ๋ยคอกในระยะแรกเท่านั้นก็พอ
- การให้น้ำ สลัดไดป่า ไม่ต้องการน้ำมาก ถ้าปลูกเป็นแล้วก็ไม่ต้องการน้ำตลอดปีเพราะเป็นพืชอวบน้ำ
- การกำจัดวัชพืช ควรทำครั้งแรกหลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน โดยการเอาจอบดายวัชพืชออก แล้วพรวนดินถอนโคน ให้แน่น เพื่อป้องกันการล้มของต้น
- การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูสลัดไดป่า ไม่พบโรค และแมลงศัตรู
การใช้ประโยชน์ สลัดไดป่า ทางด้านสมุนไพร
- ฤดูกาลการเก็บเกี่ยว ไม่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยว แล้วแต่ความเหมาะสม
- วิธีการเก็บเกี่ยว เมื่อสลัดไดโตเต็มที่ ทำการกรีดเอายาง โดยหาภาชนะรองให้จะเป็นถ้วย หรือกะละมังแล้วนำไป ตากแดดอบแห้งส่งจำหน่ายได้เลย ส่วนแก่นสลัดไดเป็นแก่นแข็งอยู่ด้านใน อายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป ต้นจะตายลง แต่แก่นแข็ง ๆ ยังอยู่ มีลักษณะเหมือนไม้แห้งๆ สีน้ำตาล มีกลิ่นหอม และบำรุงหัวใจ เมื่อได้ต้นหรือแก่นของสลัดไดมาแล้ว ก็นำไปแปรรูปต่อไป
- การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อได้ยางสลัดไดมาแล้วตากแดดให้แห้งสนิทอบอีกครั้งก็ได้จนแห้ง ส่วนแก่นสลัดได ที่เรียกว่า กระลำพัก นำมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก แล้วนำไปตากแดดจนแห้งสนิท
- การบรรจุและการเก็บรักษา เมื่อยางสลัดไดหรือแก่นสลัดไดแห้งสนิทแล้ว นำบรรจุถุงแล้วมัดปากให้เรียบร้อย เพื่อส่ง จำหน่ายต่อไป เก็บไว้ในห้องอุณหภูมิปกติ
อ้างอิง