✓ต้นไม้: ข้าวหลามดง พรรณไม้ดอกหอมของไทย วงศ์กระดังงา?
"ข้าวหลามดง" ไม้ดอกหอมของไทย จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา ดอกข้าวหลามดง เมื่อดอกออกใหม่ๆ ดอกจะสีเขียวอ่อนๆ ยังไม่มีกลิ่นหอม แต่เมื่อดอกสุก (ดอกบานเต็มที่) ดอกจะเริ่มเปลี่ยนสี เป็น ดอกสีเหลือง ดอกสีส้ม ดอกสีแดงอมส้ม หรือ ดอกสีชมพู เป็นต้น
ข้าวหลามดง
ต้นข้าวหลามดง มี ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Goniothalamus laoticus ( Finet & Gagnep.) Bân เป็นไม้ไทย ที่น่าสนใจมาก ทรงพุ่มสวยงาม ออกดอกตามลำต้นและกิ่ง ดอกน่ารัก และมีกลิ่นหอมหวานๆ ชื่นใจ กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำตาลเมา เหล้าสาโท (*กลิ่นหอมแนว ๆ นี้ ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ)
มีบางคนเรียกต้นข้าวหลามดง เป็นชื่อสั้นๆ แค่ว่า "ข้าวหลาม" จึงอาจทำให้สับสนกับต้น"ข้าวหลาม" Goniothalamus tamirensis (หรือบางคนเรียกว่า ต้นข้าวหมาก) ซึ่งเป็นคนละชนิดกัน แต่อยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะต้นและดอกแตกต่างกัน
ดังนั้นจึงควรเรียกชื่อให้ถูกต้องด้วยนะครับ จำไว้ว่า ต้นข้าวหลามดง กับ ต้นข้าวหลาม ไม่เหมือนกัน เป็นคนละชนิดกัน เข้าใจตรงกันนะครับ
ต้นข้าวหลามดง เป็นไม้พื้นเมืองของไทย มีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 3-8 เมตร เป็นทรงพุ่มโปร่งๆ ตามกิ่งอ่อนและใบเกลี้ยง มีขนเฉพาะที่ยอดอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน
ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามลำต้นหรือกิ่งใหญ่ ดอกสีขาวอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้มเมื่อใกล้โรย กลีบดอกหนา รูปไข่ปลายแหลม ผลรูปทรงกระบอก ติดเป็นผลกลุ่ม ผิวเกลี้ยง
ต้นข้าวหลามดง มีถิ่นอาศัยที่พบได้ตามริมห้วย หรือที่ราบในป่าดงดิบแล้ง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 900 ม. ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง
ปลูกเลี้ยงง่าย ปลูกได้ทั้งกลางแจ้ง แดดรำไร หรือ แสงแดดครึ่งวัน ขนาดต้น ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป จึงเหมาะสำหรับปลูกเพื่อให้ร่มเงาในบ้านได้ดี ช่วยสร้างบรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย แบบไทยๆ
นอกจากนี้ ต้นข้าวหลามดง ยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร โดยใช้ รากหรือเนื้อไม้ สำหรับบำรุงร่างกาย (คำเตือน : การใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค ผู้ที่ยอมรับแนวทางการรักษานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ)
การเลือกซื้อ ต้นข้าวหลามดง
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อน ว่า ต้นข้าวหลามดง ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด อาจจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมได้ คืออาจมีลักษณะดอกและสีดอก ที่แตกต่างกัน
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อ จึงควรทราบข้อมูลต้นไม้ ทราบที่มา จาก เพาะเมล็ด? ทาบกิ่ง/เสียบยอด? หรือ เลือกซื้อกับผู้ขายที่จริงใจ เชื่อถือได้ ไม่มั่ว!
ถ้าชัวร์ๆ ก็ควรเลือกซื้อต้นที่กำลังออกดอก ยิ่งดี (หรือ ต้นที่เคยออกดอกให้เห็นมาแล้ว ถ่ายรูปไว้) จะได้เลือกลักษณะกลีบดอก สีดอก ได้ตามต้องการ ยิ่งถ้าได้ดมกลิ่นหอม ด้วยจมูกตัวเองได้ ก็ยิ่งดี
จะได้ไม่ต้องผิดหวัง เสียความรู้สึกกันในภายหลัง แต่ถ้าใครชอบแบบว่า อยากรอลุ้นดอกเอาเอง ดอกแบบไหนก็ได้ ก็เลือกตามใจชอบเลยครับ ^_^
อ้างอิง : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้