Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

จำปีช้าง จำปีที่มีฝักขนาดใหญ่ที่สุด ในสกุลแมกโนเลีย ไม้ดอกหอมไทย ลักษณะเด่น?

หลายคนอาจสงสัยและอยากถามว่า ทําไมจําปีชนิดนี้ จึงมีชื่อว่า "จําปีช้าง" คําตอบก็คือมีผลขนาดใหญ่ที่สุด(ในโลก) ในจําพวกจำปีจําปาด้วยกัน ผลมีลักษณะกลมรียาว 5-7.5 ซม. แต่กว่าจะมาเป็น "จําปีช้างนี้เป็นจําปีชนิดใหม่ของโลก" มีความเป็นมาอย่างไรเป็นเรื่องน่ารู้ เราลองมาติดตามบันทึกของจําปีช้างกันดีกว่า...

จำปีช้าง

จําปีที่เรารู้จักกันเป็นพรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae หรือที่เรียกว่าไม้วงศ์จําปา เคยจัดอยู่ในสกุล (Genus) Micheliaโดย Dandy มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2470

จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2543 ได้มีการยุบเป็นสกุลย่อยรวมเข้าไปไว้ในสกุล Magnolia (Figlar, 2000) โดยมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากสกุลย่อยอื่นๆ คือออกดอกที่ซอกใบ จากข้อกําหนดในการเรียกชื่อระบุว่า "จําปีมีดอกสีขาว ส่วนจําปามีดอกสีเหลืองหรือสีอื่นๆ"

จำปีช้าง ไม้ดอกหอมถิ่นเดียวของไทย ผล/ฝักใหญ่ที่สุดในสกุลจำปี ดอกหอมแรง

พรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae มีอยู่ทั่วโลก 220 ชนิด (Frodin and Govaerts, 1996) มีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 20 ชนิด เช่น จําปา จําปีป่า ทังเก มณฑาดอย มณฑาป่า มณฑาภู แก้วมหาวัน ฯลฯ เป็นพรรณไม้พื้นเมืองที่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วประเทศ

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในป่าที่มีความชื้นสูงและอยู่ในพื้นที่ระดับสูงที่เรียกว่าป่าดิบเขา มีเพียงชนิดเดียวของไทยและของโลกที่สามารถขึ้นอยู่ได้ในพื้นที่น้ำแช่ขัง คือ "จําปีสิรินธร" ซึ่งมีการประกาศการค้นพบไปในปี พ.ศ. 2543 หลังจากนั้นก็มีการประกาศการค้นพบจําปีชนิดใหม่ของโลกอีกครั้งในปีพ.ศ. 2545 คือ "จําปีศรีเมืองไทย" (ปิยะ, 2545)

ในการเก็บตัวอย่างจําปีของศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 จาก อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ ที่ระดับความสูง 1,200 ม. แล้วนําตัวอย่างแห้งมาเก็บไว้ในหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (BKF) ได้จําแนกชื่อว่า Michelia tignifera

ต่อมา ชื่อระบุชนิด tignifera ถูกยุบเป็นชื่อพ้องของชื่อระบุชนิด lacei เนื่องจากเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง และหลังจากปี พ.ศ. 2543 เมื่อมีการยุบสกุล Michelia เข้าไปไว้ในสกุล Magnolia จําปีชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า Magnolia lacei (W.W.Sm.) Figlar

จากการสํารวจพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จําปาทั่วประเทศของผู้เขียน ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

ได้เก็บตัวอย่างในปี พ.ศ. 2541 ที่เป็นกิ่งยอด ใบ ดอก ผลและเมล็ดของจําปีช้าง จากต้นเดิมที่ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ เคยเก็บในปี พ.ศ. 2533 มาตรวจสอบอย่างละเอียด และเมื่อนําไปเทียบกับตัวอย่างต้นแบบ (holotype) ของ Magnolia lacei (W.W.Sm.) Figlar ที่อยู่ในหอพรรณไม้ของประเทศจีน พบว่าเป็นคนละชนิดกัน

จำปีช้าง ไม้ดอกหอมถิ่นเดียวของไทย ผล/ฝักใหญ่ที่สุดในสกุลจำปี ดอกหอมแรง

เนื่องจากมีความแตกต่างกันหลายประการ และเมื่อได้ตรวจสอบซ้ำ โดย Dr. Hans P. Nooteboom นักพฤกษศาสตร์แห่งหอพรรณไม้ไลเดนประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงได้ร่วมมือกันตั้งชื่อเป็นจำปีชนิดใหม่ของโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia citrata Noot. & Chalermglin อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae

รายละเอียดเพิ่มเติม

ชื่อระบุชนิด citrata ตั้งขึ้นเนื่องจากเยื่อหุ้มเมล็ดมีกลิ่นเหมือนตะไคร้รุนแรงมาก (Chalermglin & Nooteboom, 2007) ตีพิมพ์รายงานการตั้งชื่อ ในวารสาร BLUMEA ฉบับที่ 52 หน้า 559-562 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550

และได้ประกาศแถลงข่าวการค้นพบเมื่อวันที่ 17 มี นาคม พ.ศ.2551 ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เมื่อครั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าเยี่ยมชมการดําเนินงานของ วว. เทคโนธานีคลองห้า จ.ปทุมธานี

ลักษณะของต้นจําปีช้าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-35 ม. เปลือกลําต้นหนาและมีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยวเรียงเวียนรอบกิ่ง ใบรูปรีจนถึงเกือบกลม แผ่นใบหนาและเหนียว กว้าง 12-18 ซม. ยาว 20-25 ซม.

มีใบเกล็ดหุ้มยอดอ่อน แต่ไม่มีรอยแผลบนก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกดอกที่ซอกใบ ดอกสีขาว กลีบดอกมี 9-12 กลีบ ผลกลุ่มมีผลย่อย 2-8 ผล ผลกลมรี ยาว 5-7.5 ซม. เปลือกผลหนามากและมีช่องหายใจเป็นจุดนูนเด่นสีขาวกระจายทั่วผล

ลักษณะเด่นของจําปีช้าง ที่สังเกตได้ง่าย คือมีใบรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนา คล้ายใบสะท้อน มีผลขนาดใหญ่ที่สุดในพวกจําปีจําปา และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีกลิ่นคล้ายตะไคร้แต่กลิ่นรุนแรงมาก

มีสถานภาพของจําปีช้างในถิ่นกําเนิด จัดเป็นพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีต้นแม่พันธุ์เหลืออยู่ในถิ่นกําเนิดเพียงไม่กี่ต้น มีกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะบนยอดเขาสูง มากกว่า 1,200 ม. ใน จ.เชียงใหม่ เลย และน่าน

การขยายพันธุ์จําปีช้าง โดยวิธีการเพาะเมล็ดทําได้ยากมาก เนื่องจากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำมาก ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ วิธีการขยายพันธุ์ที่ได้ผลดีคือ การทาบกิ่งโดยใช้ต้นจําปาเป็นต้นตอ

ถึงแม้ว่าจําปีช้างจะมีถิ่นกําเนิดอยู่บนภูเขาสูง มีลมพัดแรงและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี แต่เมื่อขยายพันธุ์และนํามาทดลองปลูกแล้วพบว่า สามารถปลูกให้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งตามพื้นราบในภาคกลางที่ไม่มีน้ำขังแฉะ

อ้างอิง: หมายเหตุนิเวศวิทยา ปีที่2 ฉบับที่1 มกราคม-มีนาคม 2551 โดย ปิยะ เฉลิมกลิ่น, พัชรินทร์ เก่งกาจ, จิรพันธ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

จำปีช้าง Magnolia citrata Noot. & Chalermglin

เป็นเวลาเกือบ10 ปีแล้ว ที่คนไทยได้รู้จักกับจำปีชนิดใหม่ของโลกที่ชื่อ จำปีช้าง จำปีแสนสวยชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย และในธรรมชาติมีสภาพเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์

แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะของคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งนำทีมโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้แกะรอยการสำรวจเข้าไปจนพบถิ่นกำเนิดของจำปีชนิดนี้ ช่วยให้จำปีช้างซึ่งไม่มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมานานกว่า 50 ปีแล้ว สามารถขยายพันธุ์ได้จนมีจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้น และปลูกเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ

จำปีช้างเป็นพรรณไม้ในวงศ์จำปา (Magnoliaceae) สกุล Magnolia พบได้ในบริเวณป่าดิบเขาที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 1,200 ม. ในจังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเลย

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าจำปีช้างนั้นก็เป็นเพราะว่า จำปีชนิดนี้มีผลขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับจำปีชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โดยมีขนาดผลยาว 7-8 ซม.

นอกจากนี้ จำปีช้างยังมีลักษณะเด่นอื่นๆ ต่างจากจำปีทั่วไป เช่น ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนาคล้ายใบกระท้อน เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีแดง กลิ่นคล้ายตะไคร้แต่ฉุนกว่า จึงเป็นที่มาของชื่อระบุชนิด citrata ซึ่งหมายถึง "ตะไคร้" นั่นเอง

จำปีช้างต้นแรกถูกสำรวจพบบนยอดเขาในเขตอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2533 โดยศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันท์ ซึ่งในสมัยนั้นเข้าใจว่าเป็นจำปีชนิดเดียวกับจำปีในประเทศจีนที่ชื่อ Michelia tignifera และเรียกชื่อไทยว่า "จำปีดง"

ต่อมาในปี 2541 ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ได้นำพรรณไม้นี้มาตรวจสอบอีกครั้ง ก็พบว่าจำปีช้างเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกซึ่งไม่เคยค้นพบที่ใดมาก่อน และตั้งชื่อใหม่ว่า Magnolia citrata Noot. & Chalermglin มีการรายงานการตั้งชื่อในปี 2551 นี้เอง

จากพรรณไม้ที่ไม่สามารถให้กำเนิดลูกหลานมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ปัจจุบัน จำปีช้างสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการทาบกิ่งโดยใช้จำปาเป็นต้นตอ ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและแหล่งพักผ่อน เช่น รีสอร์ตที่อยู่บนพื้นที่ระดับสูง

รวมทั้งในพื้นที่ราบทั่วไป จำปีช้างส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงใกล้พลบค่ำ มีกลิ่นหอมแรง แต่น่าเสียดายที่ดอกอันบอบบางบานอยู่เพียงแค่วันเดียวแล้วก็ร่วงโรยในวันถัดไป และออกดอกให้ผู้ปลูกเลี้ยงได้ชื่นใจเพียงแค่ช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเท่านั้น

ลักษณะพรรณไม้ของจำปีช้าง

ต้นจำปีช้าง เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-30 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งเป็นพุ่มอยู่ที่ยอด เปลือกลำต้นสีเทาอมขาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เนื้อไม้และกิ่งเหนียว

ใบจำปีช้างมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 12-18 ซม. ยาว 20-25 ซม. เรียงเวียนรอบกิ่ง รูปรีจนถึงเกือบกลม เนื้อใบหนา เหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบด้านล่างสีอ่อนกว่า มีเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่น

ดอกจำปีช้าง เป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ ดอกตูมรูปกระสวย เมื่อแรกแย้มกลีบนอกสุด 3 กลีบจะบานลู่ลง เริ่มส่งกลิ่นหอมแรงตั้งแต่ช่วงเย็น กลีบดอกสีขาวนวล 9-12 กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 4-5 ซม. ใกล้โรยกลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน

ผล(ฝัก)จำปีช้าง เป็นผลกลุ่ม ติดอยู่บนแกนช่อผล มีผลย่อย 5-8 ผล แต่ละผลมีขนาดใหญ่ เปลือกหนา เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-7 ซม. ยาว 7-8 ซม. แตกออกเป็น 2 ซีก เมล็ดสีแดงเข้ม รูปกลมรี กว้าง 1.6 ซม. ยาว 1.8 ซม. หนา 4 มม.

การขยายพันธุ์จำปีช้าง จำปีช้างสามารถขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดและทาบกิ่ง ควรขยายพันธุ์และปลูกเพิ่มจำนวนต้นให้มากขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่ระดับสูงมีอากาศหนาวเย็นจะเจริญเติบโตและออกดอกได้ดี

อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม