Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นจำปีสิรินธร ประวัติการค้นพบ ลักษณะ วิธีปลูก ให้ออกดอก ประโยชน์ ไม้ดอกหอม?

ต้นจำปีสิรินธร คือต้นอะไร

จำปีสิรินธร เป็นไม้ดอกหอมเฉพาะถิ่นของไทย ซึ่งในโลกนี้จะพบได้ในป่าพรุน้ำจืดที่บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรีเท่านั้น

ต้นจำปีสิรินธร ถือว่าเป็นต้นไม้มงคล ดอกสวยและหอมแรง มีความน่าสนใจมากๆ วันนี้จึงขอนำบทความดีๆ ของ อาจารย์ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ที่ได้เขียนลงในวารสารความรู้คือประทีป มาฝากเพื่อนๆกันนะครับ

ประวัติการค้นพบจำปีสิรินธร

ดอกจำปีสิรินธร
ภาพ: ดอกจำปีสิรินธร โดย กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ผู้เขียนได้เข้าไปสำรวจพื้นที่บ้านซับจำปา ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นป่าพรุน้ำจืด มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ พบต้นจำปีหรือจำปา (ในขณะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นจำปีหรือจำปา เพราะยังไม่พบดอก แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เรียกว่า จำปา)

มีต้นที่มีขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ประมาณ 4-5 ต้น ส่วนลำต้นที่มีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40-100 เวนติเมตร พบอยู่ประมาณ 20 ต้น

ในการสำรวจครั้งแรกนี้พบซากของผลแก่ที่ร่วงอยู่โคนต้น ส่วนใหญ่ผุพังเกือบหมดแล้ว จึงไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนผลย่อยกี่ผล หรือมีจำนวนเมล็ดต่อผลจำนวนเท่าใด

แต่จากการสำรวจทางนิวเศวิทยา พบว่า ต้นไม้ชนิดนี้มีความแตกต่างจากจำปีหรือจำปาชนิดอื่นๆ เนื่องจากว่าสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพของป่าพรุน้ำจืด ซึ่งโดยปกติแล้วจำปีหรือจำปาทุกชนิดทั่วโลกจะขึ้นอยู่บนพื้นที่ดอน หรือบนภูเขา หรือตามพื้นดินมีการระบายน้ำดี

ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2542 ได้เข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บดอกจากบนต้นมาบันทึกภาพ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของดอก พบว่าก่อนที่ดอกเริ่มแย้มจะมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอก เมื่อเริ่มแย้มจะมีสีขาวใส มีกลีบดอก 12-15 กลีบ ปลายกลีบมนกลม

จากการสำรวจในครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้เป็นจำปี ตามข้อกำหนดที่ระบุว่า จำปีมีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีขาว จำปามีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีเหลือง เหลืองส้ม ที่เรียกสีจำปา หรือมีสีอื่นนอกจากสีขาว

และเมื่อสอบถามจากผู้คนในท้องถิ่นได้ความว่า ที่เรียกกันอยู่ว่า จำปา ก็เรียกตามสีของกลีบดอกที่ร่วงอยู่โคนต้น มีสีเหลืองจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านซับจำปา ซึ่งหมายถึงพื้นที่น้ำแฉะมีต้นจำปาขึ้นอยู่

แต่ยังไม่มีใครปีนต้นขึ้นไปเก็บดอกสดๆ ลงมาดูเลยว่ามีสีอะไรกันแน่ เมื่อผู้เขียนนำดอกสีขาวออกมาให้ดู และบอกว่า ต้องเรียกว่า "จำปี" ปรากฎว่าทุกคนก็ยอมรับ แต่ปัญหาก็คือจะเรียกว่า จำปีอะไร เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดไหน

ผู้เขียนได้เดินทางเข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม ในเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 เก็บผลอ่อนและผลแก่จากบนต้นลงมาบันทึกภาพ ตรวจสอบลักษณะของผล มีผลย่อยจำนวน 15-25 ผล และมีเมล็ด 1-6 เมล็ดต่อผลย่อย

จากการสำรวจในครั้งนี้ ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับพรรณไม้วงศ์จำปาที่มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศข้างเคียง สามารถระบุได้ว่า เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) เมื่อมีการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบรายละเอียดซ้ำที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอแลนด์

ชื่อวิทยาศาสตร์ จำปีสิรินธร

ทางศาสตราจารย์ฮัน พี นูติบูม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์จำปา ก็ยืนยันซ้ำว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงร่วมกันเขียนรายงานการค้นพบ โดยได้รับพระราชทานพระราชานุญาต ให้ใช้ชื่อพระนามาภิไธย เป็นชื่อพืชชนิดใหม่ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia sirindhorniae Noot.& Chalermglin จัดอยู่ในวงศ์ Magnoliaceaeโดยมีชื่อภาษาไทยว่า จำปีสิรินธร แล้วนำลงพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้ BLUMEA เมื่อเดือนสิงหาคม 2543

จากผลแก่ที่เก็บเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 มีการนำเมล็ดมาเพาะ พบว่าเมล็ดที่หล่นอยู่โคนต้นมีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำมาก และได้ต้นกล้าที่ไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบกับผลแก่ที่เก็บจากต้น กลับให้เมล็ดที่มีเปอร์เซนต์การงอกสูงเกือบร้อยเปอร์เซนต์ และมีต้นกล้าที่แข็งแรงกว่าต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่หล่นอยู่โคนต้น

ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดรุ่นแรกนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียง 1 ปี มีความสูง 1.5-2 เมตร และมีการขยายพันธุ์จากต้นกล้าในรุ่นแรกนี้ โดยวิธีการติดตาและทาบกิ่งที่มีจำปาเป็นต้น

ลักษณะ จำปีสิรินธร

ต้นจำปีสิรินธร มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นที่ระดับอก 30-100 เซนติเมตร เปลือกโคนต้นสีน้ำตาล หนา 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เปลือกแตกเป็นร่องตามยาว ลำต้นเปลาตรง กิ่งที่อยู่ในระดับสูงมีเปลือกสีขาว กิ่งอ่อนมีสีเขียวอมน้ำตาล มีช่องอากาศเป็นจุดหรือขีดนูนกระจาย ทรงพุ่มกลมโปร่ง เนื้อไม้และกิ่งเหนียว

ใบ รูปรี กว้าง 7-10 เซนติเมตร ยาว 14-20 เซนติเมตร โคนใบมนกลมหรือรูปลิ่ม ปลายใบมนท์ถึงแหลม ผิวใบด้านบน มีขนเล็กน้อย สีเขียวอมเหลือง มีเส้นกลางใบนูนเล็กน้อยและมีเส้นแขนงใบเป็นร่อง

ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขน มีเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่น เนื้อใบหนา แข็งกรอบ ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบมี 10-12 คู่ ก้านใบยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร รอยแผลเป็นของหูใบแนบโคนก้านใบยาวสองในสามของความยาวของก้านใบ

ดอก ออกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกตูมรูปกระสวย มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร กาบหุ้มดอกมี 1 แผ่น สีเขียวอ่อนและมีขนอ่อนๆ คลุมอยู่ กาบฉีกออกและหลุดไป เมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม ก้านดอกยาว 1.8 เซนติเมตร

ดอกจำปีสิรินธร
ภาพ: ดอกจำปีสิรินธร โดย องค์การสวนพฤกษศาสตร์

ดอกบานตั้งขึ้น ดอกสีขาวนวล กลีบดอกมี 12-15 กลีบ เรียงเป็นชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 4.5-5 เซนติเมตร ปลายกลีบมนกลม เมื่อเริ่มแย้ม โคนกลีบดอกด้านนอกมีสีเขียวอ่อน กลีบดอกชั้นในมีขนาดแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบค่ำ ดอกบานอยู่ได้ ๒ วันเมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผล ผลเป็นช่อยาว 4-6 เซนติเมตร ก้านซ่อผลยาว 4 เซนติเมตร มีผลย่อย 15-25 ผล แต่ละผลเรียงติดอยู่บนแกนกลางผลและไม่มีก้านผลย่อย ผลรูปกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร

ผิวของผลมีซ่องอากาศเป็นจุดๆ สีขาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วเปลี่ยนสีน้ำตาลอ่อน ผลย่อยแตกตามแนวยาว แต่ละผลมี 1-6 เมล็ด เมล็ดสีแดงเข้มรูปกลมรี ยาว 4-6 มิลลิเมตร

ลักษณะเด่นของจำปีสิรินธรที่แตกต่างจากจำปีชนิดอื่น

ขึ้นแช่น้ำอยู่ในป่าพรุน้ำจืด มีต้นใหญ่ เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามยาว ใบแก่รูปรีค่อนข้างกลม ดอกเริ่มแย้มมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอก ปลายกลีบมนกลม กลีบค่อนข้างบางซ่อผลค่อนข้างกลมและเล็ก ออกดอกบาน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน

นิเวศวิทยาและถิ่นกำเนิดของจำปีสิรินธร

จำปีสิรินธรเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย (Endemic to Thailand) คือมีขึ้นอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และมีขึ้นอยู่เพียงลักษณะเดียวในป่าพรุน้ำจืดที่มีน้ำพุไหลผ่านตลอดเวลา

สำรวจพบครั้งแรกในป่าพรุน้ำจืดของบ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ในพื้นที่รวมกันประมาณ 80 ไร่ ซึ่งมีระดับความสูงประมาณ 50 เมตร

พื้นที่โดยรอบ ห่างออกไปประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นเขาหินปูน เมื่อมีฝนตกแล้วน้ำจากเขาหินปูนนี้จะซึมลงใต้ดินและไหลรวมเป็นน้ำใต้ดิน มาพุขึ้นในป่าบ้านซับจำปา

น้ำในบริเวณนี้จึงมีความเป็นด่างสูงกว่าในพื้นที่อื่น ต่อมาสำรวจพบในป่าพรุน้ำจืดของบ้านน้ำสวย ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ มีระดับความสูงประมาณ 165 เมตร มีต้นขนาดใหญ่ สูง 30 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร อยู่มากกว่า 30 ต้น

วิธีการขยายพันธุ์ต้นจำปีสิรินธร

การขยายพันธุ์จำปีสิรินธร สามารถกระทำได้หลายวิธี นับตั้งแต่การเพาะเมล็ด การปักชำ การทาบกิ่ง การเสียบยอด การติดตา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

วิธีปลูก จำปีสิรินธร ให้ออกดอก

วิธีการปลูกต้นจำปีสิรินธร ควรขุดหลุมให้กว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอก 2 ลิตร รองก้น หลุม แล้วใช้ดินกลบทับหนา 10 เซนติเมตร วางต้นกล้าลงกลางหลุม แล้วกลบทับด้วยดินผสมปุ๋ยคอกจนเต็มหลุม ปักหลักและผูกยึดลำต้นให้แน่นเพื่อป้องกันลมพัดโยก รดน้ำทุกวัน เมื่อปลูกได้ 6 เดือน จึงตัดเทปที่พันรอยทาบออกให้หมด

การบำรุงรักษา ดูแล ต้นจำปีสิรินธร

จำปีสิรินธร เป็นพืชที่มีความแข็งแรง ทนทาน ต้องการการบำรุงรักษาต่ำ การรดน้ำ ในอัตราปรกติก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มมากนัก เพราะต้นจะเจริญเติบโตรวดเร็วเกินไป และจะไม่สามารถควบคุมทรงพุ่มให้มีขนาดเล็กตามต้องการได้ ถึงแม้ว่าจะมีการตัดแต่งกิ่ง แต่จำปีสิรินธรก็จะแตกกิ่งใหม่และเจริญเติบโตต่ออย่างรวดเร็ว

การใช้ประโยชน์จำปีสิรินธร

สำหรับจำปีสิรินธรที่ขึ้นอยู่ในแหล่งกำเนิดเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่อนุญาตให้มีการตัดฟันหรือให้มีการนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะมีลำต้นขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีเนื้อไม้แข็ง

แต่จะมีการใช้ ประโยชน์ในด้านที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ ในด้านของการส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งคนไทยทั้งประเทศสามารถเข้ามาเที่ยวชม มาใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้

ในส่วนของจำปีสิรินธรที่มีการขยายพันธุ์ไปจากแหล่งกำเนิดเดิม แล้วนำไปปลูกในแหล่งกำเนิดใหม่ทั่วประเทศ ก็จะมีการใช้ประโยชน์ในด้านของไม้ประดับ ในเรื่องของทรงพุ่ม ที่ปลูกเป็นไม้บังร่ม บังลม และไม้โชว์ทรงพุ่ม

ในด้านของไม้ดอก จะมีการใช้ประโยชน์จากดอกที่หอมและสวยงาม อาจนำมาร้อยมาลัย เป็นยาสมุนไพร สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ในด้านของการปรับปรุงพันธุ์ สามารถใช้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ นำไปผสมกับจำปีหรือจำปาชนิดอื่นๆ ซึ่งจะได้ลูกผสมต่างๆ ออกมาและสามารถคัดเลือกนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต

อนาคตของจำปีสิรินธร

จากการที่จำปีสิรินธรได้รับความนิยมนำออกปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย จีน จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มแหล่งปลูกและเพิ่มจำนวนต้นให้มากขึ้นในเวลารวดเร็ว เป็นหลักประกันได้ว่าจะไม่สูญพันธุ์

ในอนาคตอาจจะมีการนำจำปีสิรินธรไปผสมกับจำปีหรือจำปาชนิดอื่นๆ ซึ่งจะได้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา เหมาะสมกับการปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้มากขึ้น

ในเวลาเดียวกันอาจจะมีการพัฒนาให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้มากขึ้น เช่น ใช้ดอกมาร้อยมาลัย ใช้ดอกเป็นยาสมุนไพร ใช้ดอกมาสกัดน้ำมันหอมระเหย หรืออาจใช้เนื้อไม้มาผลิตเป็นวัสดุใช้สอย วัสดุตกแต่ง ผลิตเป็นของที่ระลึก ฯลฯ

ที่มา: วารสารความรู้คือประทีป โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น

รายละเอียดเพิ่มเติม