Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

จำปาหลวง Magnolia utilis แมกโนเลียพื้นเมืองไทย ไม้หายาก?

"จำปาหลวง" เป็นพรรณไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย อยู่ในวงศ์จำปา Magnoliaceae จุดเด่นของจำปาหลวงคือ เป็นพรรณไม้ที่ออกดอกขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับจำปาชนิดอื่น ดอกมีสีเหลืองเข้ม และส่งกลิ่นหอมหวาน จึงได้รับการตั้งชื่อว่า "จำปาหลวง" พบกระจายอยู่บนภูเขาสูงตามแนวแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้

จำปาหลวง

จำปาหลวง หรือมีชื่ออื่นว่า ตองสะกา ตองสะกาใบใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia utilis (Dandy) V.S.Kumar เป็นพรรณไม้ในวงศ์จำปา Magnoliaceae จำปาหลวงมีช่วงฤดูดอกบานอยู่ในเดือนพฤศจิกายน

จำปาหลวง Magnolia utilis
ภาพ : นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน

ดังนั้นใครที่ต้องการชื่นชมดอกใหญ่ อวบอิ่มของพรรณไม้ชนิดนี้ จึงต้องเลือกไปให้ถูกช่วงเวลา มิเช่นนั้นก็จะได้เห็นแค่ลำต้นขนาดใหญ่ ซึ่งบางต้นมี เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

จำปาหลวง มีการค้นพบครั้งแรกของโลกในประเทศพม่า ฝั่งที่ติดกับอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ สำหรับประเทศไทย พบกระจายอยู่บนภูเขาสูงตามแนวแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ตั้งแต่จังหวัดตากเรื่อยลงมาถึงพังงา และมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบเขา ตามแนวสันเขา ริมธาร และในหุบเขา ที่ระดับความสูง 600-1,000 ม. ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้

จำปาหลวงเป็นพรรณไม้ที่มีลักษณะหลายอย่าง คล้ายกับมณฑาดอย พรรณไม้ในวงศ์เดียวกัน แต่พรรณไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็ยังมีลักษณะบางประการที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ ผล

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ขนาดผลของจำปาหลวง จะเล็กกว่ามณฑาดอย ถึงแม้ว่าความยาวของผลเท่ากัน นอกจากนี้ กิ่งของจำปาหลวงยังมีลักษณะเปราะและฉีกหักง่ายกว่า จึงใช้เนื้อไม้เป็นวัสดุก่อสร้างได้ไม่ดีนัก

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้มีการปลูกจำปาหลวงที่เขาพะเนินทุ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมความงามและเก็บภาพความประทับใจ

แต่ถ้าหากใครได้มีโอกาสขึ้นไปชื่นชมต้นจำปาหลวงแล้วอยากได้เมล็ดพันธุ์กลับมาขยายพันธุ์ ขอแนะนำว่า จำปาหลวงเป็นพรรณไม้ที่ไม่สามารถปลูกให้ออกดอกได้ในพื้นที่ราบ

แม้จะปลูกเป็นเวลานานนับ 10 ปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสม ดังนั้น ใครที่อยู่ในพื้นที่ราบอย่างในกรุงเทพฯ ก็คงต้องอดใจไปอีกสักพักหนึ่ง เพื่อให้พรรณไม้มีการปรับพฤติกรรม ให้ออกดอกได้ในพื้นราบที่มีอากาศร้อน

ลักษณะพรรณไม้

ต้นจำปาหลวง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ถึง 10-25 ม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาจนถึงสีม่วงปนน้ำตาล หรือ น้ำตาลเข้ม เปลือกค่อนข้างฉ่ำน้ำและมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว กิ่งเปราะ ฉีกหักง่าย 

ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 8-12 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายเรียวและมีติ่งแหลม โคนใบสอบ แหลมเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบอ่อนนิ่มและบาง แผ่นใบด้านบนสีเขียวอมเหลือง เรียบเกลี้ยง ด้านล่างมีคราบสีขาวเคลือบอยู่

ดอกจำปาหลวง ดอกออกที่ปลายยอด ดอกบานตั้งขึ้น สีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น ดอกบานอยู่ได้ 2-3 วัน ดอกตูมรูปกระสวย กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 5-6 ซม. มีแผ่นเกล็ดสีเขียวคลุมดอกตูม 1 แผ่น จะฉีกและหลุดไปเมื่อดอกเริ่มแย้ม

กลีบดอกมี 9 กลีบ เรียงเป็น3 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกสุดรูปรี ขอบกลีบโค้งงอเข้า ด้านนอกสีเขียวอ่อนปนน้ำตาล กลีบชั้นกลางและชั้นในสุดสีเหลืองนวล เป็นแผ่นหนา อวบน้ำ

ผล(ฝัก)จำปาหลวง มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกเล็กๆ เรียวยาว กว้าง 2.2-3.5 ซม. ยาว 7-10 ซม. มีผลย่อย 42-80 ผล เรียงอัดแน่นอยู่บนแกนกลางผลร่วมกัน ผลย่อยแข็ง ยาว 1-1.5 ซม. ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลแก่สีน้ำตาล แตกตามรอยต่อในแนวตั้ง เมล็ด ค่อนข้างหายาก เมล็ดมีสีแดงจำนวน 4-12 เมล็ด ต่อหนึ่งผลย่อย

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์จำปาหลวง เป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ยังไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นได้ โดยควรเก็บผลแก่ที่มีผลย่อยเริ่มแตกเพียงเล็กน้อยมาผึ่งไว้ในร่ม 2-3 วัน ผลจะแตกมากขึ้น แล้วแกะเมล็ดนำไปเพาะ จะงอกเป็นต้นกล้าได้ดี

สำหรับผู้ที่หวังว่าจะขยายพันธุ์จำปาหลวงโดยวิธีการทาบกิ่ง หรือเสียบยอด โดยใช้จำปาเป็นต้นตอนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากพันธุกรรมค่อนข้างห่างกัน มีอยู่ทางเดียวที่กระทำได้คือ ใช้ต้นตอจำปาหลวงมาทาบกับยอดของจำปาหลวงเท่านั้น

อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม