Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: โมกพะวอ โมกถิ่นเดียวของไทย พบที่แม่สอด จ.ตาก?

"โมกพะวอ" ถูกค้นพบที่บริเวณศาลเจ้าพ่อพะวอ มงคลสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งชาวเมืองตากและชาวอำเภอแม่สอดรู้จักกันดี และให้ความเคารพนับถือมาโดยตลอด การตั้งชื่อไทยของโมกชนิดนี้ว่า "โมกพะวอ" จึงตั้งชื่อตามสถานที่ ที่พบโมกชนิดนั่นเอง

โมกพะวอ

"โมกพะวอ" เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ พบเฉพาะทางภาคเหนือของไทย บริเวณศาลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นิเวศวิทยาขึ้นบนเชิงเขาหินปูน ในป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร 

โมกพะวอ โมกถิ่นเดียวของไทย ศาลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน
ภาพ* : ปรีชา การะเกตุ [1]

และนอกจากนี้ ยังพบเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ มีจำนวนประมาณ 40 ต้น การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติต่ำ จึงมีสถานภาพเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered)

รายละเอียดเพิ่มเติม

โมกพะวอ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia tokiae D. J. Middleton วงศ์โมก Apocynaceae คำระบุชนิด "tokiae" ตั้งเป็นเกียรติแก่นางสาวนันทน์ภัส ภัทรหิรัญไตรสิน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ"ต๊อก" 

หนึ่งในคณะสำรวจพรรณไม้ ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้ บางคนจึงเรียกโมกชนิดนี้ว่า "โมกต๊อก"

โมกพะวอ โมกถิ่นเดียวของไทย ศาลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน
ภาพ* : ปรีชา การะเกตุ [1]

โมกพะวอได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Gardens' Bulletin Singapore เล่มที่ 61 ฉบับที่ 2 หน้า 372 ปีค.ศ. 2010 (ปี พ.ศ.2553) ตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงต้นแบบ Pooma, Karaket, Pattharahirantricin & Saengrit 6906 (holotype: BKF; isotypes: A, AAU, BKF, E, K, L, SING)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโมกพะวอ

ต้นโมกพะวอ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 15 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีช่องอากาศกระจาย กิ่งอ่อนมีขนละเอียดรูปตะขอสั้นๆ ใบรูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 5-21 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือแหลม แผ่นใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน มีปุ่มเล็กๆ กระจายด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ 13-18 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 5 มม.

โมกพะวอ โมกถิ่นเดียวของไทย ศาลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน
ภาพ : ปรีชา การะเกตุ [1]

ดอกโมกพะวอ ออกดอกเป็นช่อดอก ออกตามปลายกิ่ง มีขนละเอียด ก้านช่อยาวได้ประมาณ 1 ซม. ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านดอกย่อยยาว 3-5 มม. กลีบเลี้ยง รูปไข่ ยาว 3.5-4 มม. ปลายมน มีขนละเอียด สีเขียวเข้ม ไม่มีต่อมโคนกลีบ กลีบดอกบานรูปกงล้อ สีเขียวอมเหลืองด้านใน ด้านนอกมีสีเข้มกว่า ดอกจะค่อยๆ เปลี่ยนสีเป็นดอกสีแดงซีดๆก่อนจะร่วงโรย

ดอกโมกพะวอ ( Wrightia tokiae ) ดอกโมกถิ่นเดียวของไทย

หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2.5 มม. มีปุ่มเล็กๆ ด้านใน กลีบรูปรี ยาวประมาณ 1.3 ซม. ปลายมน มีปุ่มเล็กๆ ด้านในและด้านนอก มีกระบังชั้นเดียว กระบังสีเหลือง เรียงติดกันเป็นวงคล้ายรูปถ้วย กระบังแนบติดกลีบดอกเฉพาะที่โคน ขอบหยักซี่ฟัน เกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรตัวผู้โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก และสูงกว่ากะบังอย่างชัดเจน อับเรณูสีเหลือง โคนเป็นเงี่ยงลูกศร รังไข่เกลี้ยง

โมกพะวอ โมกถิ่นเดียวของไทย ศาลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน
ภาพ : ปรีชา การะเกตุ [1]

ผล(ฝัก)โมกพะวอ ออกเป็นฝักคู่ เรียงชิดกันแต่ไม่เชื่อมกัน ปลายเชื่อมติดกัน จนมองดูเหมือนว่าเป็นฝักเดี่ยว ฝักเป็นรูปกระสวย แต่ละฝักกว้างประมาณ 1.3 ซม. ยาวประมาณ 13.5 ซม. ผิวฝักมีช่องอากาศกระจายหนาแน่น ดอกออกประมาณเดือนพฤษภาคม ติดผลประมาณเดือนสิงหาคม

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  2. Middleton, D.J. (2010). Three new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 61 (2): 369-378.

รายละเอียดเพิ่มเติม