✓เฟิร์น: ว่านกีบแรด (เฟินกีบแรด, กีบม้า) ประโยชน์ สรรพคุณ?

ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "ว่านกีบแรด" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น เฟินกีบแรด, เฟิร์นกีบแรด, ว่านกีบม้า, กีบม้า, กีบม้าลม, กีบแรด, กูดช้าง, กูดซาง, ดูกู เป็นต้น

ว่านกีบแรด' (เฟิร์นกีบแรด)

ถิ่นกำเนิด การกระจายพันธุ์ และถิ่นที่อยู่อาศัย

ต้นว่านกีบแรด/กีบม้า (เฟิร์นกีบแรด) สรรพคุณ
ภาพ : Plants of the World Online

ต้นว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์กว้าง พบที่ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

รายละเอียดเพิ่มเติม

สำหรับในประเทศไทย ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) มีถิ่นอาศัย พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น ในที่ร่มและชุ่มชื้น หรือใกล้ลำธาร ฝนตกชุก ร้อนชื้น ป่าดิบเขา ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,200 ม. พบได้ทุกภาค ทั่วประเทศไทย ขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่อวิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ

  • ว่านกีบแรด ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Angiopteris evecta (G.Forst.) Hoffm.
  • อยู่ในวงศ์ Marattiaceae
  • มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Turnip fern, Elephant fern, Giant Fern, King Fern
  • ชื่อพ้อง (Synonyms) : Polypodium evectum G.Forst.

ต้นว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด)
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

สกุล Angiopteris Hoffm. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Dryopteridaceae หรือ Woodsiaceae มี 30–40 ชนิด พบที่มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ A. angustifolia C.Presl พบที่นราธิวาส เป็นกลุ่มเฟินที่มีการเก็บตัวอย่างน้อยเนื่องจากมีขนาดใหญ่ หรือได้ตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นว่านกีบแรด มีลักษณะเป็น เฟินที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน (Terrestrial Fern) ไม้ล้มลุก กลุ่มเฟิน เหง้าสั้นตั้งตรงขนาดใหญ่ ลำต้นสั้นสูงถึง 20 ซม. กว้างถึง 25 ซม. ที่ลำต้นมีโคนก้านใบเก่าติดทนดูคล้ายกีบเท้าแรด มีขนแบบเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ตามโคนก้านใบและโคนก้านใบย่อยบวมหนา หัวเป็นสีน้ำตาลแก่ แต่ถ้าหักหัวดูภายในเป็นสีเหลืองเหมือนขมิ้น

มีข้อสันนิษฐานว่า ต้นว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับเชื้อราที่ระบบรากของว่านกีบแรด เพื่อให้เชื้อราช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ให้กลายเป็นธาตุอาหารให้กับรากของกีบแรดดูดซึมเข้าไป โดยลำพังมันไม่สามารถดูดซับเองได้ และว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) แลกเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กับเชื้อราคืนด้วย หากไม่มีเชื้อรา ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) อาจจะไม่เจริญเติบโตได้

ใบว่านกีบแรด ยอดอ่อนเฟิร์นกีบแรด
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ใบว่านกีบแรด ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ยาว 1.5–3 ม. ก้านใบยาว 1–1.5 ม. โคนก้านบวม มีหูใบสีน้ำตาลขนาดใหญ่ 1 คู่ ก้านใบและแกนใบประกอบมีรอยขีดสีขาวสั้น ๆ มีขนและเกล็ดสีน้ำตาลประปราย แผ่นใบกว้างได้ถึง 2 ม. ยาว 2–3 ม.

ใบประกอบย่อยมีข้างละ 4–8 ใบ เรียงสลับ ใบย่อยมีข้างละ 10–20 ใบ ใบย่อยมี 15–30 คู่ รูปขอบขนาน ยาว 5–15 ซม. กว้าง 18–30 ซม โคนแกนใบประกอบบวม ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 1.5–4.5 ซม. ยาว 11–25 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าตื้น เบี้ยว ขอบใบจักมนหรือจักฟันเลื่อย

ก้านใบย่อยบวม ยาว 3–8 มม. แผ่นใบหนา มีเกล็ดสีน้ำตาล เส้นแขนงใบแยกสาขาเป็นคู่ กลุ่มอับสปอร์อยู่ห่างจากขอบใบประมาณ 1 มม. สีน้ำตาล รูปรี มี 7–12 อับสปอร์ผนังเชื่อมติดกัน (eusporangium) ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

ใบว่านกีบแรด
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ประโยชน์ สรรพคุณ ทางสมุนไพร

รายงานการวิจัยในปัจจุบัน การวิจัยทางพรีคลินิกพบว่าว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ลดน้ำตาลในเลือดและแก้ปวด

สารสำคัญ ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) มีสารแองจิอ็อปเทอโรไซด์มอโนไฮเดรต (angiopteroside monohydrate) กรดซักซินิก (succinic acid) และสารกลุ่มสเตอรอล เช่น บีตา-ซิโทสเตอรอล (β-sitosterol) และสติกมาสเตอรอล (stigmasterol) เป็นต้น

หัวว่านกีบแรด
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

สรรพคุณ ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด)

  • ใบและดอก : ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย ยาถ่าย หรือใช้ขับปัสสาวะ
  • ยอดอ่อน ทุบแล้วนำไปต้ม เอามาประคบหัวเข่า แก้อาการปวด
  • เหง้า : ต้มในน้ำสะอาด หรือดองเหล้า กรองเอาน้ำหรือเหล้ามาดื่ม แก้ปวดหลัง ปวดเอว ลดความดันโลหิต
  • เหง้า : แก้ท้องร่วง บำรุงกำลัง แก้เจ็บตา
  • เหง้า มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ระงับปวด และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
  • หัวใต้ดิน มีรสฝาด เย็น เป็นยาฝาดสมานแก้ท้องร่วง อาเจียน ปวดศีรษะ ขับปัสสาวะ รากใช้ห้ามเลือด
  • ตำรับ ยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
  • ตำรับ ยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ตัวร้อน ปวดหัว ถอนพิษไข้ ไข้หวัด ไข้ปอดบวม
  • ตำรับ ยารักษามดลูกเคลื่อน/บำรุงโลหิต รักษามดลูกเคลื่อน บำรุงโลหิต

การขยายพันธุ์ ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด)

การขยายพันธุ์ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) จะแยกหน่อมาชำก่อน โดยการแยกหน่อจากต้นแม่แล้วนำมาชำ ในถุงเพาะชำที่ผสมดินกับขี้เถ้าแกลบ เอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้น อยู่เสมอ ประมาณ 30 – 60 วัน จะงอก ยอดอ่อนที่ม้วนขึ้นมา

วิธีการปลูก ว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด)

  • ฤดูกาลเพาะปลูก ปลูกได้ทุกฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม
  • การเตรียมดิน โดยการขุดหลุมขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม ว่านกีบแรดควรปลูกใต้ร่มไม้ที่มีร่มรำไรจะเจริญงอกงามดีและปลูกห่างกันประมาณ 1 – 1.5 เมตร
  • วิธีการปลูก เมื่อว่านกีบแรดอายุประมาณ 1 – 2 ปีเอาลงปลูกได้สำหรับหลุมที่เตรียมไว้กลบดินแล้วคลุม ด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ระยะแรกจะมีใบไม้พลางแสง หรือสแลนพลาสติกก็ได้

เคล็ดไม่ลับ การปลูกว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด)

การปลูกว่านกีบแรด (เฟิร์นกีบแรด) เหมาะปลูกเป็นสวนป่า หรือปลูกลงกระถางก็สวยงามดี วิธีการปลูกโดยการฝังหัวเหง้าลงตื้นๆ ให้หัวโผล่อยู่ที่ผิวเครื่องปลูก สำหรับวัสดุปลูก ชอบสภาพเป็นกรดเล็กน้อย มีใบไม้ผุมากๆ และโปร่ง ผสมทรายหยาบบ้าง เพื่อให้ระบายน้ำและระบบรากถ่ายเทอากาศดี ชอบแสงรำไรและอากาศชุ่มชื้น

การปลูกว่านกีบแรดในกระถาง ควรเลือกกระถางให้ใหญ่กว่าหัวมากหน่อย แต่หากปลูกลงดิน จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า ปกติให้ใบใหม่ช้า แต่เมื่อใบอ่อนเริ่มงอก จะโตได้รวดเร็ว และไม่ทิ้งใบบ่อย ต้นที่ปลูกอยู่บ้าน แต่ละใบอยู่ให้เห็น 1-2 ปี ในช่วงที่ออกใบอ่อนใหม่ หากมีช่วงขาดน้ำ เมื่อได้รับน้ำอีกครั้ง มันจะเกิดเป็นปุ่มตาที่ก้านใบ ที่ดูเหมือนเป็นข้อที่ก้านใบ

การดูแล ต้นว่านกีบแรด

  • การให้ปุ๋ย ควรให้เมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 6 เดือน ควรใส่ปุ๋ยคอกกับปุ๋ยหมักเท่านั้น พร้อมกับการพรวนดิน และใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช ควรทำปีละ 1 – 2 ครั้ง
  • การให้น้ำ ควรให้น้ำชุ่มชื้นอยู่เสมอ ถ้าฤดูฝนปล่อยตามธรรมชาติได้เลย
  • การกำจัดวัชพืช ควรทำพร้อมกับการพรวนดินและใส่ปุ๋ย

หัวว่านกีบแรด เฟิร์นกีบแรด
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

การเก็บเกี่ยวสมุนไพร ว่านกีบแรด แปรรูป เก็บรักษา

  • ฤดูกาลการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวได้ทุกฤดูกาล แต่นิยมเก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง ว่านกีบแรดจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงอายุ 2 – 3 ปี จะมีกลีบออกมาค่อนข้างเยอะ
  • วิธีการเก็บเกี่ยว ขุดว่านกีบแรดเป็นกอและนำมาแยกออกเป็นกลีบ ๆ แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
  • การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อได้ว่านกีบแรดมาแล้ว นำมาฝานตอนที่ยังสด ๆ เพราะจะฝานง่าย ถ้าปล่อยไว้ให้แห้ง จะเหนียว และฝานยากมาก เมื่อฝานเสร็จนำไปตากแดดทันทีประมาณ 4 – 5 วัน จนแห้ง และนำไปอบอีกครั้งจนแห้งสนิท
  • การบรรจุและการเก็บรักษา เมื่อได้ว่านกีบแรดแห้งมาแล้ว นำบรรจุถุง เพื่อส่งจำหน่ายต่อไป หรือเก็บใส่กระสอบ โปร่ง ๆ หรือถุงปุ๋ยที่สะอาด ไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.
  3. Plants of the World Online | Kew Science by Royal Botanic Gardens, Kew.
  4. มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และกชพรรณ ศรีสาคร. 2563. พืชป่าสมุนไพร. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ
  5. ก่องกานดา ชยามฤต, ราชันย์ ภู่มา และนันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน. 2557. ทะเบียนรายชื่อพืชในประเทศไทย เล่มที่ 1. (A Checklist of Plants in Thailand Volume I). สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ.
  6. กีบแรด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย