✓เฟิร์น: 'กระเช้าสีดา' ไม่ใช่ต้นกาฝาก ดั่งความหมายในบทละคร?

จากกระแสละครเรื่อง "กระเช้าสีดา" กำลังมาแรงมาก เรตติ้งพุ่งกระฉูด เมื่อคืนนี้ มีอยู่ซีนหนึ่งที่ "น้ำพิงค์" (นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี) ได้แกล้งถามชื่อต้นไม้ 

และบอกกับ "รำนำ" (กรีน อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล) ว่า ... "ต้นไม้ต้นนี้ ชื่อต้น 'กระเช้าสีดา' เป็นกาฝากชนิดหนึ่ง" และพูดโต้ตอบกระทบกระเทียบเปรียบเปรยกันไปมา ในเรื่องของ 'กาฝาก'

ต้นกระเช้าสีดา

ความหมาย ต้นกระเช้าสีดา ในบทละคร

จากคำพูดของน้ำพิงค์ ที่บอกกับ รำนำ ว่า ...

"กระเช้าสีดา เป็นต้นไม้พันธุ์เล็ก ที่มันดำรงชีวิตด้วยการเกาะ แล้วดูดสารอาหารจากต้นไม้ใหญ่ พวกกาฝากพวกนี้ มันไม่สามารถมีชีวิตได้ด้วยตัวเอง มันก็เหมือนกับพวกส่วนเกิน ที่คอยเข้ามาเกาะกินไงล่ะ?.

รายละเอียดเพิ่มเติม

ตรงนี้แหล่ะ ที่ยิ่งทำให้หลายคนอาจสงสัยและสนใจอยากรู้ว่า ต้นกระเช้าสีดา คือต้นอะไรกันแน่? มีชื่อต้นไม้ชื่อนี้จริงหรือ? บางคนก็อินกับบทละคร จนเชื่อและเข้าใจไปว่า ต้นกระเช้าสีดา เป็น "กาฝาก" จริง ๆ ตามคำพูดของน้ำพิงค์

กระเช้าสีดา

บังเอิญว่า เมื่อคืนผมกับแฟนก็นั่งดูละครเรื่องนี้อยู่พอดี พอถึงฉากนี้ เธอหันมามองหน้าทันที แล้วถามว่า จริงไหม? ผมยิ้มอ่อนๆ (เลียนแบบยิ้มของน้องรำนำ) แล้วตอบว่า "ไม่จริง! ต้นกระเช้าสีดา เป็นเพียงไม้อิงอาศัย แต่ไม่ใช่ กาฝาก นะจ๊ะ!... คนเขียนบทเข้าใจผิดแล้วหล่ะ"

(แต่ ไม่ดราม่า เน๊อะ? ไม่ต้องซีเรียสนะครับ เพราะเค้าก็บอกไว้ก่อนแล้วว่า ละครเรื่องนี้สร้างเพื่อความบันเทิง เหตุการณ์ในเรื่องเป็นเหตุการณ์สมมติ ผมก็แค่เพียงขอนำเสนอข้อมูลอีกด้านของความเป็นจริงเกี่ยวกับพรรณไม้)

ต้นกระเช้าสีดา คือต้นอะไร?

หากอ้างอิงตามข้อมูล ชื่อไทยของพรรณไม้ที่ชื่อว่า "กระเช้าสีดา" ในชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) จะพบว่าชื่อ "กระเช้าสีดา" เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่นของพรรณไม้ 2 สกุล คือ ...

1. สกุลกระเช้าสีดา Aristolochia L.

พรรณไม้สกุล Aristolochia L. อยู่ในวงศ์ Aristolochiaceae มีลักษณะเป็นไม้เถาล้มลุก ไม้เถาเนื้อแข็ง หรือไม้พุ่มทอดนอน (มีระบบรากที่หากินได้เอง ไม่ใช่ "กาฝาก") มีลักษณะเด่น คือ เมื่อผลแห้ง ผลจะแตกตามรอยประสานจากโคนสู่ปลาย โคนก้านและปลายติดกันจึงดูคล้ายกระเช้า เป็นที่มาของชื่อ "กระเช้าสีดา"

สกุล Aristolochia มีประมาณ 500 ชนิด พบในเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 22 ชนิด และเป็นไม้ประดับประมาณ 5 ชนิด รากมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรลดน้ำหนักในชื่อ "ไคร้เครือ"

ชื่อต้นไม้ "กระเช้าสีดา" เป็นชื่อที่ใช้เรียกพรรณไม้ชนิด Aristolochia indica L. ซึ่งเป็นพรรณไม้กระเช้าสีดา ของอินเดียและศรีลังกา มีนำเข้ามาปลูกบ้างในไทยแต่ไม่แพร่หลายมากนัก ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aristos” ดีที่สุด และ “locheia” การกำเนิด หมายถึงพืชที่มีสรรพคุณด้านสมุนไพรช่วยให้คลอดง่าย

สำหรับในไทย ชื่อ "กระเช้าสีดา" ยังเป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น ที่ใช้เรียกพรรณไม้ไทย ชนิด Aristolochia acuminata Lam. (ซึ่งมีชื่อทางการว่า "กระเช้าผีมด") มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Indian birthwort

2. สกุลห่อข้าวสีดา Platycerium Desv.

พรรณไม้สกุล Platycerium Desv. อยู่ในวงศ์ Polypodiaceae เป็นเฟินอิงอาศัย (epiphyte เฟินที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น แต่ ไม่ใช่ กาฝาก ) มีรากและใบหุ้มหนาแน่น เกล็ดขนาดใหญ่ ใบมีสองแบบ ใบประกบต้นแนบติดที่เกาะอาศัย ติดทน เหง้าหนา บางครั้งแยกแขนง

สกุล Platycerium มี 15 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน และมี 1 ชนิดในอเมริกาใต้ ในไทยมี 4 ชนิด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “platys” กางออกกว้าง และ “keras” เขา ตามลักษณะของใบสร้างสปอร์

เฟินที่ถูกเรียกชื่อว่า "กระเช้าสีดา" คือเฟิน Platycerium coronarium (J.Koenig ex O.F.Müll.) Desv. ซึ่งมีชื่อไทยเป็นชื่อทางการว่า "ห่อข้าวสีดา" ชื่อสามัญ ภาษาอังฤกษว่า Elkhorn fern, Crown strag horn

ชื่อ "กระเช้าสีดา" เป็นเพียงชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น ซึ่งยังมีชื่ออื่นอีกหลายชื่อ เช่น ชายผ้าสีดา (ตรัง); กระจาด, กระปรอกกระจาด (ชลบุรี); กระปรอก, หัวสีดา (ภาคใต้); กระปรอกสีดา (ตราด), สไบสีดา เป็นต้น

สรุป: ต้นกระเช้าสีดา แค่เป็นพืชอิงอาศัย ไม่ใช่ กาฝาก

สำหรับความหมายต้นกระเช้าสีดาในฉากละคร "กระเช้าสีดา" จะหมายถึง "ต้นเฟินกระเช้าสีดา" ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เฟินกระเช้าสีดา เป็นเฟินอิงอาศัย ที่ต้องเกาะอาศัยบนต้นไม้อื่น แต่ไม่ใช่ "กาฝาก" เพราะไม่ได้ดูดกินอาหารจากต้นไม้ที่อาศัยอยู่

กระเช้าสีดา ไม่ใช่กาฝาก ดั่งในบทละคร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "กาฝาก" (parasitic plant/mistletoe) เป็นพืชที่ดำรงชีวิตอยู่บนต้นไม้อื่น โดยมีรากเบียน (haustoria) ที่แทงทะลุเปลือกไม้เข้าไปเชื่อมต่อกับท่อลำเลียงน้ำและอาหารของพืชอื่นที่ไปเกาะอยู่ โดยรากนี้จะแย่งดูดน้ำ และสารอาหารที่ลำเลียงผ่านท่อลำเลียง แล้วส่งมาเลี้ยงลำต้น และใบของตนเองให้เจริญเติบโต

สำหรับเฟินอิงอาศัย เป็นเพียงการอยู่อาศัยร่วมกันของต้นไม้ 2 ชนิด ในลักษณะที่เฟินอิงอาศัยได้ประโยชน์จากการมาอิงอาศัยอยู่ด้วย ส่วนต้นไม้อีกฝ่ายไม่ได้ประโยชน์และไม่เสียประโยชน์

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ "เฟินอิงอาศัย แค่มาขออาศัยอยู่ด้วย แต่ไม่ได้ทำให้ต้นไม้ผู้ให้อาศัยเดือดร้อน ต่างคนต่างอยู่ นั่นเอง"

อ้างอิง : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.