กล้วยไม้ป่า เหยือกน้ำน้อย, เหยือกน้ำดอย ออกดอกเดือนไหน?
ชื่อวิทยาศาสตร์:
ชื่อวิทยาศาสตร์ของกล้วยไม้ เหยือกน้ำน้อย คือ Acanthophippium striatum Lindl. จัดเป็นพันธุ์กล้วยไม้ ในสกุล Acanthophippium ซึ่งอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Family: Orchidaceae)
ชื่อพ้อง (Symnonyms): Acanthophippium sinense Rolfe; Tainia unguiculata Hayata; Acanthophippium unguiculatum (Hayata) Fukuy.; Acanthophippium simplex Aver.
ชื่อสกุล 'Acanthophippium' ที่ปรากฏตามเอกสารต่าง ๆ พบได้ 2 แบบ ที่สะกดต่างกัน คือ 'Acanthophippium' และ 'Acanthephippium' คือต่างกันที่ 'Acantho' และ 'Acanthe'
ในเอกสารการตีพิมพ์ชื่อสกุลครั้งแรกโดย Blume ในปี ค.ศ. 1825 ได้ใช้คำว่า 'Acanthophippium' แต่นักพฤกษศาสตร์บางท่านเห็นว่าน่าเป็นการสะกดที่ไม่ถูกต้องจึงได้แก้เป็น 'Acanthephippium'
เรื่องนี้ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่แห่งสวนพฤกษศาสตร์คิว (Royal Botanic Gardens, Kew) สหราชอาณาจักร ผู้รับผิดชอบเรื่องชื่อในฐานข้อมูล ipni.org ได้รับคำตอบว่า Blume เอง เวลาอ้างอิงในเอกสารต่อ ๆ มา ก็ยังใช้ตัวสะกดเช่นเดิมคือ 'Acanthophippium'
ดังนั้น ชื่อสกุลที่ถูกต้อง ณ ปัจจุบันควรใช้เป็น 'Acanthophippium'
ถิ่นอาศัย:
เหยือกน้ำน้อย เป็นกล้วยไม้ป่า ที่พบในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และพบขึ้นในป่าที่ค่อนข้างชื้นใกล้น้ำตก พบตามป่าดิบเขตร้อน ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทางภาคเหนือ ที่ระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
การกระจายพันธุ์:
พบตั้งแต่ทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ไปจนถึง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิก
ลักษณะ:
เหยือกน้ำน้อย เป็นกล้วยไม้ดิน สูงถึง 50 ซม. ลำลูกกล้วยรูปทรงกรวย ถึงรูปทรงกระบอก
ใบ จำนวน 1-2 ใบ แผ่นใบพับจีบ รูปรี ถึงรูปขอบขนาน กว้าง 6-10 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายใบแหลม
ช่อดอก ออกที่โคนลำลูกกล้วยไม่ แบบช่อกระจะ จำนวน 5-10 ดอก
ดอก บานเต็มที่กว้าง 3.5-4 ซม. สีขาวแกมชมพู มีเส้นกลีบสีแดงด้านนอก กลีบปากสีขาวครีมแต้มสีเหลือง กลีบเลี้ยงรูปใบหอกแกมรี กลีบเลี้ยงคู่ข้างสองในสามส่วนเชื่อมติดกัน
กลีบดอกรูปไข่กลับ กลีบปากแยกเป็น 3 พู กลีบปากพูกลางรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ มีสัน 1 สัน หูกลีบปากตั้งตรง เส้าเกสรยาว มีคางเส้าเกสรรูปทรงกรวยคล้ายเดือย
ออกดอกช่วงเดือนไหน?
เหยือกน้ำน้อย ออกดอกช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม