Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: วิธีขยายพันธุ์บอนสี การผสมพันธุ์ วิธีผ่าหัว แยกหน่อ?

การขยายพันธุ์บอนสี สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งมีหลักการสำคัญในการขยายพันธุ์บอนสี สามารถแยกได้ 4 วิธี ได้แก่ การผสมพันธุ์บอนสี, การผ่าหัวบอนสี, การแยกหน่อบอนสี ...

วิธีขยายพันธุ์บอนสี และการผสมพันธุ์บอนสี

การผสมพันธุ์บอนสีเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ผู้ปลูกเลี้ยงสามารถได้ต้นใหม่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์อย่างแน่นอน แต่ต้นที่เกิดจากการผสมเกสรจะได้สายพันธุ์ที่สวยงามหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ขยายพันธุ์บอนสี ผสมพันธุ์ ผ่าหัว แยกหน่อ

ตลอดจนถึงการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ต้นบอนสีจะต้องมีลักษณะแข็งแรง สมบูรณ์ สีสันสวยงามเด่นชัด เช่น สีแดงชมพู เขียว ขาว หรือสองสีอยู่บนใบเดียวกัน เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากนั้นผู้ปลูกเลี้ยงยังนิยมใช้เกสรจากพันธุ์ใบกลมผสมกับใบไทย ใบกลมผสมกับใบกลมหรือใบยาวกับใบกลม จึงทำให้ลูกบอนสีได้มีทั้งใบไทย ใบกลม และใบยาวและส่วนมากไม่นิยมเอาเกสรจากพันธุ์ใบยาวผสมกับพันธุ์ใบยาว จะทำให้ลูกไม้ที่ได้ใหม่ไม่สวย

การผ่าหัวบอนสี

วิธีการผ่าหัวบอนสี เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ดีที่สุดที่นิยมใช้กันแพร่หลายซึ่งมีข้อดี คือ ขยายพันธุ์ได้เร็วและจำนวนมาก ทำให้สามารถผ่าหัวได้ชิ้นเนื้อจำนวนมากถึง 20 ชิ้น ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ปลูกเลี้ยงและขนาดของหัวพันธุ์

นอกจากนั้นต้นที่ได้จากการผ่าหัวส่วนใหญ่จะได้ต้นที่ลักษณะเหมือนต้นเดิม แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์น้อยที่ผ่าหัวแล้วได้บอนสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งวงการบอนสีจะเรียกว่า บอนแผลง หรือ กลายพันธุ์ ทำให้ได้ต้นใหม่ที่ไม่เหมือนกับต้นเดิมซึ่งอาจจะได้ต้นที่ดีกว่าหรือด้อยกว่าต้นเดิม

การเลือกหัวบอนสีที่เหมาะสมควรมีอายุประมาณ 6-8 เดือน ต้นมีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ทำการตัดใบ นำหัวมาล้าง ทำความสะอาดหัวด้วยการตัดรากออกและใช้แปรงสีฟันขัดเบาๆ ให้สะอาด

แล้วนำมาฝั่งไว้ในที่ร่ม ประมาณ 20-30 นาทีเพื่อให้หัวบอนนิ่มเวลาผ่าหัวจะไม่แข็ง การผ่าหัวควรผ่าในช่วงฤดูฝนจะได้ผลดีกว่าฤดูแล้งหรืออากาศร้อนจัด

ขยายพันธุ์บอนสี ผสมพันธุ์ ผ่าหัว
ขยายพันธุ์บอนสี ผสมพันธุ์ ผ่าหัว

การผ่าหัวบอนสี มี 2 วิธี

  1. การผ่าไว้ต้น เป็นการผ่าบอนที่มีสายพันธุ์ต้นเดียว เพื่อกันการผิดพลาดการเน่าเสียอาจสูญเสียพันธุ์ได้ เวลาผ่าให้มีต้นติดกับส่วนหัวไว้แล้วนำไปปลูก ส่วนที่เหลือจึงนำไปผ่าวิธีนี้ เรียกว่า ผ่าไว้จอม
  2. การผ่าล้มต้น เป็นการผ่าทั้งหมดหัว ในกรณีที่เรามีสายพันธุ์อยู่หลายต้นแล้ว การผ่าควรหามีดที่มีความคมและบางมากที่สุด เพื่อผ่าหัวแล้วเนื้อจะไม่แตก

การผ่าควรผ่าจากด้านบนลงมาด้านล่างเป็นชิ้นบางแล้วทอนเป็นท่อนสั้นๆ ประมาณชิ้นไม่เกิน 1 เซนติเมตร หลังจากผ่าเสร็จนำชิ้นเนื้อของหัวบอนสีนำมาใส่ภาชนะหรือกะละมังพลาสติก ใส่น้ำล้างยางให้หมดประมาณ 2-3 ครั้ง

การล้างไม่ควรเอามือลงไปคนน้ำล้างบอน จะทำให้มือเกิดอาการคัน เนื่องจากหัวบอนมียาง ควรใช้ไม้เล็กๆ ที่สะอาดคนเบาๆ แล้วเทน้ำทิ้ง 2-3 ครั้ง หรือดูว่าหมดยางแล้ว ถ้าล้างยางไม่หมดจะทำให้ชิ้นบอนเน่าเสียได้

เมื่อล้างเสร็จแล้วนำไปแช่น้ำปูนแดงหรือยาฆ่าเชื้อราประมาณ 10-20 นาที แล้วนำขึ้นฝั่งลมให้แห้ง ไว้บนกระดาษหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้น ให้นำชิ้นเนื้อลงเพาะในกระบะเพาะชำ

ขยายพันธุ์บอนสี ผสมพันธุ์ ผ่าหัว แยกหน่อ

การเพาะชำชิ้นเนื้อบอนสี

วัสดุที่ใช้เพาะชำชิ้นเนื้อบอน มีหลายชนิด ได้แก่

  1. แกลบดำ ก่อนใช้ควรแช่น้ำไว้ ประมาณ 1 อาทิตย์ เทเปลี่ยนน้ำทิ้งไว้เพื่อให้หมดความเป็นด่าง
  2. ทรายหยาบ ต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายครั้งจนน้ำที่ล้างนั้นใส
  3. อิฐแดง ทุบให้ละเอียดเป็นเม็ดเท่าหัวไม้ขีดแล้วล้างให้สะอาด
  4. ขุยมะพร้าว ล้างน้ำให้สะอาด บีบน้ำให้แห้ง ถ้านำมาใช้ โดยไม่บีบน้ำทิ้งจะมีน้ำมากเกินไป ควรใช้ขุยมะพร้าวให้เพาะชำได้ครั้งเดียว

วัสดุเพาะชำที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้ปลูกเลี้ยง จะใช้ทรายหยาบนำมาใส่ภาชนะกล่องพลาสติกที่มีฝาปิด ให้นำชิ้นเนื้อบอนที่ผ่าไว้วางลงบนทรายหยาบที่ล้างสะอาด มีความชื้นติดอยู่ที่ทราย

วิธีการวางชิ้นบอน

วิธีการวางชิ้นบอน ควรวางชิ้นที่มีผิวติดกับทรายหยาบให้ด้านเป็นเนื้อหงายขึ้นข้างบน เมื่อวางชิ้นเนื้อบอนเรียบร้อยแล้ว ใช้ฝาพลาสติกปิดกล่องไม่ให้ชิ้นเนื้อบอนควรเขียนบันทึก ชื่อบอน วัน เดือน ปี ที่ผ่าและเพาะชำ

ขยายพันธุ์บอนสี ผสมพันธุ์ ผ่าหัว แยกหน่อ

สำหรับกล่องพลาสติกที่เพาะชำชิ้นเนื้อบอนถ้ามีหลายกล่องควรวางบนชั้นวางให้เรียบร้อย โดยจัดวางไว้ใต้ร่ม อย่าให้โดนแดดมาก จะทำให้ชิ้นบอนแห้งหรือเน่าเสียได้

ชิ้นบอนที่วางเพาะชำควรเปิดดูทุกสัปดาห์ หากพบว่ามีสีขาวๆ หรือดำคล้ำเกิดขึ้นให้นำออกมาใช้แปรงถูเบาๆ แล้วล้างด้วยน้ำปูนก่อนที่จะวางลงในกล่องใหม่

ถ้าพบชิ้นใดเน่าให้นำออกทิ้ง หลังจากนั้นบอนจะเริ่มงอกแตกเป็นหน่อเล็กๆเจริญเติบโตหลังจากนั้น 1 สัปดาห์จึงจะเริ่มมีใบ มีรากยาวเป็นต้นกล้าจึงนำต้นกล้าย้ายปลูกลงกระถางผลผลิตขนาด 3-4 นิ้วต่อไป

การแยกหน่อต้นบอนสีที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป หน่อใหม่จะแทงขึ้นมาและผลิใบเต็มที่แล้วจึงแยกหน่อ โดยใช้มีดคมและบางตัดเอาหน่อออกจากต้นเดิมใช้ปูนทาที่รอยแผล แยกลงปลูกในกระถางใหม่ได้

อ้างอิง : เอกสารวิชาการ เรื่อง "บอนสี" โดย นางอรวรรณ วิชัยลักษณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร พิมพ์เมื่อ ปี พ.ศ.2548

รายละเอียดเพิ่มเติม