Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นบอนในสกุล อโลคาเซีย Alocasia ของไทยมีกี่ชนิด ลักษณะแตกต่างกัน อะไรบ้าง?

บอนในสกุล'อโลคาเซีย' Alocasia ของไทย วงศ์ Araceae มี 10 ชนิด บอนขาว บอนกระดาดขาว ว่านนางกวัก บอนกระดาดดง บอนกระดาดจันทน์ แก้วหน้าม้า บอนกระดาด บอนก้านเดียว บอนเมาะ บอนเอาะลาย

บอน 'อโลคาเซีย' Alocasia ของไทย

ปัจจุบันกระแสไม้ประดับในกลุ่มบอน กำลังได้รับนิยมและความสนใจกันมากขึ้น ส่งผลให้มีราคาสูงขึ้นมาก 

ดังนั้นผู้ที่สนใจพรรณไม้ในกลุ่มบอนในสกุลอโลคาเซีย Alocasia (ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ บอนในสกุลโคโลคาเซีย Colocasia) บทความนี้จึงขอนำเสนอรายชื่อ Alocasia อโลคาเซียของไทย

พรรณไม้สกุลอโลคาเซีย Alocasia (Schott) G. Don หรือสกุลบอนกระดาด ถูกจัดอยู่ในวงศ์บุกบอน (Araceae) มีถิ่นกำเนิด กระจายพันธุ์ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของเอเชีย ไปจนถึงทางตะวันออกของออสเตรเลีย ขยายพันธุ์โดยการแยกหัว และเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกประดับสถานที่ ปลูกเป็นไม้กระถาง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ สกุล Alocasia อโลคาเซีย

ลักษณะต้นบอนอโลคาเซีย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเป็นกระจุกที่ปลายยอดลำต้นเหนือดิน หรือออกจากข้อห่าง ๆ

แผ่นใบอโลคาเซีย Alocasia มีหลายลักษณะเช่น รูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปรี รูปหัวใจ รูปสามเหลี่ยม รูปเลี้ยงลูกศร ก้านใบติดที่แผ่นใบด้านล่างหรือติดที่ฐานของแผ่นใบ

ดอกอโลคาเซีย Alocasia เป็นช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบหุ้ม กาบหุ้มช่อดอกมีรอยคอด กาบหุ้มช่อดอกใต้รอยคอดม้วนเป็นหลอด กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดแผ่ขยายออก ช่อดอกมีก้านหรือไม่มี

ดอกย่อยเป็นชนิดดอกแยกเพศอยู่ร่วมช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงไม่มีกลีบดอก ปลายช่อดอกเป็นรยางค์ กลุ่มดอกเพศผู้ มีดอกเพศผู้จำนวนมากอัดกันแน่นรอบแกนช่อดอกถัดมาจากรยางค์ที่ปลายช่อดอก

กลุ่มดอกเพศเมีย ติดรอบแกนช่อดอกที่โคนช่อดอก กลุ่มดอกที่เป็นหมันอยู่ระหว่างกลุ่มดอกเพศผู้และกลุ่มดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมกัน จำนวน 3-8 อัน หรือเชื่อมกันตามแนวยาว อับเรณูแตกที่ปลาย ดอกเพศเมีย รังไข่มี1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 

ผล(ฝัก)อโลคาเซีย Alocasia มีลักษณะเป็นแบบผลสดมีเนื้อนุ่ม เมล็ด จำนวน 1-3 เมล็ด รูปค่อนข้างกลม

พรรณไม้ในสกุล Alocasia (Schott) G. Don ที่เป็นสปีชีส์ (Species) พันธุ์ป่าแท้ ๆ ทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ 90 ชนิด สำหรับในประเทศไทย พบประมาณ 10 ชนิด

พรรณไม้ สกุล Alocasia อโลคาเซียของไทย

1. บอนขาว Alocasia acuminata Schott, Bonplandia 7:28. 1859

บอนขาว มีชื่ออื่น คือ กะเจาะ, ขอนขาว, อโลคาเซียใบกลม มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า ชื่อสามัญ Giant Taro, Giant Elephant Ear, Upright Elephant Ear

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุก ไม้หัว มีลำต้นอยู่ใต้ดิน อายุหลายปีขนาดกลางสูง 1 ม. ใบรูปไข่ รูปหัวใจ เส้นแขนงใบ 5-11 คู่ ก้านใบติดที่ด้านล่างของแผ่นใบ ใบสีเขียวสดใส รูปเงี่ยงใบหอกแกมรูปหัวลูกศร ถึงรูปไข่แกมรูปเงี่ยงใบหอก ยาว 15-60 ซม. กว้าง 8-20 ซม. หลังใบมีแฉก ก้านใบ ยาว 15-80 ซม. ผิวเกลี้ยง มีกาบที่โคนต้น

รายละเอียดเพิ่มเติม

ช่อดอก จำนวน 1-2 ช่อ ช่อดดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ก้านช่อดอกสีเขียว ยาว 9-20 ซม. กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอด กาบหุ้มช่อดอกยาว 7-10 ซม. รูปร่างคล้ายรูปเรือโค้งงอเข้าหาช่อดอก สีขาว โคนกาบสีเขียวคล้ายรูปไข่

ดอกรูปปากแตรสีเขียวอ่อน รูปใบหอก ขนาด 5.5-7.5 ซม. ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปกรวยคว่ำยาว 2.5-5 ซม. สีขาว กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 1.5-4 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1-2 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 2-4 ซม.

ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 4-8 อัน ดอกเพศเมียรูปไข่ รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 4-8 อัน ก้านชูยอดเกสรเพศเมียยาว 0.5-2 มม. ยอดเกสรเพศเมีย 3-4 แฉก

ผลรูปทรงค่อนข้างกลม, ทรงกลมแกมทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.75 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีส้ม สีส้มอมแดง ถึงสีแดง เมล็ด จำนวน 1-2 เมล็ด รูปค่อนข้างกลม

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มหรือกระจายในป่าดิบชื้น ตามริมลำธาร บนเขาหินปูน ที่มีความชุ่มชื้น ความสูง300-1100 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม ติดผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน

การกระจาย: พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ต่างประเทศพบที่บังคลาเทศ, ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, ตอนเหนือของลาว, ตอนเหนือของประเทศพม่า, เนปาล, ไทย, ตอนเหนือของเวียดนาม

2. บอนกระดาดขาว, บอนกระดาษขาว Alocasia alba Schott, Oesterr. Bot. Wochenbl. 2:59. 1852; Miq

บอนกระดาดขาว, บอนกระดาษขาว, อโลคาเซีย อัลบ้า มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Upright Elephant Ear, Elephant's Ear

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดใหญ่สูงถึง 2 ม. ใบรูปไข่ รูปเลี้ยงลูกศรแกมรูปไข่ เส้นแขนงใบ 9-11คู่ก้านใบติดที่ฐานของแผ่นใบ

รายละเอียดเพิ่มเติม

ช่อดอกจำนวน 1-2 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 11-17 ซม. รูปร่างคล้ายรูปเรือ โค้งเข้าหาช่อดอก ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปกรวยคว่ำ ยาว 5.5-8 ซม. กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 2.5-4 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1.5-2.5 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 1-3 ซม.

ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 5-8 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงค่อนข้างกลมรังไข่มี 1ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 4-6 อัน ยอดเกสรเพศเมียรูปดาว 3-4 แฉก

ผลรูปทรงค่อนข้างกลม สีเขียวเมื่อสุกสีส้มถึงสีแดง

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มหรือกระจายในป่าดิบชื้น ใต้ร่มเงาหรือที่โล่ง ตามริมลำธารที่มีความชุ่มชื้น ความสูง 200-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ติดผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ต่างประเทศพบในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย

3. ว่านนางกวัก Alocasia cucullata (Lour.) G. Don in R.Sweet, Hort. Brit., ed. 3: 361. 1839

ว่านนางกวัก มีชื่ออื่นว่า ว่านนกคุ่ม, ว่านนกคุ้ม, ว่านทรหด, นางกวัก, อโลคาเซีย มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Chinese taro มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุก เป็นไม้หัว มีหัวอยู่ใต้ดิน สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นตรง แตกกิ่งก้าน อายุหลายปี ใบรูปหัวใจหรือรูปไข่กว้าง ใบรูปไข่กว้างแกมรูปหัวใจ กว้าง 7-28 ซม. ยาว 10-40 ซม. โคนใบรูปหัวใจตื้น ปลายใบแหลม ก้านใบยาว 30-90 ซม. เส้นแขนงใบ 4-8 คู่ ก้านใบติดที่แผ่นใบด้านล่างช่อดอก จำนวน 1-2 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 5-30 ซม. รูปร่างคล้ายรูปเรือหรือรูปขอบขนาน

รายละเอียดเพิ่มเติม

ดอกออกเป็นช่อ สีเหลืองอ่อน เป็นแท่งกลมยาว มีกาบหุ้ม มีดอกเพศผู้อยู่ส่วนบน เพศเมียอยู่ด้านล่าง ดอกไม่มีเพศคั่นกลาง

ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกรวยคว่ำ ยาว 0.7-4 ซม. กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 2-3 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว1-2 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 2-3.5 ซม.

ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมกัน 5-8 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงกระบอกเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 3 อันหรือมากกว่า รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 1-2 อัน ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม มีแฉก 2-3 แฉก

ผล แบบผลสดมีเนื้อนุ่ม ค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 มม. เมื่อแก่สีแดง มักไม่ติดผล หรือ ติดผลน้อย

นิเวศวิทยา: พบขึ้นในที่โล่งมีแสงส่องถึงหรือในที่ร่ม บริเวณร่มรำไร ปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมติดผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

การกระจาย: ปลูกเป็นไม้ประดับพบได้ทั่วประเทศไทย พบที่ความสูงตั้งแต่ 0-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลต่างประเทศพบที่ จีน ไต้หวัน บังคลาเทศ, เนปาลอินเดีย, ลาว, พม่า, เนปาล, ศรีลังกา, ไทย, เวียดนาม

ประโยชน์: ปลูกเป็นไม้ประดับ สมุนไพร, ปลูกประดับตามริมสระน้ำ หนองน้ำ

ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีแยกกอ แยกหน่อ

4. บอนกระดาดดง Alocasia fornicata (Kunth) Schott

บอนกระดาดดง อโลคาเซียกระดาดดง มีชื่อพ้อง คือ Arum fornicatum Roxb., Colocasia fornicata Kunth

5. บอนกระดาดจันทน์ Alocasia hypoleuca P.C.Boyce

บอนกระดาดจันทน์ มีชื่ออื่นอีก คือ บอนกระดาดขาวจันทบูร, บอนกระดาดขาว, อโลคาเซียกระดาดจันทน์, มอก, เมาะ

ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูงถึง 4 ม. ลำต้นตั้งตรง สูงถึง 2 ม. กว้าง 10-20 ซม. มีน้ำยางใส ตามส่วนต่าง ๆ เกลี้ยง ส่วนอ่อน ๆ อาจมีนวลสีขาว

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ยาวประมาณ 100 ซม. กว้าง 50 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น โคนใบรูปเงี่ยงลูกศร, เส้นแขนงใบ 7-9 คู่ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมันเงา ด้านล่างมักมีนวลขาว ก้านใบติดที่โคนใบ หรือในต้นอ่อนโคนใบแบบก้นปิด

ช่อดอกเชิงลดมีกาบ ยาว 24-26 ซม. แกนช่อดอกรูปทรงกระบอกปลายเรียวแหลม ยาว 15-20 ซม. สีขาวครีม กาบรองดอกรูปใบหอกปลายแหลม สีขาวครีมหรือออกเหลืองอ่อน ยาว 15-20 ซม. ห่อตัวโอบปลายแกนช่อดอก โคนกาบป่อง

ถิ่นอาศัย พบตามชายป่าดิบ หรือริมน้ำ ในที่มีแสงรำไร-ที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูง 100-500 ม. เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) พบเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี

สรรพคุณ หัวหรือลำต้น (หรือใช้ กระดาด/กระดาดขาว (Alocasia macrorrhizos) แทนก็ได้) : ฝานแล้วสตุโดยต้มกับสารส้ม (ทำให้ขาวและเก็บได้นานขึ้น) แล้วตากแห้ง ใช้เข้ายาแก้กระษัย กัดเถาดาน กัดเมือกมันในลำไส้

6. แก้วหน้าม้า Alocasia longiloba Miq. F. Ned. Ind. 3: 207. 1856; Bot. Zeit 14:561, 1856.

แก้วหน้าม้า มีชื่ออื่น คือ กะเจาะนก, บอนเปรี้ยว, เอาะนก, อโลคาเซียใบลาย และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ คือ Candelabra

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 60-150 ซม. ใบเดี่ยว ใบรูปสามเหลี่ยม รูปเลี้ยงลูกศร เส้นแขนงใบ 6-12 คู่ ใบเรียงสลับกัน สีเขียว ใบบิดไปมาทั่วทั้งใบ เส้นใบสีขาว ก้านใบเขียวอมน้ำตาล ก้านใบติดที่ด้านล่างของแผ่นใบ

ช่อดอก จำนวน 1-2 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 6-12 ซม. ขยายคล้ายรูปเรือหรือรูปหอก โค้งเข้าหาช่อดอก ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกระบอกปลายแหลม ยาว 3.5-10 ซม. กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 1.5-2.5 ซม.กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1-2 ซม.

กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 0.7-1.5 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 4-8 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงกลม รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 5-10 อัน ยอดเกสรเพศเมียรูปดาว 3-4 แฉก

ผลรูปทรงค่อนข้างกลม สีเขียวเมื่อสุกสีส้มถึงสีแดง เมล็ด จำนวน 1-3 เมล็ด ค่อนข้างกลม

นิเวศวิทยา: พบกระจายในป่าดิบชื้น ริมลำธาร น้ำตก ป่าพรุ บนภูเขาหรือเขาหินปูนที่มีความชุ่มชื้น ร่มรำไร ความสูง 0-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ติดผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

การขยายพันธุ์ โดยการแยกหัว และเพาะเมล็ด

การกระจาย: ถิ่นกำเนิด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียเขตร้อน และอินโดนีเซีย   ประเทศไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ การกระจายพันธุ์ ประเทศจีน อินโดจีน ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา ชวา ไปยังเกาะบอร์เนียว และสุลาเวสี

ประโยชน์: ปลูกเป็นไม้ประดับ เข้ายาแก้ไข้แก้โรคต่างๆ

7. บอนกระดาด Alocasia macrorrhizos (L.) G. Don in R. Sweet, Hort. Brit. ed. 3: 631. 1839.

บอนกระดาด มีชื่ออื่น คือ อโลคาเซียกระดาด, กระดาดดำ, กระดาดแดง, กลาดีบูเก๊าะ, คือ, โทป๊ะ, บอนกาวี, บึมบื้อ, เผือกกะลา, เผือกโทป้าด, มันโทป้าด, โหรา, เอาะลาย และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ คือ Elephant ear taro, Giant taro, Elephant’s ear, Giant Alocasia, Elephant Ear

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่ อายุหลายปี ขนาดใหญ่ สูงถึง 2.5ม. ลำต้นสั้น อวบ เป็นหัวอยู่ใต้ดิน

ใบรูปไข่กว้าง รูปเลี้ยงลูกศรแกมรูปไข่ เส้นแขนงใบ 6-10 คู่ ก้านใบติดที่ฐานของแผ่นใบ ช่อดอก จำนวน 1-2 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 20-30 ซม.ขยายออกเป็นรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกระบอกปลายแหลม ยาว 12-20 ซม.

กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 3-7 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1-2 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 1-3 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน 5-8 อัน ดอกเพศเมีย รูปทรงค่อนข้างกลม รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 5-7 อัน ยอดเกสรเพศเมียรูปดาว มี 3-5 แฉก 

ผล มีเนื้อนุ่ม เมื่อสุกสีส้มหรือสีแดง ผลรูปรี ยาวประมาณ 5 มม.-1.2 ซม. ผิวบาง มี 1 เมล็ด มักไม่ติดผล

นิเวศวิทยา: พบขึ้นในที่โล่งแจ้ง ในสวนยางพาราที่มีแสงรำไร ใต้ร่มเงา ตามแหล่งน้ำ ระดับความสูง 10-800เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม

การกระจาย: พบได้ทุกภาคของประเทศ ต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย

ประโยชน์: ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกประดับสถานที่ และมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร, ใบ รสเย็น แก้การอักเสบบวมแดงตามข้อ; น้ำจากก้านใบ รสเย็น คั้นรับประทานแก้ไอ; ราก รสเย็นจืด ต้มรับประทาน ขับปัสสาวะ ระบายท้อง แก้พิษแมลงป่อง; หัว รสเย็นเมา โขลกพอกแผลที่มีหนอง

การขยายพันธุ์ โดยการแยกหัว แยกหน่อ และเพาะเมล็ด

8. บอนก้านเดียว Alocasia navicularis (K. Koch & C.D. Bouché) K. Koch & C.D. Bouché, index Seminun 2. 1855.

บอนก้านเดียว, อโลคาเซียบอนก้านเดียว มีชื่อพ้องคือ Colocasia navicularis K.Koch & C.D.Bouché 

บอนก้านเดียว มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง เส้นแขนงใบ 6-10 คู่ ก้านใบติดที่ด้านล่างของแผ่นใบช่อดอก จำนวน 1 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 7-10 ซม. ขยายคล้ายรูปเรือ 

ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปกรวยคว่ยาว 3-5 ซม. กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 1.5-2 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1-2 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 2-2.5 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 4-6 อัน ดอกเพศเมียรูปไข่ 

รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 3-6 อัน ก้านชูยอดเกสรเพศเมียยาว 1.5-3 มม. ยอดเกสรเพศเมียมี 3-4 แฉก แฉกค่อนข้างกลม ผลรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม สีเขียว

นิเวศวิทยา: พบขึ้นกระจายในป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ตามริมลำธาร ความสูง 400-1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม ติดผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ต่างประเทศพบที่พม่า

9. บอนเมาะ Alocasia odora (Lindl.) K. Koch, Index Seminum. 2.1854.

บอนเมาะ, อุตพิต, อโลคาเซีย โอโดร่า มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดใหญ่สูงถึง 2.5 ม. ใบรูปไข่ รูปไข่กว้าง เส้นแขนงใบ 6-10 คู่ ก้านใบติดที่ด้านล่างของแผ่นใบ

ช่อดอก จำนวน 1-2 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 10-20 ซม. ขยายออกคล้ายรูปเรือ ปลายช่อเป็นรยางค์รูปกรวยคว่ายาว 7-13 ซม.

กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 3-5 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 2-4ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 2-2.5 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 3-8 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก

รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 10-12 อัน ยอดเกสรเพศมีแฉกนูนยื่นออกมา 3-4 แฉก ผลรูปไข่สีส้มหรือสัมปนแดง เมล็ดค่อนข้างกลม

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ตามริมลำธาร ใกล้แหล่งน้ำ ระดับความสูง 500-1,400เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ ติดผลเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ต่างประเทศพบที่ประเทศจีน ฟิลิปปินส์

10. บอนเอาะลาย Alocasia perakensis Hems!., J. Bot. 25: 205. 1887; A. Hay, Gard. Bull, Sing. 50(2): 316, 1998.

ลักษณะบอนเอาะลาย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบออกตามข้อห่าง ๆ จำนวนใบขึ้นอยู่กับความยาวของลำต้น ใบรูปรี เส้นแขนงใบ 4-5 คู่ ก้านใบติดที่ด้านล่างของแผ่นใบ

ช่อดอกเป็นช่อเชิงลด จำนวน 1-2 มีก้านยาว 0.4 ซม. กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 3 ซม. ช่อดอกเชิงลด ปลายซ่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกระบอกแคบ ยาว 2.5ซม.

กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 1.5 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 0.7 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 2.5 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 3-5 อัน ดอกเพศเมีย ทรงกลม ยอดเกสรเพศเมีย 2-3 แฉก ผลสีเขียวเมื่อสุกสีแดงสด

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ตามริมลำธาร ใกล้แหล่งน้ำ ความสูง 500-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม ติดผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคใต้ที่จังหวัดยะลา (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบาลา-ฮาลา) ต่างประเทศพบที่ประเทศมาเลเซีย

Alocasia sp.

ไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดใหญ่สูงถึง 3 ม. ใบรูปไข่ รูปไข่กว้าง เส้นแขนงใบ 9-10 คู่ ก้านใบติดที่ฐานของแผ่นใบ ช่อดอก จำนวน 1-2 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 25-30 ซม. รูปหอกแกมขอบขนาน 

ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกระบอกปลายแหลมยาว 6-15 ซม. กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 12-16 ซม.กลุ่มดอกเพศเมียยาว 3-4 ซม. 

 กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 7-15 ซม. ดอกเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นแถบยาว ดอกเพศเมียรูปทรงขอบขนาน รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 10-12 อัน ยอดเกสรเพศเมีย 3-5 แฉก

ผลรูปไข่ สีเขียวเมื่อสุกสีส้มอมแดง เมล็ดค่อนข้างกลม

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดิบชื้น ใกล้แหล่งน้ำ ในสวนยางพารา ความสูง 50-500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง และกระบี่

นอกจากนี้ ยังมีอโลคาเซียเคยอยู่ในสกุลอโลคาเซีย แต่ปัจจุบันถูกย้ายไปอยู่ในสกุล Englerarum คือ

บอนกระดาด, บอนกระดาษ Alocasia hypnosa J.T. Yin, Y.H. Wang & Z.F. Xu, Ann. Bot. Fenn. 42: 395. 2005.

ปัจจุบัน Alocasia hypnosa J.T.Yin, Y.H.Wang & Z.F.Xu เป็นชื่อพ้อง ของ Englerarum hypnosum (J.T.Yin, Y.H.Wang & Z.F.Xu) Nauheimer & P.C.Boyce

บอนกระดาด Englerarum (Alocasia) hypnosum
source: Englerarum hypnosum on limestone rock, Kanchanaburi, Thailand. Photo by Vertical Garden Patrick Blanc

อโลคาเซีย ไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงถึง 1.5 ม. ลำต้นเป็นไหลออกมาพร้อมหัวกลม ใบรูปไข่ รูปไข่กว้าง เส้นแขนงใบ 8-10 คู่

ช่อดอก จำนวน 1-3 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาวถึง 25 ซม.แผ่ขยายคล้ายรูปเรือกว้าง สีขาวต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วง ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกรวยคว่ำแคบยาว ยาวถึง 16.5 ซม. สีขาว กลุ่มดอกเพศผู้ ยาว 2-3.5 ซม.

กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1.5-3 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 3-6 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 5-8 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงขอบขนาน รังไข่มี 1ช่อง ออวุลติดที่ฐาน 3-4 อัน ก้านชูยอดเกสรเพศเมียยาว 1 มม. ยอดเกสรเพศเมียมี 3-4 แฉก

ผลรูปทรงค่อนข้างกลม สีเขียวเมื่อสุกสีส้มหรือสีแดง เมล็ด 1-2 เมล็ด ค่อนข้างกลม

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดิบชื้น ป่าดิบชื้นผสมไผ่ ใกล้ลำธาร บนเขาหินปูนที่มีความชุ่มชื้น ความสูง 200-1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ติดผลเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์

การกระจาย: พบทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ต่างประเทศพบที่ประเทศจีน (ยูนนาน)

อโลคาเซีย จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมี อโลคาเซีย จากต่างประเทศ ที่นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น อโลคาเซีย เสน่ห์จันทร์ขาว Alocasia lindenii Rodigas, อโลคาเซีย แก้วหน้าม้า Alocasia longifolia Miq. , อโลคาเซีย แก้วหน้าม้า Alocasia lowii Hook. เป็นต้น

อ้างอิง

รายละเอียดเพิ่มเติม