✓ลักษณะวงศ์พรรณไม้ 'วงศ์บอน' Araceae (Aroids) ของไทย?

ลักษณะพรรณไม้ วงศ์บอน Araceae หรือ Aroids ลักษณะประจำวงศ์ ลำต้น ใบ กาบหุ้มลำต้น ช่อดอกและดอก รายชื่อบอนสกุลต่างๆ ในวงศ์บอน ของไทย มีกี่สกุล กี่ชนิด...

วงศ์บอน Araceae (Aroids)

ในประเทศไทยมีการนําพืชวงศ์บอน Araceae หรือที่มักนิยมเรียกชื่อสามัญว่า Aroids มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านของการเป็นพืชอาหาร (ตัวอย่างเช่น ต้นบุก บอน และ เผือก) ในด้านพืชสมุนไพร ยารักษาโรค (เมล็ดและหัวของพืชในสกุลอุตพิต Typhonium spp.) 

ลักษณะพรรณไม้ วงศ์บอน (Aroids) ประเทศไทย

และสกุลบุกเตียง (Arisaema spp.) ให้สารป้องกันการเกิดมะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย) และ ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ต้นเดหลี หน้าวัว แก้วหน้าม้า อโกลนีมา และ ว่านใบพาย เป็นต้น)

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะประจำวงศ์บอน Araceae

ลักษณะลำต้น

ไม้ล้มลุก ขึ้นในน้ำ บนดิน หรืออิงอาศัย หรือไม้เถาเลื้อย ลักษณะลำต้น เป็นลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่สามารถใช้ในการจำแนกกลุ่มของพืชวงศ์บอนได้

โดยสามารถสรุปแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • กลุ่มที่มีลำต้นอากาศเกาะเลื้อย ไม่มีลำต้นใต้ดินสะสมอาหาร (Aerial and erect to climbing) พบในสกุล Scindapsus สกุล Rhaphidophora และ สกุล Pothos
  • กลุ่มที่มีลำต้นใต้ดิน สะสมอาหารเป็นรูปหัวกลมหรือยาว (depressed –globose tuber) พบได้ในสกุล Amorphophallus สกุล Hapaline สกุล Pseudodracontium สกุล Pycnospatha และสกุล Typhonium
  • กลุ่มที่มีลำต้นใต้ดิน สะสมอาหารในรูปเหง้า ได้แก่สกุล Alocasia สกุล Aglaonema สกุล Cryptocoryne และสกุล Lasia

ลำต้นวงศ์บอน

ลักษณะใบ

ลักษณะใบของพืชวงศ์บอน ใบมีขนาดใหญ่ ก้านใบยาว เจริญจากลําต้นใต้ดิน ก้านใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างเป็นสันนูนใหญ่ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

  • ใบเดี่ยว ที่จัดเรียงตัวแบบเวียนสลับ หรือเรียงตัวแบบระนาบเดียว แผ่นใบสามารถมีรูปร่างได้หลากหลาย ทั้งใบยาวคล้ายเส้นด้าย โดยมีโคนใบเป็นรูปหัวใจ หรือรูปเงี่ยงลูกศร 
  • ใบประกอบ ที่มีลักษณะเป็นแผ่น
  • ใบประกอบแบบขนนก ( pinnate, radiate, pedate, หรือ decompounds), หรือกลุ่มแผ่นใบที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่เรียกว่า“dracontioid”
ลักษณะใบ aroids

ลักษณะของกาบหุ้มลำต้น (Cataphylls)

กาบหุ้มลำต้น หรือ Cataphylls สามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ หลุดร่วงได้ง่าย และ ติดอยู่คงทน ซึ่งกาบหุ้มลำต้นทั้งสองแบบ อาจมีสีสรรหรือมีแบบหรือสีสรรที่สวยงาม มีลักษณะเป็นแผ่นบาง หรือเป็นแผ่นหนาคล้ายหนังก็ได้

ลักษณะของกาบหุ้มลำต้น (Cataphylls)

ลักษณะช่อดอก (Inflorescence)

ช่อดอกสามารถแบ่งได้เป็นช่อดอกเดี่ยวที่เกิดที่ปลายยอด หรือช่อดอกที่เกิดที่โคนง่ามใบ ที่อาจพบช่อดอกได้ตั้งแต่จำนวน 2 ช่อดอกขึ้นไป มีทั้งช่อดอก แบบช่อเชิงลดมีกาบ (spadix)

กาบหุ้มช่อดอก ของพืชวงศ์บุกบอนจะมีลักษณะแปรผันทั้งในส่วนของรูปร่างและสีสรร แต่โดยทั่วไปจะมีเขียว ยืดตรง หรือโค้งพับ กาบหุ้มช่อดอก (spathe) หลายสี ไม่มีใบประดับ

ลักษณะช่อดอกและดอก (Spadix and flowers)

ลักษณะดอกของพืชวงศ์บอน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือดอกสมบูรณ์เพศ (bisexual flowers) และดอกแยกเพศ (unisexual flowers)

ลักษณะดอกของพืชวงศ์บุกบอน
  • ดอกขนาดเล็ก ไม่มีก้านดอก สมบูรณ์เพศหรือแยกเพศร่วมต้น
  • ถ้าแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศเมียจะอยู่ตอนล่างของช่อดอก และ ดอกเพศผู้อยู่ตรงกลางหรือด้านบนตอนปลายช่อดอก กลีบรวมแยกหรือเชื่อมติดกัน เรียง 2 วง วงละ 3 กลีบ รังไข่ 1–3 ช่อง คาร์เพลเชื่อมกัน ก้านเกสรเพศเมียไม่ชัด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก
  • ผลเป็นแบบผลสดมีเนื้อนุ่มฉํ่านํ้ามีเมล็ดอยู่ภายใน หนึ่งถึงหลายเมล็ด

การกระจายพันธุ์ ทั่วโลก พบมากในเขตร้อน มี 155 สกุล ประมาณ 4,000 ชนิด ในประเทศไทยมีประมาณ 31 สกุล 210 ชนิด หลายชนิดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งเป็นพืชอาหารและไม้ดอกไม้ประดับ

สกุลบอน ในวงศ์ Araceae ของไทย

  1. Aglaodorum Schott
  2. Aglaonema Schott
  3. Alocasia (Schott) G.Don
  4. Amorphophallus Blume ex Decne.
  5. Amydrium Schott
  6. Anadendrum Schott
  7. Apoballis Schott
  8. Ariopsis Nimmo
  9. Arisaema Mart.
  10. Colocasia Schott
  11. Cryptocoryne Fisch. ex Wydler
  12. Englerarum Nauheimer & P.C.Boyce
  13. Epipremnum Schott
  14. Hapaline Schott
  15. Homalomena Schott
  16. Kiewia S.Y.Wong & P.C.Boyce
  17. Lasia Lour.
  18. Lemna L.
  19. Leucocasia Schott
  20. Pistia L.
  21. Pothos L.
  22. Pycnospatha Thorel ex Gagnep.
  23. Remusatia Schott
  24. Rhaphidophora Hassk.
  25. Sauromatum Schott
  26. Schismatoglottis Zoll. & Moritzi
  27. Scindapsus Schott
  28. Spirodela Schleid.
  29. Steudnera K.Koch
  30. Typhonium Schott
  31. Wolffia Horkel ex Schleid

(ตัวอย่าง)พรรณไม้ 10 ชนิด 10 สกุล ในวงศ์บอน ที่พบในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์

1. สกุล อโกลนีมา Aglaonema

ว่านขันหมาก Aglaonema simplex Blume พบเจริญอยู่บนดิน ที่พิกัด14°39’27.39”N 99°17’55.06”E อุณหภูมิ 26.8 ºC ความเข้มแสง 189 Lux ความชื้นในดิน 9.0 pH ของดิน 7.0 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 77% สามารถอยู่ในสภาพนํ้าท่วมขังหรือสภาพแห้งแล้งได้ ระบบรากเป็นรากฝอยแผ่กระจายอยู่ใต้ดินในระดับตื้น

ว่านขันหมาก Aglaonema simplex

ลําต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน ตั้งตรง มีข้อถี่ ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบเวียนถี่รอบลําต้นรูปร่างยาวเรียวคล้ายใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย พื้นใบมีสีเขียวอ่อนจนเขียวเข้ม

ดอกจะออกเป็นช่อเชิงลดมีกาบ ดอกย่อยขนาดเล็กอัดกันแน่นบนแกนกลาง มีใบประดับขนาดใหญ่รองรับช่อดอก ช่อดอกเป็นแท่งทรงกระบอก

ผลเดี่ยว มี 1-3 เมล็ด มีเนื้อนุ่มรูปไข่ สีเขียว สีเหลือง เมื่อแก่จัดเป็นสีแดง ติดผลครั้งละประมาณ 3-6ผล 

ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ ปักชําลําต้น และเพาะเมล็ด

2. สกุล บุก Amorphophallus

บุกคางคก Amorphophallus paeoniifolius (Dennst.) Nicolson พบเจริญอยู่ในดินปนทราย ที่พิกัด 14°39’21.56”N 99°17’25.46”E อุณหภูมิ 27.5 ºC ความเข้มแสง 3,250 Lux ความชื้นในดิน 8.0 pH ของดิน 6.8 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 73% และที่พิกัด 14°39’06.58”N 99°17’38.32”E ความเข้มแสง1,016 Lux ความชื้นในดิน 7.5 pH ของดิน 6.7 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 83%

สามารถเจริญเติบโตอยู่บริเวณพื้นดินชุ่มชื้นมีแสงแดดส่องรําไร และพบในบริเวณที่มีแสงแดดจัด ความชื้นในดินค่อนข้างตํ่า

บุกคางคก Amorphophallus paeoniifolius

มีลําต้นใต้ดินหรือหัวแบบเผือก รูปร่างกลม ผิวรอบนอกของหัวใต้ดินมีสีนํ้าตาล ผิวขรุขระ ใบประกอบแบบนิ้วมือ ก้านใบกลมยาว มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกปลายเรียว ผิวขรุขระ สีเขียวเข้มสลับลายสีเขียวออกขาว

แผ่นใบอยู่บริเวณปลายสุดของก้านใบ มีลักษณะเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกจะมี 2 ใบย่อย การเรียงเส้นใบแบบขนนก ใบย่อยปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย สีเขียวอ่อนถึงเข้ม

ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ช่อผลมีลักษณะเป็นแท่งยาวตรงขนาดใหญ่รูปทรงกระบอก ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จัดผลสุกมีสีแดง ส้ม และแสด มีเมล็ดภายใน 1-3 เมล็ด 

ขยายพันธุ์โดยใช้ลําต้นใต้ดิน และการเพาะเมล็ด

3. สกุล อโลคาเซีย Alocasia 

แก้วหน้าม้า Alocasia lowii Hook.f. เป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้นมาก สามารถเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่ห่างออกมาจากริมลําธารได้ แต่เจริญอยู่ในสภาพความเข้มแสงตํ่า มีร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่กว่าช่วยพรางแสงจากดวงอาทิตย์ โดยพบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°39'23.14” N 099°17'25.60” Eอุณหภูมิ 27.1 ºC ความเข้มแสง 864 Lux ความชื้นในดิน 7.5 pH ของดิน 7.5 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 72 % เจริญอยู่บนดินที่ชุ่มชื้น แสงแดดส่องถึง รากเจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

แก้วหน้าม้า Alocasia lowii

ลําต้นเป็นแบบเผือก สีนํ้าตาลเข้มก้านใบสีม่วงดํา ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบรูปสามเหลี่ยม โคนใบรูปหัวลูกศร ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้าเส้นแขนงใบ 6-12 คู่ เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ผลรูปทรงค่อนข้างกลม สีเขียว เมื่อสุกมีสีส้ม เมล็ดจํานวน 1-3 เมล็ด ค่อนข้างกลม นํามาขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

4. สกุล Arisaema

ว่านกลิ้งคก Arisaema putii Gagnep. พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°40'20.56” N099°17'25.12” E อุณหภูมิ27.5 ºC ความเข้มแสง 745 Lux ความชื้นในดิน 5.4 pH ของดิน 7.0 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 73 % เจริญอยู่บนดินที่ชื้น แสงแดดส่องถึง รากเจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

ว่านกลิ้งคก Arisaema putii

ลําต้นเป็นแบบเผือก สีนํ้าตาล ใบสีเขียว ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ มีรูปร่างใบแบบรูปไข่ โคนใบมนหรือเบี้ยวปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ นํามาขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

5. สกุล โคโลคาเซีย Colocasia

บอน Colocasia esculenta (L.) Schott พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°39'14.61” N099°17'43.33” E อุณหภูมิ 26.10 ºC ความเข้มแสง 1,680 Lux ความชื้นในดิน 3.5 pH ของดิน 7.5 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 68 % เจริญตามริมลําธาร มีรากแบบระบบรากฝอย รากเจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

บอน Colocasia esculenta (L.) Schott

ลําต้นเป็นแบบเผือก สีนํ้าตาลเข้ม ใบสีเขียวเข้ม ผิวไม่มัน รูปร่างใบรูปหัวใจ โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

และบอนจีนดํา พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°39'34.61” N 099°17'17.43” E อุณหภูมิ 27.40 ºC ความเข้มแสง 693 Luxความชื้นในดิน 10.0 pH ของดิน 7.2 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 92 % เจริญตามริมลําธาร มีก้านใบสีม่วงดํา ใบสีเขียวเข้ม นํามาขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

6. สกุล Cyrtosperma

ผักหนามฝรั่ง Cyrtosperma johnstoni N.E.Br. พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°40'57.54”N 099°17'11.07” E อุณหภูมิ 23.1 ºC ความเข้มแสง 795 Lux ความชื้นในดิน >8.0 pH ของดิน 5.5 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 68 % เจริญอยู่ริมลําธาร รากเจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

ผักหนามฝรั่ง Cyrtosperma johnstoni

ลําต้นเป็นเหง้าทอดขนานกับพื้น สีนํ้าตาล ก้านใบมีหนาม ใบสีเขียวเข้ม มีรูปร่างใบแบบใบหอก โคนใบแบบรูปเงี่ยงลูกศร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ใบประดับสีนํ้าตาล ผลมีรูปร่างสี่เหลี่ยมปลายป้านขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีส้ม เมล็ดสีนํ้าตาล ขนาดเล็ก ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

7. สกุล Hapaline

Hapaline kerrii Gagnep. พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°39'30.05” N 099°17'33.84” E อุณหภูมิ28.9 º C ความเข้มแสง 1763 Lux ความชื้นในดิน 7.7 pH ของดิน 7.0 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 87 % เจริญอยู่บนดินที่ชื้น แสงแดดส่องถึง รากเจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

บอน Hapaline kerrii

ลําต้นเป็นแบบเผือก สีนํ้าตาลเข้ม ก้านใบ และใบมีขนาดเล็ก ใบสีเขียว ใบรูปหัวใจ โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ใบประดับสีขาว ผลแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว มีรูปร่างค่อนข้างกลม ขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียวอ่อน ผลแก่สีขาว เมล็ดสีนํ้าตาล ขนาดเล็ก นํามาขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อและเพาะเมล็ด

8. สกุล เสน่ห์จันทร์ Homalonema

เสน่ห์จันทร์เขียว Homalomena sp. พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°39' N 099°17'Eอุณหภูมิ 29.1 º C ความเข้มแสง 7690 Lux ความชื้นในดิน >8 pH ของดิน 7.0 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 87 %เจริญอยู่บนดินที่ชื้น แสงแดดส่องถึง รากเจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

เสน่ห์จันทน์เขียว Homalomena

ลําต้นเป็นเหง้า สีนํ้าตาล ใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน รูปร่างใบรูปหัวใจ โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ใบประดับสีนํ้าตาลอ่อน พืชชนิดนี้มีรายงานว่าไม่ใช่พืชท้องถิ่นของประเทศไทย แต่นําเข้ามาปลูกจากต่างประเทศ สันนิษฐานว่ามีผู้นํามาปลูกเมื่อหลายปีมาแล้ว ขยายพันธุ์โดยการปักชําลําต้น

9. สกุล ลาเซีย Lasia

ผักหนาม Lasia spinosa L. พบเจริญอยู่บนดินที่พิกัด 14°39'27.41” N 099°17'51.02” Eอุณหภูมิ 27.50 ºC ความเข้มแสง 474 Lux ความชื้นในดิน 7.0 pH ของดิน 7.0 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 89 %เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง เจริญอยู่บริเวณริมลําธาร มีรากแบบระบบรากฝอยราก เจริญออกจากข้อของลําต้นใต้ดิน

ผักหนาม Lasia spinosa

ลําต้นเป็นเหง้าทอดขนานกับพื้น สีนํ้าตาล ก้านใบมีหนาม ใบสีเขียวเข้ม มีรูปร่างใบแบบใบหอก โคนใบรูปเงี่ยงลูกศร ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้าแบบขนนก เส้นใบตาข่ายแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบใบประดับสีนํ้าตาล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีส้ม เมล็ดสีนํ้าตาลขนาดเล็ก ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

10. สกุล ฟิโลเดนดรอน Philodendron

ฟิโลเดนดรอน Philodendron sp. พบเจริญอยู่ที่พิกัด 14°39'26.97” N 099°17'54.48” E อุณหภูมิ27.30 ºCความเข้มแสง 175 Lux ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 77 % ลําต้นเป็นเถาเลื้อยมีรากเจริญอยู่บนโขดหินที่มีความชื้นสูงแสงแดดรําไร มีรากเจริญออกจากข้อของลําต้นเหนือดิน

ฟิโลเดนดรอน Philodendron

ลําต้นเป็นแบบเลื้อยพัน สีเขียว ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบ รูปใบหอก โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบขนานแบบขนนก พืชชนิดนี้มีรายงานว่าไม่ใช่พืชท้องถิ่นของประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีผู้นําปลูกในบริเวณที่พบเมื่อหลายปีมาแล้วเช่นเดียวกันนํามาขยายพันธุ์โดยการปักชําลําต้น

อ้างอิง
  • การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชวงศ์บอน (Family Araceae) ในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ โดย อรพรรณ ศังขจันทรานนท์, เทอดพงษ์ คงสนุ่น, วิไลวัลย์ นุชทองม่วง และสุชัย หรดี สายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน
  • โครงการ Study on Diversity and Evolution of Araceae Plants โดย อาจารย์สุธิดา มณีอเนกคุณ