✓สกุลลิ้นมังกร Sansevieria ถูกยุบรวมกับสกุลจันผา Dracaena?
สืบเนื่องจากประเด็นการยุบรวมสกุลลิ้นมังกร Sansevieria เข้ากับสกุลจันผา Dracaena เป็นที่พูดถึงในวงกว้างในบรรดาผู้นิยมปลูกเลี้ยงไม้ประดับ ผู้เขียนจึงได้ขอนำเรื่องนี้มาขยายต่อถึงเหตุผลและที่ไปที่มาของการดำเนินการทางอนุกรมวิธานนี้
ยุบสกุล Sansevieria เป็น Dracaena
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าการยุบรวมสกุลลิ้นมังกร (Sansevieria) รวมเข้าเป็นสกุลจันผา (Dracaena) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการอนุกรมวิธาน แนวคิดการรวมสกุลนี้ริเริ่มโดย Jan-Just Bos ตั้งแต่ปี 1984
และผ่านการถกเถียงด้วยหลักฐานและเหตุผลต่างๆ มาอย่างยาวนาน กระทั่งได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการโดย Ratidzayi Takawira-Nyenya และคณะ ในปี 2018
สกุลลิ้นมังกรและสกุลจันผา ถูกเรียกรวมกันเป็นกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการว่า Dracaenoids ภายใต้วงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagaceae) แต่เดิมการจำแนกพืชสองสกุลนี้มักจะใช้ลักษณะใบที่มีความอวบน้ำและทนแล้งแยกสกุลลิ้นมังกรออกจากสกุลจันผาที่มีใบที่ไม่อวบน้ำ คล้ายหนัง และแบน
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าพืชในสกุลจันผาบางชนิดก็มีใบอวบน้ำเช่นเดียวกัน ในส่วนของลักษณะดอกพบว่า ดอกของสกุลลิ้นมังกรจะมีวงกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด แต่ดอกของสกุลจันผานั้นมีความหลากหลายสูง มีทั้งกลีบเชื่อมและกลีบแยก เห็นได้ว่าลักษณะสำคัญประจำสกุลของพืชสองสกุลนี้นับว่ามีความซ้อนเหลื่อมกันเป็นอย่างมาก ไม่สามารถระบุข้อแตกต่างได้อย่างชัดเจน
จากการศึกษาทางวิวัฒนาการชาติพันธุ์ที่อาศัยหลักฐานดีเอ็นเอ พบว่า กลุ่ม Dracaenoids แสดงลักษณะโมโนฟิลี (Monophyly) กล่าวคือสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มนี้ (สกุลลิ้นมังกรและสกุลจันผา) มีบรรพบุรุษร่วมกัน
แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงความความใกล้ชิดทางเครือญาติ ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม Dracaenoids พบว่า พืชจากแต่ละสกุลไม่ได้รวมเป็นกลุ่มเดียวกันตามสกุลของพวกมัน
โดยมีพืชจากสกุลลิ้นมังกร จำนวน 2 กลุ่ม กระจายอยู่ในสกุลจันผา
- กลุ่มแรก ประกอบสมาชิกส่วนใหญ่ของสกุลลิ้นมังกร
- กลุ่มที่สองมีเพียงชนิด Sansevieria sambiranensis H.Perrier)
ซึ่งทำให้ทั้งสองสกุลนี้ไม่แสดงลักษณะโมโนฟิลี ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญของการจัดหมวดหมู่ด้วยวิธีการทางวิวัฒนาการชาติพันธุ์
จากทั้งลักษณะสัณฐานวิทยาที่คลุมเครือและลักษณะทางวิวัฒนาการที่ไม่เป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นเหตุให้ต้องขยายขอบเขตของสกุลจันผาใหม่ ให้ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Dracaenoids (ทั้งสกุลจันผาเดิมและสกุลลิ้นมังกร)
เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นโมโนฟิลี และทำให้มีลักษณะประจำสกุลกว้างขึ้นอีกด้วย โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ความอวบน้ำของใบที่ใช้เป็นเกณฑ์จำแนกในอดีต มีความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการชาติพันธุ์น้อยมาก เนื่องจากเป็นลักษณะที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับตัวต่อภาวะแล้ง การแยกสายวิวัฒนาการที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือการเกิดลูกผสม
ขอเล่าเกร็ดเล็กน้อยเพิ่มเติมอีกว่า ในเมื่อมีความจำเป็นต้องรวมสองสกุลเข้าด้วยกัน แล้วเหตุใดจึงรวมไว้ในชื่อสกุลจันผา ไม่ใช้ชื่อสกุลลิ้นมังกร
เพราะตามหลักของการมาก่อน (Principle of Priority) ในกฎนานาชาติของการตั้งชื่อของสาหร่าย เห็ดรา และพืช (International Code of Nomenclature for algae, fungi, and plants (ICN)) ต้องใช้ชื่อสกุลจันผา (Dracaena) เนื่องจากถูกตั้งขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 1767 แต่สกุลลิ้นมังกร (Sansevieria) ถูกตั้งขึ้นมาภายหลังในปี 1794
สำหรับท่านที่ต้องการตรวจสอบชื่อที่ถูกต้องในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ที่ฐานข้อมูล Plants of the World Online ของสวนพฤกษศาสตร์ คิว ประเทศอังกฤษ ได้เลยครับ
รายละเอียดของการยุบรวมสกุลนี้ยังมีอีกมาก อ่านเพิ่มเติมได้ตามอ้างอิงนี้ครับ
Takawira-Nyenya, R., Mucina, L., Cardinal-Mcteague, W. M., & Thiele, K. R. (2018). Sansevieria(Asparagaceae, Nolinoideae) is a herbaceous clade within Dracaena: inference from non-coding plastid and nuclear DNA sequence data. 𝘗𝘩𝘺𝘵𝘰𝘵𝘢𝘹𝘢, 376(6), 254-276.
บทความโดย เรื่องเล่าจากแคคตัสและไม้อวบน้ำ I Tales of Cacti & Succulents; ภาพประกอบ จาก Dr. Warren Cardinal-McTeague