กล้วยไม้ป่า เอื้องครั่งแสด (เอื้องสายสีแสด) ออกดอกเดือนไหน?
กล้วยไม้ป่า เอื้องครั่งแสด หรือ เอื้องกำลังเอก, เอื้องสายสีแสด ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกบนภูบักได เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง จ.เลย เมื่อปี พ.ศ.2513
โดย ศจ.Gunnar Seidenfaden อดีตเอกอัครราชทูตชาวเดนมาร์คประจำประเทศไทย และ ศจ. ดร.เต็ม สมิตินันท์
เอื้องครั่งแสด, เอื้องกำลังเอก, เอื้องสายสีแสด
เอื้องครั่งแสด ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dendrobium unicum Seidenf. เป็นพันธุ์พืชในกลุ่มไม้ดอก (Flowering Plants) ในสกุล Dendrobium ซึ่งถูกจัดอยู่ในวงศ์ Orchidaceae
ชื่อสกุล Dendrobium มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า dendro แปลวา ไม้ต้น และคำว่า bios แปลว่า สิ่งมีชีวิต ความหมายก็คือ“สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนต้นไม้” ส่วนชื่อชนิด unicum มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า unicus แปลว่า หนึ่งเดียว อาจหมายถึง “สันกลางกลีบปากดอกที่มีเพียงสันเดียว”
ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น): เอื้องกำลังเอก , เอื้องสายสีแสด(ภาคกลาง)
ถิ่นกำเนิด พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,586 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 166 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ บางครั้งพบอิงอาศัยตามก้อนหิน พบในป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในไทย ลาว และเวียดนาม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลำต้น: ลำต้นรูปแท่งดินสอกลมทรงกระบอกหรือยาวเรียว ผอม และไม่แข็ง สีม่วงแดงคล้ำ หรือสีน้ำตาลเข้ม
- ใบ: ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มักออกใบตามปลายยอด รูปใบหอกแกมรูปไข่จนถึงรูปขอบขนาน
- ดอก: ออกดอกเป็นช่อกระจะตามข้อ มักมีมากกว่า1ช่อๆละ 1-4 ดอก ขนาดดอก 1.5-5 ซม. ดอกบานทนนานราว1สัปดาห์ หรือมากกว่า
- ดอกสีส้มจนถึงสีแสด ดอกเมื่อบานเต็มที่ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกบิดตัวและม้วนลง
- ปากดอกเป็นหลอดยาวม้วนขึ้นและมีสีอ่อนกว่ากลีบดอก ปลายปากดอกแผ่เป็นแผ่นยาวสีขาวครีมหรือสีเหลืองครีม และมีลายเส้นก้างปลาสีน้ำตาลออกแดง สีแดงอมน้ำตาล หรือสีส้มเข้ม หลายเส้นพาดตลอดตามความยาวของปากดอก
- ออกดอกในช่วงเดือน ก.พ. – พ.ค.