Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: ประวัติ 'กุหลาบ' Rose ความหมาย "ราชินีแห่งดอกไม้"?

เดือนแห่งความรักเวียนมาถึงอีกครั้ง บรรยากาศแห่งความรัก ความห่วงใย อบอวลอยู่รอบๆ ตัวเรา ทุกๆ ที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก และกุหลาบ ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่รู้จักกันมานานแสนนาน ดังนั้น ผู้เขียนก็จะขอรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับตำนาน ของกุหลาบมาเล่าสู่กันฟังให้เข้ากับบรรยากาศในเดือนแห่งความรักนี้นะคะ

ตำนานกุหลาบ "ราชินีแห่งดอกไม้"

กุหลาบ หรือ Rose มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rosa hybrid อยู่ในวงศ์ Rosaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน ทวีปเอเซียแล้วกระจายไปยังยุโรป อเมริกา แอฟริกา เป็นไม้ตัดดอกที่มีการปลูกและจำหน่ายเป็นการค้า กันแพร่หลายทั่วโลกมานาน และมียอดจำหน่ายสูงสุดในตลาดประมูลเกือบทุกประเทศทั่วโลก

กุหลาบ ประวัติ ความหมาย ดอกกุหลาบ ราชินีแห่งดอกไม้

ประเทศที่มีการผลิต กุหลาบรายใหญ่ของโลก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ อิสราเอล เยอรมนี เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส 

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากความสวยงามที่โดดเด่นแล้ว กุหลาบยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ กว้างขวาง เช่น ใช้เป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอก ตกแต่งสถานที่ ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำน้ำหอม น้ำมันหอมระเหย ดอกไม้แห้ง และให้เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะในเทศกาลแห่งความรัก

ตำนานดอกกุหลาบ

กุหลาบได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกมาตั้งแต่อดีตกาล เพราะกุหลาบมีความสวยงามยากที่ไม้ดอก อื่นจะเทียบเท่า จนได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งดอกไม้" (Queen of flower) ประมาณกันว่ากุหลาบ มีมานานประมาณ 70 ล้านปีมาแล้ว

เคยมีการค้นพบซากฟอสซิลที่รัฐโคโลราโด และรัฐโอเรกอน ประเทศ สหรัฐอเมริกา และได้พิสูจน์ว่ากุหลาบป่าเป็นพืชที่มีอายุถึง 40 ล้านปี แต่กุหลาบป่าในสมัยนั้นมีรูปร่างหน้าตา ไม่เหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากมนุษย์ได้นำออกมาจากป่ามาปลูก ผสมพันธุ์ และขยายพันธุ์ เป็นกุหลาบลูกผสม พันธุ์ต่างๆ มากมาย อย่างเช่นที่มีการจำหน่ายกันในท้องตลาดในปัจจุบัน

ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกในพระราชวังของจักรพรรดิจีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่ชาวอียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบส่งขายโรมัน ชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก ชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ซึ่งเป็นทั้งของขวัญ เป็นดอกไม้สำหรับทำเป็นมาลัย ต้อนรับแขก เป็นดอกไม้สำหรับงานเฉลิมฉลองต่างๆ ใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ ส่วนน้ำมัน กุหลาบยังใช้ทำยาได้อีกด้วย

นอกจากนั้นนักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ค้นพบของเหลวซึ่งมีกลิ่นกุหลาบในหลุมศพ ของกษัตริย์สมัยสุเมเรียน (Sumerians) และเครื่องประดับของชาวสุเมเรียนซึ่งมีรูปทรงเป็นดอกกุหลาบทำด้วย ทองคำ และนอกจากนี้กุหลาบยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของอังกฤษอีกด้วย

ข้อมูลบางแหล่งกล่าวไว้ว่ากุหลาบมีถิ่นกำเนิด ณ เทือกเขาคอเคซัส ประเทศเปอร์เซีย หรืออิหร่านใน ปัจจุบันและแพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดีมีคำว่า "คุล" Gol หรือ Gul แปลว่าดอกไม้ และคำว่า "คุลาพ" หมายถึง กุหลาบ อย่างที่คนไทยเราเรียกกันแต่ออกเสียงเป็น “กุหลาบ”

ส่วนคำว่า Rose ใน ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า “Rhidon” ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก กุหลาบ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความโรแมนติก ซึ่งมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบ เป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิด เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงาม และความรัก

วีนัสเป็นที่รู้จัก กันในชื่อ อโฟรไดท์ ในบางตำนานของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้ม หรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของอโฟรไดท์เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม

บางตำนานกล่าวว่า กุหลาบเกิดจากการชุมนุมของบรรดาทวยเทพ เพื่อประทานชีวิตใหม่ให้กับกิน นางหนึ่ง ซึ่งเทพธิดาแห่งบุปผาชาติ หรือ คลอริส บังเอิญไปพบนางนอนสิ้นชีพอยู่ ตำนานนี้กล่าวว่าเทพอโฟรไดท์ เป็นเทพผู้ประทานความงามให้ มีเทพอีกสามองค์ประทานความสดใส เสน่ห์ และความน่าอภิรมย์ และมีเซไฟรัส ซึ่งเป็นลมตะวันตกได้ช่วยพัดกลุ่มเมฆเพื่อเปิดฟ้าให้กับแสงของเทพอพอลโล หรือ แสงอาทิตย์ ส่องลงมาเพื่อ ประทานพรอมตะ

จากนั้น ไดโอนีเซียส เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นก็ประทานน้ำอมฤตและกลิ่นหอม เมื่อสร้าง บุปผาชาติใหม่นี้ขึ้นมาได้แล้ว ทวยเทพทั้งหลายเรียกดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมและทรงเสน่ห์นี้ว่า Rosa จากนั้น เทพธิดาคลอริส ก็รวบรวมหยดน้ำค้างมาประดับเป็นมงกุฎ เพื่อมอบให้ดอกไม้นี้เป็นราชินีแห่งบุปผาชาติทั้งมวล

จากนั้นก็ประทานดอกกุหลาบให้กับเทพอีโรส ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก กุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ความรัก แล้วเทพอีโรส ก็ประทานกุหลาบนี้ให้แก่ ฮาร์โพเครดิส ซึ่งเป็นเทพแห่งความเงียบ เพื่อที่จะเก็บซ่อน ความอ่อนแอของทวยเทพทั้งหวาย ดอกกุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเงียบและความเร้นลับอีกอย่างหนึ่ง

มีหลายตำนานเล่าถึงการเกิดกุหลาบสีขาวและกุหลาบสีแดงไว้ต่างกัน ตำนานหนึ่งเล่าว่า กุหลาบ ขาว เกิดขึ้นก่อนกุหลาบแดง เดิมทีมีนกไนติงเกลตัวหนึ่งมาหลงรักดอกกุหลาบสีขาวแสนสวย ขณะที่มันกำลัง โอบกอดกุหลาบด้วยความรักนั้นเอง

หนามกุหลาบก็ทิ่มแทงที่หน้าอกมัน หยดเลือดของนกไนติงเกลก็เลยทำให้ ดอกกุหลาบสีขาวกลายเป็นกุหลาบดอกสีแดงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่า กุหลาบสีแดง ในสวนอีเดนเกิดจากการจุมพิตของอีฟ เจ้าดอกกุหลาบขาวที่หญิงสาวจุมพิตเกิดอาการเขินอายจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง

กุหลาบกลายเป็นของขวัญของกำนัลสำหรับการแสดงความรัก และมักจะมีผู้เปรียบเทียบความงาม ของผู้หญิงเสมือนดอกกุหลาบ และผู้หญิงคนแรกที่ในประวัติศาสตร์โลกที่ได้รับสมญานามว่าเป็นหญิงงาม เสมือนดอกกุหลาบคือ พระนางคลีโอพัตร ซึ่งพระนางยังได้เคยต้อนรับ มาร์ค แอนโทนี คนรักของพระนาง ในห้องซึ่งโรยด้วยดอกกุหลาบหนาถึง 18 นิ้ว หอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นกุหลาบ

ตำนานดอกกุหลาบในเมืองไทย

กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่แน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และที่แน่นอนอีกแห่งหนึ่งก็คือ ในกาพย์ ห่อโครงนิราศธารโศกสมัยยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า

กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง  เนืองนอง
หอมรื่นชื่นชมสอง  สังวาส
นึกกระทงใส่พานทอง  ก่ำเก้า
หยิบรอจมูกเจ้า  บ่ายหน้าเบือนเสีย

สำหรับตำนานดอกกุหลาบของไทยเล่ากันว่า เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรอง “มัทนะพาธา” ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ “มัทนา” ซึ่งนางได้พบเทพบุตรองค์หนึ่ง ชื่อ “สุเทษณะ ซึ่งพระองค์หลงรักเทพธิดามัทนามาก แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาบให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จงกลายเป็น ตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นกุหลาบไว้ประจำบ้านจะทำให้คนในบ้านมีคุณค่าแห่งชีวิตสูงขึ้น เพราะมีรูปร่างและสีสันสวยงาม ทั้งแดง ขาว ชมพู เหลือง เมื่อชูช่อเบ่งบานนั้น จะดูโดดเด่นเห็นเป็นสง่าแก่ บุคคลทั่วไป

กุหลาบ สื่อความหมาย

หลายคนสื่อความหมายของสีสันกุหลาบไว้หลากหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดทั้งปวงล้วนบ่งบอกถึง ความรัก ความหลงใหล ความหวานชื่น และความปรารถนาดี คนที่มอบให้นั้นต้องการสื่อออกมาจากหัวใจให้ คนรับได้รับรู้ และในวันวาเลนไทน์ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก

ดอกกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ของวันนี้ ดังนั้นเวลา ที่คิดจะให้ดอกกุหลาบแก่ใครสักคน เราก็น่าจะรู้ความหมายของสีสันอันสื่อความหมายของดอกกุหลาบบ้าง ก็น่าจะดี ดังนี้

ดอกกุหลาบสีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปรารถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงสาวหรือชายที่ได้รับ

ดอกกุหลาบสีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์

ดอกกุหลาบสีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกันกับกุหลาบแดง

ดอกกุหลาบสีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อที่ดีต่อกันเสมอนะ

นอกจากสีสันของดอกจะมีความหมายต่างๆ กันแล้ว จำนวนดอกกุหลาบในช่อก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่สื่อความหมายได้เช่นกัน มาดูกันว่าเค้าคนนั้นต้องการสื่อความหมายอะไรให้คุณบ้าง ดังนี้

จํานวนดอกและความหมาย

  • กุหลาบ 1 ดอก : รักแรกพบ
  • กุหลาบ 2 ดอก : แสดงความรู้สึกที่ดีให้กัน
  • กุหลาบ 3 ดอก : ฉันรักเธอ
  • กุหลาบ 7 ดอก : คุณทำให้ฉันหลงเสน่ห์
  • กุหลาบ 9 ดอก : เราสองคนจะรักกันตลอดไป
  • กุหลาบ 10 ดอก : คุณเป็นคนที่ดีเลิศ
  • กุหลาบ 11 ดอก : คุณเป็นสมบัติชิ้นที่มีค่าชิ้นเดียวของฉัน
  • กุหลาบ 12 ดอก : ขอให้เธอเป็นคู่ของฉันเพียงคนเดียว
  • กุหลาบ 13 ดอก : เพื่อนแท้เสมอ
  • กุหลาบ 15 ดอก : ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ
  • กุหลาบ 20 ดอก : ฉันมีความจริงใจต่อเธอ
  • กุหลาบ 21 ดอก : ชีวิตนี้ฉันมอบเพื่อเธอ
  • กุหลาบ 36 ดอก : ฉันยังจําความหลังอันแสนหวาน
  • กุหลาบ 40 ดอก : ความรักของฉันเป็นรักแท้
  • กุหลาบ 99 ดอก : ฉันรักเธอจนวันตาย
  • กุหลาบ 100 ดอก : ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ
  • กุหลาบ 101 ดอก : ฉันมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น
  • กุหลาบ 108 ดอก : คุณจะแต่งงานกับฉันไหม
  • กุหลาบ 999 ดอก : ฉันจะรักคุณจนวินาทีสุดท้าย

ทราบความหมายของดอกกุหลาบแล้ว คุณคงจะเลือกได้แล้วนะคะว่าจะเลือกกุหลาบสีใด แบบใดให้คนที่คุณรักดี แต่ขอแนะนำว่าให้ใช้กุหลาบของไทยนะคะ จะได้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร ผู้ปลูกกุหลาบของไทย ให้มีกำลังใจผลิตกุหลาบคุณภาพดีไว้ใช้ในประทศ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้เสียดุล ทางการค้ากับต่างชาติ สุดท้ายนี้ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในเดือนแห่งความรักนะคะ....

อ้างอิง: มณฑกาฬ ลีมา นักวิชาการเกษตร 4 กรมส่งเสริมการเกษตร

รายละเอียดเพิ่มเติม