Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

เห็ดเยื่อไผ่ ราคาถูก ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีปลูกเพาะเลี้ยง ดูแล?

เห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห ขึ้นชื่อเรื่องสรรพคุณมากมาย ในอดีตถูกจัดเป็นหนึ่งในเจ็ดเมนูยาอายุวัฒนะของฮ่องเต้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามพื้นที่เขตร้อนชื้น ในประเทศไทยมักพบเจอแทบทุกภาคของประเทศ โดยเกิดขึ้นตามพื้นดินที่มีเศษซากวัสดุเก่าที่เน่าเปื่อย ผุพัง และมีความชื้นสูง เช่น ใต้สวนมะพร้าว สวนยางพารา ตามป่าร้อนชื้น

เห็ดเยื่อไผ่ พืชเศรษฐกิจใหม่ สู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand)

ลักษณะเห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห ชนิดนี้ มีกระโปรงเป็นตาข่ายหลากหลายสี ขึ้นอยู่กับชนิดหรือสายพันธุ์ บางชนิดจะมีหมวกครอบบนสุดของก้านสีดำ หรือสีเทาบ้างก็สีเหลือง สีส้ม สีแดง

เห็ดเยื่อไผ่ (เห็ดร่างแห) ลักษณะ

เห็ดเยื่อไผ่ที่พบในประเทศไทยรับประทานได้แค่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์กระโปรงยาวสีขาว และ พันธุ์กระโปรงสั้นสีขาว นอกจาก 2 สายพันธุ์นี้เป็นพิษ ถ้าไม่มั่นใจอย่าเก็บจากธรรมชาติมาทานเด็ดขาด เห็ดเยื่อไผ่ที่ปลอดภัยที่สุด คือ เห็ดที่เพาะเลี้ยง ซึ่งมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม

เห็ดเยื่อไผ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phallus indusiatus และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหลากหลาย ได้แก่ Bamboo mushroom, Bamboo Fungus, Veiled lady, Long net stinkhorn, Basket stinkhorn ชื่อเหล่านี้ตั้งตามลักษณะเด่นที่เห็นทั่วไปของเห็ด เพราะต้องเพาะเห็ดบนเยื่อไผ่ โดยนำเอาไม้ไผ่มาทำให้เปื่อยยุ่ยแล้วนำมากองเพื่อใช้เพาะเห็ด หรืออาจพบเห็นเห็ดชนิดนี้ในป่าไม้

ส่วนของหมวกเห็ดมีรูปร่างเหมือนกระโปรง หรือตะกร้า หรือสุ่ม ที่สานกันเป็นร่างแห คำว่า stinkhorn ที่ใช้ต่อท้ายของเห็ดสายพันธุ์นี้ บ่งบอกถึงคุณลักษณะของเห็ดว่ามีกลิ่นเหม็น เนื่องจากส่วนบนสุดของดอกทำหน้าที่ผลิตสปอร์ที่เปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ของเห็ด ซึ่งนอกจากจะผลิตสปอร์แล้วยังผลิตกลิ่นรุนแรงออกมาเรียกแมลงเพื่อเป็นตัวช่วยในการกระจายพันธุ์ของเห็ดในธรรมชาติ

สถานการณ์การผลิตเห็ดเยื่อไผ่

ปัจจุบันเห็ดเยื่อไผ่เป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมของคนไทย เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งเมือกในเห็ดมีคุณสมบัติบำรุงผิวพรรณ จึงทำให้คนไทยหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่เพิ่มมากขึ้น

ทิศทางตลาดเกษตรกร สามารถส่งผลผลิตเห็ดเยื่อไผ่ชนิดแห้ง เพื่อการแปรรูปเป็นอาหารสำหรับโรงแรมและภัตตาคาร ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 2,500 – 6,000 บาท จากราคาที่จัดจำหน่ายในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 500 – 1,000 บาท และหากประเทศไทยสามารถส่งเสริมการเพาะเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทยบริโภคภายในประเทศและส่งขายตลาดต่างประเทศ จะสร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่มั่นคง

ลักษณะเห็ดเยื่อไผ่ (เห็ดร่างแห)

ลักษณะโครงสร้างภายในดอกเห็ดเยื่อไผ่ ขณะที่ตุ้มมีเปลือกห่อหุ้มด้านนอกถัดเข้าไปข้างในจะเป็นเมือกวุ้นเพื่อป้องกันดอกอ่อนได้รับการกระทบกระเทือนและรักษาระดับความชื้นให้พอเหมาะ แล้วถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อ

ส่วนด้านบนของเห็ด มีหมวกลักษณะเป็นเมือกสีเข้มมีหลายสี เช่น ดำ เทา น้ำตาล เป็นที่อยู่ของสปอร์ มักมีกลิ่นเหม็นทำให้ดึงดูดแมลงมาตอม ซึ่งช่วยให้สปอร์ของเห็ดเยื่อไผ่ติดไปกับแมลงพากระจายไปยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นพาหะช่วยในการกระจายพันธุ์ หมวกจะเป็นส่วนที่มีลักษณะคล้ายกลิ่นฟีโรโมน

ดังนั้น เวลาบานเพียงไม่กี่นาที ก็จะมีแมลงภู่มาตอมดูดกินเมือกสีดำ ซึ่งตรงจุดนี้ คือ จุดที่สร้างสปอร์หรือเมล็ดของเห็ด และตัวแมลงเป็นตัวนำพาเอาสปอร์หรือเมล็ดของเห็ดเยื่อไผ่กระจายไปยังที่ไกล ๆ ได้

ส่วนของกระโปรง ที่เป็นเนื้อเยื่อโปร่งซ้อนกันจะถูกยืดออกเมื่อโตขึ้นคล้ายร่างแห โดยใช้ระยะเวลาจากดอกที่กำลังแย้มบานจนกระทั่งถึงบานเต็มที่เพียง 1 - 2 เซนติเมตร

ส่วนของก้าน ที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำจับกันแบบหลวม ๆ เมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่ ส่วนนี้และกระโปรงจะเจริญอย่างรวดเร็ว

เห็ดเยื่อไผ่ (เห็ดร่างแห) ลักษณะ

ประโยชน์ด้านอาหาร และ คุณค่าทางโภชนาการ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พบว่า เห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีโปรตีนร้อยละ 20 ไขมันร้อยละ 4 - 5 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 40 - 50 มีกรดอะมิโนถึง 16 ชนิด จากกรดอะมิโนที่มีทั้งหมด 20 ชนิดที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ และกรดอะมิโน 16 ชนิดนี้ ยังเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (Essential amino acid) ถึง 7 ชนิดและมีไรโบฟลาวิน (Riboflavin) หรือวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง

และยังพบสารที่สำคัญ 2 ชนิด คือ พอลิแซ็กคาร์ไรด์และไดโอโทโอฟลิน เอและบี ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยมีการทดสอบสมบัติของสารไดโอโทโอฟลิน เอและบี พบว่าสารกลุ่มนี้เป็นตัวช่วยในการปกป้องระบบประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากสารพิษ

นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากเห็ดเยื่อไผ่มีผลต่อต้านการอักเสบและต่อต้านการเกิดเนื้องอก พบน้ำตาลที่สำคัญ เช่น mannitol นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนูมูลอิสระ (Antioxidant) ทำให้เห็ดเยื่อไผ่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเห็ดเยื่อไผ่มีโปรตีนสูงกว่าเห็ดอื่น ๆ เช่น เห็ดโคนมีโปรตีนร้อยละ 4.2 เห็ดฟางร้อยละ 3.4 เห็ดหอมสดร้อยละ 2.2 และเห็ดหูหนูร้อยละ 1.4 เป็นต้นซึ่งเหมาะกับการนำมาบริโภคเป็นโปรตีนที่ทดแทนเนื้อสัตว์ได้

สรรพคุณทางยา เห็ดเยื่อไผ่ (เห็ดร่างแห)

นอกจากคุณค่าทางโภชนาการ ในแต่ละส่วนของเห็ดเยื่อไผ่ยังมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางชีวภาพที่แตกต่างกันไป โดยในส่วนเปลือกหุ้มดอกและหมวกดอกจะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในปริมาณสูง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง

และมีสาระสำคัญที่ช่วยทำให้ต่อต้านการอักเสบของร่างกาย ได้แก่ สารอัลแลนโทอิน ซึ่งสามารถพบได้เหมือนกันในเมือกหอยทาก ช่วยลดการอักเสบหรือความระคายเคืองในผิวหนัง ฟื้นฟูเซลล์ผิวใหม่ให้มีความแข็งแรง นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยกรดไกลโคลิค(Glycolic acid) ที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน เพื่อให้ผิวตึง กระชับ มีความนุ่มชุ่มชื่น นอกจากนี้ยังมีสารที่ช่วยบำรุงสมอง เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อีกด้วย

ปัจจุบันเห็ดเยื่อไผ่เป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมของคนไทยอย่างมาก เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งเมือกยังมีคุณสมบัติในการบำรุงผิวพรรณ จึงทำให้คนไทยหันมาบริโภคกันเพิ่มมากขึ้น

ฟาร์มเห็ดเยื่อไผ่ (เห็ดร่างแห) วิธีปลูก เพาะเลี้ยง

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

หัวใจหลักสำคัญของการผลิตพืชในระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือ “การใช้ปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ”

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สวพ. 2) ได้เข้าไปให้คำแนะนำ ขั้นตอนการผลิตตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีในฐานะเป็นหน่วยตรวจรับรอง ใช้หลักเกณฑ์ในการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 การผลิตการแปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (มกษ:9000 เล่ม 1-2552) ซึ่งการตรวจรับรองจะตรวจตามข้อกำหนด 9 ข้อ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดังนี้

  1. พื้นที่
  2. การวางแผนการจัดการ
  3. เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์
  4. การจัดการและการปรับปรุงบำรุงดิน
  5. การจัดการศัตรูพืช
  6. การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
  7. การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา และการขนส่ง
  8. การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง
  9. การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ

โดยตรวจตั้งแต่คุณสมบัติของเกษตรกร ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง สมัครใจและยินดี ที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง

และก่อนการตรวจประเมินเพื่อขอการรับรอง ผู้ยื่นคำขอต้องมีการผลิตแบบอินทรีย์ ตามมาตรฐานที่ประกาศกำหนด กระบวนการรับรองจะเกิดขึ้น เมื่อผู้ประสงค์ขอการรับรองยื่นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น เป็นขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร และการดำเนินการตรวจประเมิน หากไม่มีข้อบกพร่องใด จึงจัดทำรายงานและแจ้งผลการตรวจประเมิน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรับรองและจัดทำใบรับรองให้กับผู้ผ่านการประเมิน ผู้ตรวจประเมิน สวพ. 2 ได้ให้คำแนะนำขั้นตอนในด้านการผลิตเห็ดเยื่อไผ่ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการผลิตเห็ด การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากการมีแผนการปรับเปลี่ยนที่ชัดเจน โดยแผนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แผนการปรับเปลี่ยนต้องระบุถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ 

รวมทั้งการจัดแยกระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และไม่ใช่เกษตรอินทรีย์การจัดการดินและธาตุอาหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงดินและการบริหารจัดการดินธาตุอาหาร เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ซึ่งรวมถึงการจัดการให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอกับเห็ดเยื่อไผ่ที่เพาะปลูก การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนใหญ่ศัตรูของเห็ดคือแมลง คณะผู้ตรวจประเมินได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ไม้ตียุงและเครื่องดักจับแมลง ซึ่งในแปลงของเกษตรกรเป็นโรงเรือนปิด ปัญหาแมลงจึงไม่ค่อยมีหรือพบเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

เกษตรกรต้นแบบ เห็ดเยื่อไผ่อินทรีย์คุณศิวะกริช จิตรดา เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่ สถานที่ผลิต ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 8 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เริ่มศึกษาและทำการผลิตเห็ดเยื่อไผ่ในเดือน มกราคม 2563 ได้ทดลองเพาะเลี้ยงในตะกร้าก่อนที่จะเริ่มเพาะเลี้ยงในกระบะคอนโด และสร้างโรงเรือนขนาด 0.0900 ไร่ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 

ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดคุณศิวะกริชจะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มาจากแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ทั้งหมด จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และสนใจที่จะขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยศึกษาข้อมูลต่าง ๆ จากแหล่งสืบค้นในอินเตอร์เน็ต และได้ยื่นขอการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์กับกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 โดยได้รับการรับรองระยะปรับเปลี่ยน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 - 15 มีนาคม 2565 

การผลิตเห็ดเยื่อไผ่นั้นจะผลิตทั้งปี เก็บผลผลิตรุ่นละ 3 - 5 ครั้ง ส่งผลผลิตเห็ดขายในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะมีพ่อค้าคนกลางมารับถึงหน้าฟาร์มเห็ดหรือส่งขายผ่านทางช่องทางออนไลน์โดยขนส่งเอกชน คุณศิวะกริชเล่าว่า ทุกส่วนของเห็ดสามารถรับประทานได้ มีลูกค้าหลากหลายรูปแบบมาชื้อเห็ดและเอาไปบริโภคที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาดอกเห็ดไปทำสมุนไพรจีน ทำน้ำปั่นเพื่อบำรุงสุขภาพ บางท่านนำเมือกของดอกเห็ดใช้ผลิตเครื่องสำอาง ครีม สบู่ เซรั่ม โลชั่นหรือสกัดเป็นผงอัดแคปซูลบำรุงสมอง หัวใจ ร่างกาย ใช้ในวงการเวชภัณฑ์สำอางต่าง ๆ ส่วนของกระโปรงและก้านเห็ดนำไปต้มซุปเยื่อไผ่ตุ๋นยาจีน โดยเกษตรกรได้ซื้อหัวเชื้อเห็ดมาจากกลุ่มเห็ดเยื่อไผ่ในช่องทางเพจ Facebook กลุ่มคนรักเห็ดเยื่อไผ่ 

ฟาร์มเห็ดเยื่อไผ่ (เห็ดร่างแห) วิธีปลูก เพาะเลี้ยง

วิธีปลูก การเพาะเลี้ยง และ การดูแลรักษา

เห็ดเยื่อไผ่วัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงเห็ดจะต้องใช้ใบไผ่ แกลบดิบขุยมะพร้าว และดินปลูกต้นไม้ ซึ่งเกษตรกรใช้วัสดุที่เพาะเลี้ยงเห็ดมาจากแหล่งอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็นใบไผ่จากสวน แกลบดิบจากแปลงปลูกข้าวของเกษตรกรเอง ขุยมะพร้าวที่มาจากต้นมะพร้าวสวนหลังบ้าน ดินปลูกต้นไม้ซื้อมาจากดินที่เป็นดินอินทรีย์ 100% เชื่อถือได้

เพาะเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่ แบบคอนโด ใส่ในกระบะ 3 ชั้น แต่ละชั้นกระบะมีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตรยาว 100 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร นำดินมาโรยลงในกระบะให้หนา 3 เซนติเมตร ตามด้วยวัสดุที่มีส่วนผสมของใบไผ่ แกลบดิบ ขุยมะพร้าว ในอัตรา 2:1:2 คลุกเคล้าให้เข้ากันโรยทับหน้าดินปลูกชั้นล่างสุดให้หนา 5 เซนติเมตร

จากนั้นนำเชื้อก้อนเห็ดที่มีเส้นใยเห็ดเยื่อไผ่เจริญเต็มถุงแล้วใส่ลงไปในกระบะปลูก ใส่ชั้นละ 4 ก้อนตามด้วยส่วนผสมของใบไผ่แกลบดิบ และขุยมะพร้าวลงไปอีกชั้นให้หนา 3 เซนติเมตรแล้วกลบหน้าด้วยดินปลูกหนา 2 เซนติเมตร รดน้ำพอชุ่ม 

คลุมพลาสติกดำ เพื่อบ่มเส้นใยเป็นเวลา 15 วัน เมื่อครบกำหนด นำพลาสติกดำออก รดน้ำทุกชั่วโมง ในแปลงของเกษตรกรจะมีเครื่องตั้งเวลาให้น้ำ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย คือ 4 - 28 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะฤดูร้อนอากาศจะร้อนมาก อุณหภูมิประมาณ 38 องศาเซลเซียสจึงต้องรดน้ำเห็ดในแปลงในทุก ๆ 30 นาที จนกระทั่งดอกเห็ดบาน จะเก็บได้ประมาณ 3 รุ่น รุ่นละ 3 – 5 กิโลกรัมราคาซื้อขายเห็ดเยื่อไผ่ กิโลกรัมละ 500 บาท 

นอกจากเห็ดเยื่อไผ่จะมีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการที่สูงแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยอีกด้วย การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เพื่อความเชื่อมั่นในระบบการผลิตพืชว่าผู้บริโภคจะได้สินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมด้านการตลาดทำให้จำหน่ายสินค้าได้ง่ายขึ้น ราคาผลผลิตสูงกว่าราคาสินค้าตามท้องตลาดทั่วไป

สำหรับท่านที่สนใจหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก

รายละเอียดเพิ่มเติม