Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: มะปรางหวาน ทองประมูล พรหมณี จังหวัดนครนายก?

มะปรางหวาน พันธุ์ “หวานทองประมูลพรหมณี” โดยชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายกเจ้าของพันธุ์พืช ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างออกประกาศรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นระยะเวลา 90 วัน หากไม่มีผู้คัดค้าน มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี จะถือเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นลำดับที่ 2 ของไทย ต่อจากส้มเขียวหวานพันธุ์เทพรส

มะปราง “หวานทองประมูลพรหมณี” พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของไทย

ช่วง 2 – 3 เดือนก่อน ผลไม้ไทยตามฤดูกาลชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยม คงจะเป็นมะปราง (มะยงชิด) สุกผลสีเหลืองส้มขนาดประมาณไข่ไก่ วางขายอยู่ตามท้องตลาดมากมาย รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์ก็มี บ้างก็มีรสหวานมาก รสหวานอมเปรี้ยว ไปจนถึงรสเปรี้ยวอย่างเดียว 

มะปราง หวานทองประมูลพรหมณี

นอกจากนี้ ผลมะปราง (มะยงชิด) สุก ที่นิยมรับประทานกันเป็นผลไม้แล้ว ยังมีการนำผลที่มีรสหวานอมเปรี้ยว หรือรสเปรี้ยว ไปแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น เช่น มะปราง (มะยงชิด) แช่อิ่ม ไอศกรีมมะปราง (มะยงชิด) หรือนำไปทานกับข้าวเหนียวน้ำกะทิ ก็อร่อยไม่แพ้กันเลย

รายละเอียดเพิ่มเติม

ชุมชนมะปรางหวานทองประมูล นครนายก

ชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายกอำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี ทั้ง 3 อำเภอนี้ มีลักษณะดินเป็นดินปนทรายและดินเหนียวเหมาะแก่การทำนาทำสวนผลไม้ และการอยู่อาศัย มีครัวเรือนทั้งหมด 72,761 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนเกษตรกร 16,760 ครัวเรือน มีประชากรรวม 195,710 คน (ชาย 96,952 คน, หญิง 98,758 คน) พื้นที่ทั้งหมดประมาณ1,022,276 ไร่

จากข้อมูลพื้นฐานการเกษตร จังหวัดนครนายก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า พื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 464,938 ไร่ และที่อยู่อาศัย โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ทำนา 545,541 ไร่ ปลูกไม้ผล 57,916 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น 19,220 ไร่ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ 932 ไร่ ปลูกพืชผัก 5,474 ไร่ ปลูกพืชไร่ 1,911 ไร่ ปลูกสมุนไพร 1,173 ไร่ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3,168 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 2,136 ไร่ และแมลงเศรษฐกิจ 1 ไร่

มีการสืบทอดระบบวัฒนธรรมประเพณีมาเกินกว่าสิบปี ได้แก่ ประเพณีบุญบั้งไฟวัดเขานางบวชประเพณีแห่ข้าวพันก้อน ประเพณีเอาะเฮือน ประเพณีสารทพวน ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีบายศรีสู่ขวัญข้าว ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีกวนข้าวทิพย์ และประเพณีรำผีมอญเป็นต้น

มะปรางของไทย ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง นายกสมาคมชาวสวนมะปรางนครนายก ให้ข้อมูลว่า ตามหลักฐานพบว่าในประเทศไทยมีการปลูกมะปรางมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปลูกแถบหัวเมืองรอบ ๆ เมืองสุโขทัย ได้แก่ กำแพงเพชรอุตรดิตถ์ พิจิตร และพิษณุโลก ต่อมาภายหลังพบว่ามีการปลูกมะปรางในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ จังหวัดนนทบุรีสมุทรสงคราม ปราจีนบุรี นครนายก

ปัจจุบันมีการจำแนกมะปรางได้ดังนี้

แบ่งตามรสชาติความเปรี้ยว - หวาน มี 5 ประเภท เรียงลำดับจากเปรี้ยวไปหาหวาน คือ 

  1. กาวาง
  2. มะปรางเปรี้ยว
  3. มะยงห่าง
  4. มะยงชิด
  5. มะปรางหวาน

แบ่งตามขนาดของผล มี 2 ชนิด คือ 

  1. ชนิดผลเล็ก(มีจำนวนผลมากกว่า 25 ผลต่อกิโลกรัม)
  2. ชนิดผลใหญ่(มีจำนวนน้อยกว่า 25 ผลต่อกิโลกรัม)

แบ่งตามรสชาติ มี 3 ประเภท คือ

  1. มะปรางเปรี้ยว(มีรสเปรี้ยวทั้งผลดิบและผลสุก)
  2. มะปรางหวาน (มีรสหวานทั้งผลดิบและผลสุก)
  3. มะยง (มีรสชาติหวานและเปรี้ยวอยู่ในผลเดียวกัน)

มะปราง “หวานทองประมูลพรหมณี”

ตั้งแต่ปี 2533 จังหวัดนครนายกมีนโยบายส่งเสริมการปลูกมะปรางให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด โดยสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายกจัดให้มี งานมะยงชิดมะปรางหวาน ของดีจังหวัดนครนายก เป็นประจำทุกปีในปีเดียวกันนี้ นายบุญส่ง เนียมหอม เป็นเกษตรกรอาชีพทำนาและทำสวนอยู่ที่บ้านโคกลำดวน หมู่ที่ 9 ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก นายบุญส่งไม่มีเงินซื้อกิ่งพันธุ์มะปราง

เนื่องจากขณะนั้น กิ่งพันธุ์มะปรางมีราคาแพง โดยราคาขายวัดจากความสูงของกิ่ง ศอกละ1,000 บาท จึงเดินทางไปขอเก็บผลมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าที่ร่วงหล่นอยู่ใต้ต้นจากสวนของ นายสมชาย วงศ์บุญธรรมตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก จำนวน 15 ผลนำมาเพาะลงถุง ๆ ละ 1 ผล โดยเพาะจากผลสุกแก่ที่มีเนื้อติดและเปลี่ยนเป็นสีดำใกล้เน่า แล้วย้ายลงปลูกในปี 2534 จนกระทั่งปี 2540 ต้นที่ปลูกมีอายุได้ 7 ปี จึงเริ่มให้ผลผลิต โดยพบว่ามีการกระจายตัวทางพันธุกรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นมะปราง (มะยงชิด) จำนวน 2 ต้น

- ต้นที่ 1 มีลักษณะ ใบเป็นรูปรีความกว้างผลประมาณ 4.5 เซนติเมตรความยาวผลประมาณ 7.2 เซนติเมตรทรงผลยาวรีเป็นรูปไข่ ผลแก่มีสีเหลืองปนส้ม เนื้อสีเหลืองปนส้ม มีรสหวานอมเปรี้ยว ตั้งชื่อว่า “ชิดบุญส่ง” ได้ยื่นคำขอให้กรมวิชาการเกษตรออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 โดยกรมวิชาการเกษตรออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน (ร.พ.1) เลขที่ 1165/2562 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2562

- ต้นที่ 2 ได้มะปราง (มะยงชิด) ผลเล็กคัดพันธุ์ทิ้ง

กลุ่มที่ 2 เป็นมะปราง (กาวาง) จำนวน 10 ต้น รสชาติเปรี้ยวมาก ผลมีขนาดเล็ก จึงคัดพันธุ์ทิ้ง

กลุ่มที่ 3 เป็นมะปรางหวาน จำนวน 3 ต้น

- ต้นที่ 1 และ 2 เป็นมะปรางหวาน ผลมีขนาดเล็กจึงคัดพันธุ์ทิ้ง 

- ต้นที่ 3 เป็นมะปรางหวาน ทรงต้นแผ่ออก ใบรูปรี ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม ช่อดอกยาวเฉลี่ย 6 เซนติเมตรผลมีขนาดใหญ่ ทรงผลยาวรีเป็นรูปไข่ มีจุกเล็กน้อยที่ขั้วผลผลแก่มีสีเหลืองปนส้ม เนื้อผลสีเหลืองปนส้ม ความกว้างผลประมาณ 3.2 เซนติเมตร ความยาวผลประมาณ 6.2 เซนติเมตรมีรสหวาน มีกลิ่นหอม ตั้งชื่อว่า “หวานทองประมูลพรหมณี” โดยมีที่มาของชื่อพันธุ์ดังนี้ 

“หวาน” หมายถึง มะปรางหวาน

“ทองประมูล” มาจากนามสกุลเดิมของภรรยานายบุญส่ง เนียมหอม

ส่วนคำว่า“พรหมณี” คือพื้นที่กำเนิดพันธุ์มะปรางพันธุ์นี้

นายบุญส่ง เนียมหอม ได้ขยายพันธุ์มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี เพื่อปลูกในสวนของตนเอง และในสวนของกลุ่มผู้อนุรักษ์มะปรางซึ่งอยู่ในสวนใกล้กันรวมจำนวน 7 ต้น และเนื่องจากมะปรางพันธุ์นี้มีลักษณะประจำพันธุ์ที่ดีโดยเฉพาะมีกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนมะปรางพันธุ์อื่น ๆ จึงได้นำมะปรางพันธุ์หวานประมูลพรหมณี มาขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแล เพื่อให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน และสมาชิกชุมชนจะได้ร่วมกันปลูกอนุรักษ์ให้คงอยู่ในชุมชนของตนเองต่อไป

มะปรางหวาน พันธุ์ หวานทองประมูลพรหมณี

พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้มีพันธุ์พืชใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมาย ตลอดจนเพื่อเป็นการอนุรักษ์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน 

คำนิยามขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตินี้ ระบุว่าพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น คือ พันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชนใดชุมชนหนึ่งภายในราชอาณาจักรและไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ชุมชน หมายถึง กลุ่มของประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันมาโดยต่อเนื่อง และได้ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ตามมาตรา 43 พันธุ์พืชที่จะขอจดทะเบียนเป็น พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องประกอบด้วยลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งภายในราชอาณาจักรเท่านั้น

(2) เป็นพันธุ์พืชที่ไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่สำหรับ สิทธิของชุมชน ตามมาตรา 47 เมื่อพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของชุมชนได้รับการจดทะเบียนแล้ว ชุมชนนั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลองวิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายด้วยประการใด

ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นและให้มีการจัดสรรผลประโยชน์แก่ผู้อนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชร้อยละยี่สิบ เป็นรายได้ร่วมกันของชุมชนร้อยละหกสิบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ผู้ทำนิติกรรมร้อยละยี่สิบ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นชุมชนได้ พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ในมาตรา 44 ซึ่งระบุว่า บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วที่ตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งได้ร่วมกันอนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชที่เข้าลักษณะที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 อาจขอขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ โดยตั้งตัวแทนยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ คำขออย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(1) พันธุ์พืชที่ร่วมกันอนุรักษ์ หรือพัฒนา และวิธีดำเนินการในการอนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชนั้น

(2) รายชื่อของผู้เป็นสมาชิกชุมชน

(3) สภาพพื้นที่พร้อมทั้งแผนที่สังเขปแสดงเขตพื้นที่ชุมชนและเขตติดต่อ

ขั้นตอนดำเนินงานการจดทะเบียนจากข้อมูลของสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชในการดำเนินการจดทะเบียนมะปรางพันธุ์หวานประมูลพรหมณี เป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตั้งแต่เริ่มขอจดทะเบียน จนถึงผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

12 ธันวาคม 2561 นายบุญส่ง เนียมหอม ตัวแทนชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก แจ้งความประสงค์ขอยื่นจดทะเบียนมะปรางพันธุ์ “หวานทองประมูลพรหมณี”เป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ. 2542 มกราคม - พฤษภาคม 2562 พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ศึกษาข้อมูลการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน ประวัติการสืบทอดระบบวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ศึกษาข้อมูลลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชกลุ่มมะปราง ลักษณะประจำพันธุ์ของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูล บันทึกข้อมูล บันทึกภาพ เพื่อประเมินคุณสมบัติตามกฎหมาย 

4 กันยายน 2562 ประชุมหารือแนวทางการขึ้นทะเบียนชุมชน และการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครนายก ณ ห้องประชุมเขาใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครนายก จ.นครนายก

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกมอบหมายให้เกษตรจังหวัดนครนายกทำหน้าที่ประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพรหมณี สมาคมชาวสวนมะปราง จังหวัดนครนายก 

ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ชื่อ “ชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก” ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี ที่มีกิจกรรมการปลูก อนุรักษ์ พัฒนาพันธุ์มะปรางเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

โดยมีสมาชิกชุมชนบ้านโคกลำดวนที่เป็นผู้ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์มะปรางหวานทองประมูลพรหมณี จำนวน 11 คน ได้แก่ นายบุญส่ง เนียมหอม เป็นตัวแทนชุมชนในการดำเนินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนชุมชน นายเสนาะ ฤทธิ์รัตนลือชา นายมนูศักดิ์ ทองประมูล นายสุภรัตน์ทองประมูล นายสีนวน พิมพา นายเสฏวุฒิ ทองประมูล นายมานพ ทองประมูล นางสาวสุวรรณา เนียมหอมนายประณีต เนียมหอม นางสาวออมทรัพย์ เนียมหอม และนางทัศนีย์ แก้ววาศรี 

18 ตุลาคม 2562 ประชุมหารือจัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิกชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก เพื่อขึ้นทะเบียนชุมชนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดย ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง นายกสมาคมชาวสวนมะปรางนครนายก เชิญพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก เกษตรกรสังกัดสมาคมชาวสวนมะปรางนครนายก เข้าร่วมประชุมหารือและจัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิกชุมชนที่มีกิจกรรมการปลูก อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์มะปรางจาก 3 อำเภอ ได้จำนวน 103 คน

11 มีนาคม 2563 ประชุมคณะทำงานตรวจสอบคำขอ แหล่งกำเนิด และคุณสมบัติของพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และคณะทำงานดำเนินงานขึ้นทะเบียนชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก เพื่อพิจารณาร่างคำขอขึ้นทะเบียนชุมชนและลักษณะประจำพันธุ์มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก

ที่ประชุมประกอบด้วย ศาสตราจารย์วิจิตร วังในสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะทำงานนายทรงพล สมศรี ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร และที่ปรึกษาคณะทำงาน นายอนันต์ อักษรศรี ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ประธานคณะทำงาน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร 

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครนายก องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมณี นายกสมาคมชาวสวนมะปรางนครนายกเกษตรกรผู้ปลูกมะปรางตำบลพรหมณี รวมทั้งสิ้น 32 คนที่ประชุมพิจารณาข้อมูลการสืบทอดระบบวัฒนธรรมของชุมชนและข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี โดยที่ประชุมเห็นชอบข้อมูลชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก เห็นชอบร่างคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าต่อไป

25 พฤษภาคม 2563 นายบุญส่ง เนียมหอม ได้รับมอบจากชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายกให้เป็นผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนชุมชนตามมติที่ประชุมหารือเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ณ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องถูกต้องครบถ้วนจึงเสนอคำขอต่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อรับคำขอและเสนอคำขอดังกล่าวพร้อมความเห็นเบื้องต้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกพิจารณารับขึ้นทะเบียนชุมชน

29 พฤษภาคม 2563 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรสั่งรับคำขอดังกล่าว12 มิถุนายน 2563 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเสนอคำขอดังกล่าว พร้อมความเห็นเบื้องต้นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกเพื่อพิจารณารับขึ้นทะเบียนชุมชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกลงนามหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนชุมชน(ค.พ. 4) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563

31 กรกฎาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกได้มอบหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนชุมชนให้ตัวแทนชุมชนในงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสาลิกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก

27 พฤศจิกายน 2563 นางสาวเจษฎา เอี่ยมอาจหาญนายก อบต.พรหมณี ได้รับมอบจากชุมชนให้เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของมะปรางพันธุ์“หวานทองประมูลพรหมณี”

15 ธันวาคม 2563 ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ครั้งที่ 1/2563 ณ กรมวิชาการเกษตร โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาร่างคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของมะปรางพันธุ์ “หวานทองประมูลพรหมณี” และข้อมูลชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก เพื่อตรวจสอบว่าชุมชนมะปราง

หวานทองประมูลนครนายก และมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี มีคุณสมบัติเป็นชุมชนและเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ. 2542 กำหนดหรือไม่ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารวิชาการ การจัดประชุมหารือร่วมกับนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน นักปรับปรุงพันธุ์มะปราง เกษตรกร การบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ในแปลงปลูกมะปรางของผู้อนุรักษ์ โดยใช้หลักเกณฑ์การตรวจสอบลักษณะของพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ตามระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการตรวจสอบลักษณะของพันธุ์พืชใหม่ (ฉบับที่ 7) ของมะปราง (Bouea spp.) จำนวน 43 ลักษณะ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 49ง หน้า 19 วันที่ 6 มีนาคม 2551

นอกจากนี้ยังได้บันทึกลักษณะเพิ่มเติม ตามมติที่ประชุมคณะทำงานตรวจสอบคำขอ แหล่งกำเนิด และคุณสมบัติของพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น อีก 7 ลักษณะ เปรียบเทียบกับมะยงชิดและมะปรางหวานที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาใกล้เคียงกันมากที่สุดอย่างละ 1 พันธุ์ ได้แก่ มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า และมะปรางหวานพันธุ์ทองนพรัตน์ จำนวนพันธุ์ละ 30 ตัวอย่าง

ผลการตรวจสอบพบว่า มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีมีความแตกต่างจากมะปรางหวานพันธุ์ทองนพรัตน์ และมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าอย่างเด่นชัด

โดยมีลักษณะที่แสดงความแตกต่างอย่างเด่นชัด (clearly distinctness) กับพันธุ์ทูลเกล้า 6 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะรูปทรงผล สีเนื้อ การแตกกิ่งแขนงของต้น รูปร่างบริเวณใกล้ขั้วผล มีจุกบริเวณขั้วผล และมีกลิ่นหอม และแตกต่างกับพันธุ์ทองนพรัตน์ 4 ลักษณะได้แก่ ลักษณะรูปทรงผล สีเนื้อ การแตกกิ่งแขนงของต้น และมีกลิ่นหอม ซึ่งประเมินได้ว่ามีความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์ (uniformity) รวมถึงมีความคงตัวทางพันธุกรรม(stability)

โดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลพรหมณี จัดทำร่างคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น (คพ.5) ตามแบบประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง กำหนดแบบคำขอขึ้นทะเบียนชุมชนและแบบคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พ.ศ. 2557

มติที่ประชุมเห็นชอบลักษณะประจำพันธุ์ของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี และเห็นชอบคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น (คพ.5) ของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยให้ฝ่ายเลขานุการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลตามข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช

11 มีนาคม 2564 ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้มีการพิจารณาคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี ของชุมชน มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลนครนายก

ที่ประชุมเห็นชอบให้รับจดทะเบียนมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และให้ฝ่ายเลขานุการโดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชประกาศคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นณ กรมวิชาการเกษตร ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำคัดค้าน เป็นระยะเวลา 90 วันนับจากวันลงนามในประกาศ 

ในกรณีที่ไม่มีคำคัดค้าน คณะกรรมการจะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามแบบ คพ. 6 ท้ายกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนชุมชน และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พ.ศ. 2549 ต่อไปซึ่งจะทำให้มะปรางพันธุ์ “หวานทองประมูลพรหมณี” ของชุมชนบ้านโคกลำดวน จังหวัดนครนายก เป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นลำดับที่ 2 ของไทย ต่อจาก ส้มเขียวหวานพันธุ์ “เทพรส” ของ ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ

“ปัจจุบันกลุ่มผู้อนุรักษ์ได้ร่วมกันขยายพันธุ์มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีโดยวิธีการทาบกิ่งเพื่อเตรียมส่งให้สมาชิกกลุ่มผู้อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์มะปรางทั้ง 3 อำเภอ จำนวน 102 คน ได้ปลูกให้ครบทุกบ้าน”

สิทธิที่ชุมชนได้รับ เมื่อชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก ได้รับการขึ้นทะเบียนชุมชนเป็นชุมชนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และพันธุ์พืชที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาคือ มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นางสาวเจษฎา เอี่ยมอาจหาญ) ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว ชุมชนมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอกราชอาณาจักร

ในส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์ โดยมีอายุการคุ้มครอง 17 ปี และสามารถขยายอายุการคุ้มครองต่อได้คราวละ 10 ปี หากพันธุ์พืชนั้นยังเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชน และชุมชนนั้นยังคงตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งยังร่วมกันอนุรักษ์หรือพัฒนามะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีโดยที่ยังไม่กระจายพันธุ์ออกไปนอกเขตชุมชน ทั้งนี้ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมณีที่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น เป็นผู้ทรงสิทธิในมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีแทนชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก แต่การกระทำใด ๆ ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของชุมชน

หากผู้ใดจะเก็บ จัดหา รวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเพื่อปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับชุมชน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นให้จัดสรรแก่ผู้ซึ่งอนุรักษ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชนั้นร้อยละยี่สิบ เป็นรายได้ร่วมกันของชุมชนร้อยละหกสิบและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่เป็นผู้ทำนิติกรรมร้อยละยี่สิบ

กรมวิชาการเกษตรจึงขอเชิญชวนชุมชนที่มีกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชที่เข้าลักษณะเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นมายื่นขอรับความคุ้มครองได้ที่ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2940 7214

อ้างอิง: วาสนา มั่งคั่ง; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

รายละเอียดเพิ่มเติม