✓ต้นไม้: หวายน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน,หน่อ ผลสุกกินได้

หวายน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน,หน่อ ผลสุกกินได้

หวายน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)

หวายน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Calamus godefroyi Becc. จัดเป็นพืชในสกุล Calamus อยู่ในวงศ์ปาล์ม (Arecaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ผล

ชื่อไทย

ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า หวายน้ำ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)

ต้นหวายน้ำ ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า หวายน้ำ (ไทลาว-หนองคาย), หวาย (ไทโคราช-อ.เมืองยาง นครราชสีมา)

ต้นไม้: หวายน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน,หน่อ ผลสุกกินได้

นิเวศวิทยา

ต้นหวายน้ำ ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่โล่งแจ้งหรือชายป่า ในเขตพื้นที่บุ่งทามหรือตามริมน้ำ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 ม.

การกระจายพันธุ์

การกระจายพันธุ์ของหวายน้ำ เป็นพืชหายาก พบที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ตามริมแม่น้ำมูล และที่จังหวัดหนองคาย ต่างประเทศพบในลาวและกัมพูชา (พบได้ง่ายที่โตนเลสาบ)

ต้นไม้: หวายน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน,หน่อ ผลสุกกินได้

หวายน้ำ ออกดอกเดือนไหน

ต้นหวายน้ำ ช่วงเวลาออกดอกและผลแก่ ไม่มีข้อมูล

ต้นไม้: หวายน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน,หน่อ ผลสุกกินได้
Photo by T. Evans

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหวายน้ำ

  • ลักษณะวิสัย: ไม้เลื้อย ขึ้นเป็นกอหนาแน่น ยาวได้ถึง 10 ม.
  • ลำต้น: เถารวมกาบ กว้าง 1-1.5 ซม. ถ้าไม่รวมกาบ กว้าง 0.7-0.9 ซม. ปล้องยาว 15-17 ซม. เถามีกาบสีเขียวหุ้ม ผิวกาบมีสะเก็ดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมเล็กน้อย และ มีหนามแบนสีน้ำตาลอมม่วง ยาวได้ถึง 2 ซม. มีจำนวนมาก เรียงกระจัดกระจายมีปลายหนามชี้ไปหลายทิศทาง โคนหนามบวมสีเหลือง ที่ใกล้ปลายกาบใบมีแส้ (flagellum) 1 เส้น ยาว 0.5-1.5 ม.
  • ใบ: ใบประกอบแบบขนนก มีแกนใบเป็นเหลี่ยม ยาว 50-60 ซม. ไม่มีก้านใบ หรือมีแต่ยาวไม่เกิน 3 ซม. มีรอยบวมพองที่กาบใบใต้ โคนก้านใบ (knee) ไม่มีแส้ยื่นออกมาที่ปลายแกนใบ (cirrus) ใบย่อยเรียงสลับระนาบเดียว มีข้างละ 10-17 ใบในแต่ละข้าง รูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาวได้ถึง 27 ซม. ปลายใบเรียวแหลม ไม่มีก้านใบย่อย ผิวใบเกลี้ยง มีเส้นใบตามแนวยาวข้างละ 1-2 เส้น ตามเส้นกลางใบ ขอบใบ และแกนใบมีหนาม
  • ดอก: ช่อดอกยาวได้ถึง 1.3 ม.
  • ผล: ผลรูปทรงกลม กว้าง 1-1.3 ซม. ผิวมีเกล็ดแข็งซ้อนกัน 17 แถวตามแนวตั้ง สีเหลืองอ่อน ปลายเกล็ดสีเข้มกว่า
  • เมล็ด: มี 1 เมล็ด/ผล รูปกลมและแบนด้านข้าง

ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ของหวายน้ำ สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อนหรือหน่อ มีรสมันปนขมและฝาด ใช้แกง, ผลสุกรสเปรี้ยว กินเป็นผลไม้ และใช้ประโยชน์จากเถา/ลำหวาย มีเนื้อเหนียว ใช้จักสานตะกร้าหรือภาชนะต่างๆ

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.