✓ต้นไม้: ส้มสายน้ำผึ้งไร้เมล็ด สายพันธุ์ 'แพร่ 1' ลักษณะเด่น?
ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมบริโภคส้มที่ไร้เมล็ดหรือมีเมล็ดน้อย ซึ่งสะดวกในการบริโภคและราคาของส้มไร้เมล็ดจะแพงกว่า ดังนั้น การปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ตรงตามความต้องการของตลาดนับเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในส้มสายน้ำผึ้ง เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดน้อย เพื่อเผยแพร่สู่เกษตรกรและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
ส้มสายน้ำผึ้งไร้เมล็ด พันธุ์ "แพร่ 1"
การปรับปรุงคุณภาพของไม้ผลหรือพืชสวนอื่น ๆ เช่น การไม่มีเมล็ด เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ควรทำการศึกษาและเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต สำหรับการปรับปรุงลักษณะ 1 หรือ 2 ลักษณะของพืชนั้น การใช้เทคโนโลยี ด้าน Mutation หรือ Transformation มีประสิทธิภาพสูง ในการปรับปรุงลักษณะของพืช
การใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ในไม้ผลหลายชนิด รวมทั้ง Calamandarin (Citrus manderensis) เพื่อชักนำให้เกิดความหลากหลาย แล้วทำการคัดเลือกและประเมินผลจากการกลายพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่
ปี 2540 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ รวบรวมและศึกษาพันธุ์พืชตระกูลส้ม ในแปลงทดลอง และในโรงเรือน ขนาดพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืชตระกูลส้ม
ปี 2543-2548 นำกิ่งพันธุ์ส้มสายน้ำผึ้งมาชักนำ ให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยการฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลัน (Acute) ด้วยปริมาณรังสีอัตรา 0, 4, 6, 8 Krad
ปี 2548 - 2553 ทำการตรวจสอบคุณภาพผลจากต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว
ปี 2553 - 2557 ทำการปลูกสายต้นส้มสายน้ำผึ้งไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดน้อยที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 14 สายต้น และส้มสายน้ำผึ้งที่ไม่ฉายรังสีเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ โดยวางแผนการทดลองเป็นแบบ Randomize complete Block Design (RCB) มี 15 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ปลูก 4 ต้น/ซ้ำ สามารถคัดเลือกต้นที่ไม่มีเมล็ด หรือมีเมล็ดน้อยกว่า 5 เมล็ด จำนวน 5 สายต้น ได้แก่ สายต้น A4V3-22-2 (Tr11) สายต้น A4V3-19-3 (Tr6) สายต้น A4V3-22-12 (Tr13) สายต้น A4V3-11-2 (Tr3) และ สายต้น A4V3 19-1 (Tr5)
ในปี 2558 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ คัดเลือกสายต้นที่ดีที่สุด 1 สายต้น คือ สายต้น A4V3-22-2 และใช้ชื่อว่า “ส้มสายน้ำผึ้ง แพร่ 1” เป็นพันธุ์แนะนำสู่เกษตรกร
ลักษณะเด่น ส้มสายน้ำผึ้งไร้เมล็ด แพร่1
จำนวนเมล็ดภายในผลน้อย ประมาณ 0 - 2 เมล็ดต่อผล หรือบางผลไม่มีเมล็ดเลย และมีคุณภาพดีเทียบเท่าพันธุ์สายน้ำผึ้งที่ไม่ได้รับการฉายรังสี ทั้งในด้านขนาดผลน้ำหนักผล ความหวาน ปริมาณกรด และปริมาณผลผลิตต่อต้น โดยต้นที่คัดเลือกให้ผลผลิตประมาณ 15 กิโลกรัมต่อต้น เมื่ออายุ 4 ปี หลังปลูก
ลักษณะประจำพันธุ์
ต้น เป็นไม้ผลขนาดเล็กในสกุล Citrus วงศ์ Rutaceae ความสูงประมาณ 2.40 เมตร ทรงพุ่มมีความกว้างประมาณ 1.60 เมตร ขนาดของทรงพุ่มประมาณ 4 - 6 เมตร
ใบ มี 2 ส่วน คือ แผ่นใบ และก้านใบ ส่วนของก้านใบจะมีส่วนคล้ายกับแผ่นใบที่เรียกว่า wing ติดอยู่ด้วยเป็นใบเดี่ยว ใบมีรูปร่างแบบ lanceolate ค่อนข้างเรียวแหลมสีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีเขียวอมเหลือง ผิวใบด้านบนเป็นมันด้านใต้ใบเป็นสีตองอ่อน ขอบใบเรียบ บนแผ่นใบ wing และก้านใบมีต่อมน้ำมัน
ดอก แบบ regular flower เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศชั้นของกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ก้านชูเกสรมีสีขาว อับเกสรมีสีเหลืองแบ่งเป็น 2 พู ภายในมี 4 ช่องเกสรเพศเมีย ประกอบด้วย ยอดเกสรเพศเมีย และรังไข่ส่วนของยอดเกสรเพศเมียมีสีเหลือง ชนิดของรังไข่เป็นแบบ syncarpous มีประมาณ 10 ช่อง
ผล จัดเป็นพวก hesperidium เจริญจากรังไข่ โดยตรง มีประมาณ 10 พู เชื่อมต่อกันเป็นวงกลมล้อมรอบแกนที่เรียกว่า central axis สามารถปอกเปลือกได้ง่ายผลมีลักษณะค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อยบริเวณขั้วผลราบถึงเว้าเล็กน้อย ผิวผลเมื่อสุกมีสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้มถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นผิวผลจะมีสีเหลืองอมส้มเนื้อมีสีเหลืองส้ม
ลักษณะทางการเกษตร ผลผลิตปีแรกควรเด็ดผลอ่อนทิ้ง เนื่องจากต้นยังมีขนาดเล็ก จึงมีการให้ออกผลผลิตปีที่ 2 แต่ให้ออกผลไม่เกินต้นละ 4 ผล และปีที่ 4หลังจากปลูกแล้วให้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่หรือประมาณ 20 กิโลกรัมต่อต้น อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 95 - 105 เดือน หลังจากดอกบาน สีผิวเริ่มมีสีเหลืองมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) ขั้นต่ำ 8.0 เปอร์เซ็นต์บริกซ์
พื้นที่การปลูก
พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมสามารถปลูกได้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยเช่น จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียง โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง หรือควรยกร่องแปลงปลูกส้มเพื่อป้องกันการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าเกษตรกรท่านใดสนใจต้นพันธุ์ ส้มสายน้ำผึ้งไร้เมล็ด“แพร่ 1” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร