Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นสัตฤาษี (ตีนฮุ้งดอย) งานวิจัย ประโยชน์ สรรพคุณ สมุนไพร?

สมุนไพรไทยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันสมุนไพรตามธรรมชาติบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว อย่างเช่น สัตฤาษี หรือเรียกอีกอย่างว่า ตีนฮุ้งดอย ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของทางภาคเหนือที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปขายที่ประเทศจีน เพราะเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะและช่วยรักษามะเร็งได้

สัตฤาษี (ตีนฮุ้งดอย) สุดยอดสมุนไพรเมืองหนาว

ต้นสัตฤาษี (ตีนฮุ้งดอย) งานวิจัย ประโยชน์ สรรพคุณ สมุนไพร

สัตฤาษี ถือเป็นพืชป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และการเข้าถึงเพื่อการใช้ประโยชน์ ต้องมีการแจ้งตามมาตรา 52 การศึกษาวิจัยพืชดังกล่าวจึงมีความจำเป็นเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลของพืชพรรณท้องถิ่นที่มีการใช้ประโยชน์ และมีความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และลักษณะทางการเกษตรของสัตฤาษี ในปี2559 - 2563ภายใต้ “โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรเมืองหนาวที่มีศักยภาพ” เพื่อให้ได้ข้อมูลลักษณะทางสัณฐานวิทยา ข้อมูลการเจริญเติบโตของสัตฤาษีรวมถึงเทคโนโลยีการปลูกพืชสมุนไพรเมืองหนาวที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(อพ.สธ.) ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างความเข้าใจและให้ตระหนักถึง ความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ในประเทศไทย พร้อมทั้งหาแนวทางการอนุรักษ์ ผ่านการเรียนรู้ การสร้างจิตสำนึกและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมเหล่านั้น

สำรวจและวิเคราะห์

สัตฤาษีในโลกมีมากกว่า10 สายพันธุ์ ในประเทศไทยพบเฉพาะสายพันธุ์ chinensis (Daiswa polyphylla var chinensis)โดยพบเฉพาะทางภาคเหนือแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ขึ้นในป่าดิบเขาระดับความสูง 900 -1,900 เมตร ในต่างประเทศพบในระดับความสูงจนถึง 3,000 เมตร โดยลักษณะที่ใช้ในการจำแนกพันธุ์สัตฤาษี ได้แก่ ลักษณะใบประดับ สีใบประดับ และลักษณะใบ แต่พบว่าสัตฤาษีเป็นพืชที่มีการขยายพันธุ์โดยเมล็ดลักษณะสัณฐานที่ปรากฏจึงมีความหลากหลายและจำแนกได้ค่อนข้างยาก

ความหลากหลายด้านพันธุ์

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจสัตฤาษีในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในระหว่าง ปี2559 - 2561 พบสัตฤาษีในพื้นที่

  • จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อ.ดอยสะเก็ด อ.สะเมิง อ.แม่วาง อ.แม่แจ่ม อ.เชียงดาว และ อ.จอมทอง
  • จังหวัดเชียงราย ได้แก่ อ.เวียงป่าเป้า 
  • จังหวัดน่าน ได้แก่ อ.แม่จริม

สามารถจัดกลุ่มตัวอย่างได้ 7 กลุ่ม คือ ดอยสะเก็ด (S1) สะเมิง (S2) แม่แจ่ม (S3) แม่วาง(S4) เชียงดาว(S5) เวียงป่าเป้า(S6 ) และ แม่จริม (S7)

จากนั้นนำตัวอย่างสัตฤาษีที่สำรวจได้ไปสกัดและวิเคราะห์ DNA พบว่า ตัวอย่างสัตฤาษีทั้ง 7 กลุ่ม มีความแตกต่างทางพันธุกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ดอยสะเก็ด (S1) สะเมิง (S2) เชียงดาว (S5) และเวียงป่าเป้า (S6)
  • กลุ่มที่ 2 ได้แก่ แม่แจ่ม (S3) แม่วาง(S4)
  • กลุ่มที่ 3 ได้แก่ แม่จริม (S7)

สารสำคัญที่พบในสัตฤาษี (ตีนฮุ้งดอย)

เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ พบว่า สัตฤาษีที่มาจากตัวอย่างแหล่งเวียงป่าเป้า(S5) มีปริมาณสารประกอบฟินอลิก (total phenolic compound) มากกว่าสัตฤาษีแหล่งอื่น สัตฤาษีจากกลุ่มตัวอย่างแหล่งแม่จอนหลวง (S3)มีค่าเฉลี่ยปริมาณสารซาโปนินรวม (total saponins)มากกว่ากลุ่มตัวอย่างจากแหล่งอื่น และสัตฤาษีจากกลุ่มตัวอย่างแหล่งสะเมิง (S2) มีค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุด

ข้อมูลและลักษณะทั่วไป

สัตฤาษี (Daiswa polyphylla Smith) มีชื่อเรียกท้องถิ่นว่า เล็บฮุ้ง ตีนฮุ้งดอย ต๋ง ต่องลุ้งจ่อ (ไทยใหญ่) ยาประดงร้อยเอ็ด (ลั๊ว) เป็นพืชล้มลุก มักขึ้นตามพื้นที่ป่าสนเขาและป่าดิบเขาที่มีเรือนยอดสูง โดยพบเจริญเติบโตตามพื้นที่ไหล่เขา ในสภาพแสงรำไร ดินมีอินทรียวัตถุสูงและมีเศษกิ่งไม้ใบไม้ทับถมผิวดินจำนวนมาก

ลำต้นใต้ดินมีลักษะแบบเหง้า(Rhizome)แนวนอนมีการเจริญเติบโตทางลำต้นเหนือดินบริเวณจุดเจริญที่เหง้าและพัฒนาเป็นลำต้นต่อไป

ลำต้นเหนือดิน จะเจริญจากหน่อใต้ดิน ลำต้นสูงเฉลี่ย 35 - 60 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับอาหารสะสมในเหง้าและอายุของเหง้า

ใบ มีลักษณะเป็นแบบใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม ออกเรียงเวียนวนรอบข้อ 4 - 9 ใบ รูปใบรีแกมรูปขอบขนานกว้าง 3 - 5 เซนติเมตร ยาว 8 - 15 เซนติเมตร โคนใบมนหรือสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ก้านใบสีน้ำตาล และแผ่กระจายออกเป็นแนวนอนด้านบนลำต้น

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวสีเขียวอ่อนอยู่ปลายยอดก้านดอกยาว 5 - 30 เซนติเมตร มียอดเกสรเพศเมียสีเหลืองหรือสีส้ม มีใบประดับ 4 - 6 ใบรองรับ ยาว 5 - 10 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นเส้นเล็กสีเขียวยาว 6 - 12 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้10 - 22 อัน เป็นเส้นยาว

ผล มีลักษณะเป็นก้อนกลม ผิวเรียบ มีสัน 4 - 5 สันการติดผลขึ้นอยู่กับช่วงแสงและอุณหภูมิที่ได้รับ โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายน

เมล็ด จะเกาะเป็นกลุ่มภายในผล เมื่อสุกแก่เต็มที่เปลือกผลที่หุ้มเมล็ดจะแตกออก จำนวนเมล็ดเฉลี่ยในผลมีประมาณ 20 - 35 เมล็ด มีลักษณะกลมสีส้มแดง และมีเมล็ดจริงค่อนข้างแข็งสีขาวครีมอยู่ภายใน

สรรพคุณ สัตฤาษี สุดยอดสมุนไพรเมืองหนาว

สัตฤาษีมีสรรพคุณด้านการนำมาทำยา โดยใช้ส่วนลำต้นใต้ดินหรือเหง้า(Rhizome) มาทานสด หรือต้มดื่มน้ำเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ และนำไปดองเหล้ากินเป็นยาบำรุงกำลัง และยังสามารถนำมารักษาพิษไข้พิษจากอาหาร แก้พิษงู พิษแมลงกัด ใช้เหง้าที่แก่และแห้งฝนทารักษาบาดแผลภายนอก และใช้เป็นยาแก้ปวด

สำหรับในต่างประเทศนิยมใช้หลากหลายรูปแบบทั้งในรูปหัวอบแห้ง แผ่นสัตฤาษีอบแห้ง และสัตฤาษีแบบผง เช่น ประเทศเนปาลใช้เป็นยาละลายเสมหะ รักษาพิษไข้พิษจากอาหาร เป็นยาบรรเทาผลกระทบจากยาเสพติดหัวใช้เคี้ยว รักษาแผลภายในคอ ฝนหัวรักษาบาดแผลภายนอก ต้มหัวรักษาแผลคอตีบ โรคต่อมน้ำเหลืองต่อมทอนซิล คางทูม เต้านมอักเสบ ไขข้อ และบรรเทาฝี

ส่วนในตำรับยาจีนใช้เป็นส่วนผสมหลักในยารักษาตับ ท้องจมูก ปอด คอ มะเร็งเต้านม และใช้รักษาเนื้องอก ห้ามเลือดต่อต้านการอักเสบ ลดอาการปอดบวม มะเร็งปอด และมะเร็งกล่องเสียงและเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิทธิบัตรยาจีน คือ แคปซูลยา Gongxuening, Jidesheng Sheyao และ Biyan Qingdu Keli

นอกจากนี้สารประกอบของสัตฤาษีสามารถแยกได้ 8 ชนิดหลัก คือ Falcarindiol, B-ecdysterone และสาร saponins อีก 6 ชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดยโครงสร้างของ saponins มีฤทธิ์ต้านเนื้องอกได้และยังสามารถบรรเทาอาการบวมน้ำที่ปอดและกล้ามเนื้อหัวใจ

สัตฤาษีเป็นพืชสมุนไพรบนที่สูงที่มีศักยภาพ มีคุณสมบัติด้านการบำรุงและรักษาร่างกายหลายด้านเกษตรกรสามารถนำมาขยายพันธุ์เพาะปลูกได้ทั้งในสภาพป่าและในสภาพโรงเรือน อีกทั้งเป็นสมุนไพรที่มีความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศในปริมาณมาก เป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งในการพัฒนาผลิตเป็นสมุนไพรบนที่สูงที่มีมูลค่าสูง

โดยพันธุ์ที่พบในประเทศไทยมีสรรพคุณใกล้เคียงกับพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้าในต่างประเทศ ทั้งนี้สัตฤาษีจัดเป็นพืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จึงมีความจำเป็นในการศึกษาวิจัยให้ครบทุกด้านและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำองค์ความรู้และการพัฒนาไปสู่การอนุรักษ์และการหาวิธีการนำมาใช้ประโยชน์สัตฤาษีอย่างยั่งยืน

ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และลักษณะทางการเกษตรของสัตฤาษี” คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง,อรทัย วงค์เมธา, เกษม ทองขาว และ นาราญ์โชติอิ่มอุดม ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร 

รายละเอียดเพิ่มเติม