วิธีการผสมเกสร ช่อดอกอินทผลัม วิธีการแต่งช่อผลอินทผลัม ลักษณะดอกอินทผลัม?
อินทผลัม (Date Palm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix dactylifera L. เป็นพืชตระกูลปาล์ม อินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจในเขตร้อนทะเลทรายสำหรับบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก และเป็นพืชชนิดใหม่ที่มีการปลูกในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดและปลูกกันอย่างแพร่หลายในแถบตะวันออกกลาง
อินทผลัม (Date Palm)
จากสถานการณ์การผลิตอินทผลัมปี 2560 ประเทศที่มีการผลิตอินทผลัมมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ ประเทศอียิปต์ ปริมาณ1.54 ล้านตัน หรือ 18.39 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตทั่วโลก 8.38 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ ซาอุดิอาระเบียอิหร่าน แอลจีเรีย อิรัก ปากีสถาน ซูดาน โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรต และตูนิเซีย ตามลำดับ สายพันธุ์อินทผลัมที่ปลูกมีมากมายกว่า 600 ชนิด เช่น บาฮี เดคเลทนัวร์ เมดจูน โคไนซี และคาลาส เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์การปลูกอินทผลัมในประเทศไทย ปัจจุบันเกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นทั่วทุกภาค โดยใช้ต้นพันธุ์ดีทั้งต้นแม่และต้นพ่อซึ่งเป็นต้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ แตกต่างจากในอดีตที่ใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ด
เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์สำหรับรับประทานผลสด ได้แก่ KL1 บาฮี โคไนซี อัมเอดดาฮาน โดยส่วนมากปลูกพันธุ์บาฮี อินทผลัมมีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีมูลค่าสูง ทำให้มีเกษตรกรสนใจปลูกมากขึ้น
ลักษณะทั่วไปอินทผลัม
ต้นอินทผลัมมีลักษณะเป็นลำต้นเดี่ยวและแตกหน่อลำต้นสูง กาบใบหุ้มลำต้น ทางใบมีหนามแหลมยาว ใบเป็นแบบขนนก ผลทรงกลมรีลักษณะเป็นช่อ รสหวาน ทานได้ทั้งผลสด ผลสุก และผลแห้ง ผลสีเหลือง ส้ม และแดง เมื่อผลสุกจนถึงผลแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจนถึงสีดำ
อินทผลัมมีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศหลายรูปแบบ ชอบอากาศร้อนและต้องปลูกอยู่กลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน อินทผลัมสามารถเจริญเติบโตได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 7 องศาเซลเซียส เป็นต้นไป อุณหภูมิเหมาะสมที่สุดคือ 32 องศาเซลเซียส และยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิถึง 38 - 40 องศาเซลเซียส สามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ แต่ต้องไม่นานเกินไป ถึงแม้อินทผลัมสามารถทนแล้งได้ดีเป็นเวลานานก็ตาม แต่ต้องการน้ำมากสำหรับผลผลิตให้มีคุณภาพดี
อินทผลัมเป็นไม้ผลที่ต้นเพศผู้และเพศเมียแยกจากกัน(dioecious plant) ดอกอินทผลัมมีลักษณะเป็นช่อในซอกกาบใบ และไม่ออกช่อดอกซ้ำจุดเดิมในปีถัดไป เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ (Imperfect flower) การผสมเกสรตามธรรมชาติจากลมและแมลง ทำให้อินทผลัมติดผลน้อยมากและไม่สม่ำเสมอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการอาศัยแรงงานคนผสมเกสรเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพและความสม่ำเสมอแตกต่างกับไม้ผลชนิดอื่นในประเทศไทยที่สามารถติดผลเองได้
โดยปกติต้นเพศผู้ออกดอกก่อนต้นเพศเมีย 1 - 2 สัปดาห์หรือออกดอกพร้อมกัน จึงต้องเก็บละอองเกสรจากดอกเพศผู้ไว้รอผสมกับช่อดอกเพศเมีย อินทผลัมเริ่มออกดอกเมื่อต้นมีอายุ 2 ปีขึ้นไป การออกดอกของอินทผลัมต้องอาศัยอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งต่อเนื่องในฤดูหนาวสำหรับการสร้างตาดอก และอาศัยอากาศอบอุ่นภายหลังอากาศหนาวเย็นในการพัฒนาและเจริญเติบโตของดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีใกล้เคียงกับอินทผลัมพันธุ์บาฮีในประเทศอียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่สามารถผสมเกสรในช่วงต้นเดือนมีนาคม
สภาพภูมิอากาศกับการผลิต
อินทผลัมในฤดูกาลผลิตอินทผลัมปี 2564 มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนลงมาถึงภาคเหนือตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ทำให้มีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่องและสม่ำเสมอยาวนานถึงต้นเดือนมีนาคม 2564 แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนมาตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564แล้วก็ตาม ความหนาวเย็นของปีนี้เป็นรองเพียงแค่ปี 2563 โดยสภาพอากาศแล้งและอุณหภูมิต่ำเช่นนี้มีความเหมาะสมในการกระตุ้นการออกดอกได้เป็นอย่างดี
อินทผลัมออกดอกจากทางใต้ขึ้นเหนือ อินทผลัมที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรี และกาญจนบุรี ขึ้นมา จะออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ส่วนจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ อินทผลัมจะออกดอกช้าสุดซึ่งต้องอาศัยอากาศที่อบอุ่นขึ้นในการออกดอก ซึ่งภาคเหนือ มีอากาศหนาวก่อนและยาวนานกว่าภาคอื่น จึงออกดอกช้าที่สุดและผลผลิตที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวปีนี้คงมีปริมาณมากที่สุดตั้งแต่มีการปลูกอินทผลัมในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี
เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมรอคอยอากาศหนาวเย็นที่จะพัดลงมาจากประเทศจีนอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเวลาในการบำรุงต้นและเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เช่น การสะสมอาหารภายหลังสิ้นสุดฤดูฝน ด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีทางดิน สูตร 8-24-24 หรือ 13-13-21 อัตรา 2 - 4 กิโลกรัมต่อต้น บริเวณรอบชายพุ่มห่างโคนต้นประมาณ 1.5 เมตร ทุก ๆ 15 วัน ในต้นโตเต็มที่แล้วสะสมอาหารทางใบด้วยการพ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 0-52-34 อัตรา 2 - 3 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตรสามารถพ่นร่วมกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชธาตุแคลเซียมและโบรอนได้
ความหนาวเย็นมีความสัมพันธ์กับแผนที่อากาศจากเส้น Isobar หรือเส้นความกดอากาศ (เท่า) ซึ่งประเทศไทย โดยทั่วไปแล้วในฤดูหนาวจะอ้างอิงเส้นไอโซบาร์ 1020 hPa เป็นเส้นความกดอากาศสูง อากาศหนาวและความหนาวเย็น นอกจากจะขึ้นกับความกดอากาศ ยังขึ้นกับความชื้นและความเร็วลมด้วย ทำให้ตอนเช้ามีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 13 –20 องศาเซลเซียส ในพื้นราบหากพาดผ่านถึงพื้นที่ปลูกอินทผลัม เช่น จังหวัดกาญจนบุรี และเพชรบุรี ยาวนานประมาณ 15 วัน อินทผลัมก็จะสามารถออกดอกได้ ส่วนในภาคใต้ไม่มีฤดูหนาว การออกดอกจึงน้อยและไม่สม่ำเสมอทุกปี
ดอกอินทผลัมเพศผู้และเพศเมีย
สำหรับชาวสวนอินทผลัมมือใหม่ ส่วนใหญ่มักจะมีคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่เป็นประจำ คือ ดอกแบบไหนคือดอกเพศผู้ ดอกแบบไหนคือดอกเพศเมีย ซึ่งความจริงแล้วเกษตรกรสามารถแยกได้ไม่ยากเนื่องจากดอกมีลักษณะแตกต่างกันชัดเจนดังนี้
ดอกเพศผู้ มีกาบหุ้มสีน้ำตาลอมเขียวและช่อดอกแบนยาว นูนตรงกลางช่อ ยืดช่อออกจากกาบใบกาบหุ้มจะแตกออกมาให้เห็นภายในดอกใช้เวลา 18 - 22 วันดอกมีกลีบดอกสีขาว 3 กลีบ อับละอองเกสร 6 อัน คล้ายหางกระรอก ละอองเกสรเป็นฝุ่นแป้งสีขาว มีกลิ่นล่อแมลงในกลุ่มผึ้งมาตอมและติดขาแมลงไป
ดอกเพศเมีย มีกาบหุ้มสีน้ำตาลแบนยาวไม่นูนกลางช่อ เมื่อกาบดอกแตกภายในเป็นเม็ดกลมสีขาวบนก้านดอกย่อย ไม่มีกลีบดอก มี 3 เกสร 3 รังไข่ สามารถผสมเกสรได้ภายใน 3 วันหลังกาบแตก หากผสมเกสรล่าช้าไปกว่านั้น ปลายเกสรเพศเมียจะแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจนถึงสีดำในที่สุด ทำให้ติดผลน้อยลงหรือไม่ติดผล เมื่อดอกได้รับแสงแดดจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว เริ่มแทงช่อดอกในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และดอกจะทยอยบานหลังจากแทงช่อแล้วประมาณ 15 วัน และเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5.5 - 6.0 เดือน หรือ 168 วันหลังผสมเกสร เมื่อแยกเพศดอกอินทผลัมได้แล้วขั้นตอนต่อไปคือ การผสมเกสร
การเตรียมช่อดอกเพศผู้และการเก็บละอองเกสร
1. ช่อดอกเพศผู้ที่โผล่พ้นจากกาบใบแล้ว ใช้เชือกมัดช่อดอกไว้ให้แน่นพอดี เมื่อถึงเวลากาบหุ้มดอกแตก กาบหุ้มจะไม่บานมากเพื่อเก็บรักษาละอองเกสร ป้องกันแมลงพวกผึ้งและลมพัดเอาละอองเกสรไป ใช้กรรไกรแต่งกิ่งตัดช่อดอกเพศผู้มาเก็บไว้ เพราะส่วนใหญ่ช่อดอกเพศเมียจะบานทีหลัง
2. ช่อดอกเพศผู้ที่ตัดมาควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพราะจะช่วยดูดซับความชื้นได้ดีและละอองเกสรไม่ติดกระดาษเนื่องจากภายในกาบดอกและช่อดอกมีความชื้น หลังจากแกะกาบหุ้มออกควรผึ่งในห้องปิดไม่ตากแดดไม่มีลมพัดแรง โดยเอากระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษรอง หากตัดช่อดอกมาตอนเช้าก็สามารถเคาะละอองเกสรได้ในตอนเย็น และควรเคาะในภาชนะปิด หรือภาชนะทรงลึก เช่น ขวดแก้วขนาดใหญ่ถังพลาสติก ลังกระดาษ เพื่อไม่ให้ละอองเกสรปลิวหายไปหรือใช้เครื่องดูดฝุ่นขนาดเล็กดูดผ่านตาข่ายตาถี่เพื่อไม่ให้กลีบดอกและแมลงตัวเล็ก ๆ ติดออกมา
3. การเก็บรักษาละอองเกสร ควรเก็บไว้ในขวดแก้วสีชาป้องกันแสง ใส่สารดูดความชื้นเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราและปิดฝาให้แน่น อย่าให้มีกลีบดอกหรือแมลงปะปนอยู่ในละอองเกสรเป็นอันขาด เพราะละอองเกสรเกิดเชื้อราได้ง่ายเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 1 - 5 องศาเซลเซียสจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานข้ามปี สามารถใช้ผสมเกสรในปีถัดไปได้ สีของละอองเกสรใหม่มีสีขาวครีม หากเก็บไว้นานขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ไม่ควรเก็บรักษาละอองเกสรไว้ในขวดเดียว ควรแบ่งเก็บรักษาไว้หลายขวดเพื่อป้องกันความเสียหายจากเชื้อรา
อุปกรณ์ผสมเกสร
อุปกรณ์ผสมเกสร ได้แก่ ละอองเกสร ขวดน้ำกลั่นสำหรับใส่ละอองเกสรกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษสีน้ำตาล กรรไกรแต่งกิ่งปากกา ป้ายชื่อ ขวดพลาสติกใส
การผสมเกสร
เมื่อกาบหุ้มดอกเพศเมียแตกออกแสดงว่าดอกมีความสมบูรณ์พร้อมผสมเกสร ฉีกกาบหุ้มออก รวบปลายช่อ ตัดปลายช่อเล็กน้อยให้เสมอกัน คลี่ก้านดอกย่อยเพศเมียออกจากกันเพื่อให้ละอองเกสรเพศผู้ผสมเกสรได้ทั่วถึงทั้งช่อไม่จำเป็นต้องรีบผ่ากาบหุ้มออกก่อนกาบแตก นำละอองเกสรที่เก็บรักษาไว้มาผสมเกสรหรือใช้ช่อดอกเพศผู้ที่บานพร้อมกันมาผสมเกสรได้โดยตรง หรือนำละอองเกสรที่เก็บรักษาไว้มาผสมแป้งธรรมชาติหรือแป้งทัลคัม (Talcum powder) หรือแป้งทาตัว (ยกเว้นแป้งเย็น) อัตราส่วนละอองเกสร 1 ส่วนต่อ แป้ง 1 ส่วน หรือผสมแป้งได้ถึง 5 ส่วน ก็ยังทำให้อินทผลัมติดผลสูงเพื่อเพิ่มปริมาณตัวนำและการฟุ้งกระจายขณะผสมเกสร ร่วมกับการใช้ขวดพลาสติกใสสวมช่อดอกขณะพ่นละอองเกสรเพื่อลดการสูญเสีย ผสมเกสรในช่วงเช้าเวลา 8.00 – 9.00 น. เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีลมพัดและอุณหภูมิต่ำ
หลังจากนั้นคลุมช่อด้วยกระดาษช่วยลดการหลุดร่วง เพิ่มการติดผล ป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน ลมพัด แมลง หนอนเพลี้ยไฟ ลดรอยขีดข่วนจากก้านใบและหนาม ลดอุณหภูมิและลดความเป็นพิษของสารเคมี กรณีไม่ห่อผลก็สามารถทำได้แต่หากผสมเกสรแล้วมีฝนตกภายในวันเดียวกันจะต้องผสมเกสรอีกครั้งในเช้าวันถัดไป กรณีมีฝนตกในวันถัดไปไม่จำเป็นต้องผสมเกสรอีกครั้ง
การผสมเกสรอินทผลัมเป็นช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน จากการออกดอกไม่พร้อมกันควรมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟร่วมกับธาตุแคลเซียมและโบรอนด้วยเป็นบางช่วง เพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟเข้าทำลายผลอ่อน ทำให้ผิวลายปรากฏชัดเจนเมื่อผลมีขนาดใหญ่ขึ้น
การผสมเกสรในต่างประเทศ
ต้นอินทผลัมมีความสูงมาก มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยเหลือในการดูแลรักษาแปลงและการผสมเกสร การผสมเกสรใช้ละอองเกสรห่อในถุงผ้าแล้วนำไปเขย่าบนดอกเพศเมีย การใช้เครื่องพ่นลมแรงผสมเกสรจากด้านล่างให้ขึ้นไปถึงดอกบนต้นสูงการใช้รถยกแบบมีกระเช้ายกคนขึ้นไปผสมเกสร และการใช้โดรน เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการผสมเกสร ของบริษัท Wakan Tech ในโอมาน ทั้งนี้ทางบริษัทได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อย
การผสมเกสรที่ประสบผลสำเร็จสามารถวัดได้จากจำนวนผล น้ำหนักช่อผล ปริมาณผลผลิตต่อต้นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอินทผลัมที่มีจำนวนผลมากเกินไปส่งผลต่อการจัดช่อและการแต่งช่อไม่สะดวก มีการสะสมความชื้นทำให้เกิดโรคและแมลงเข้ามาอาศัยและทำลาย ธาตุอาหารไม่เพียงพอตามความต้องการ ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการแต่งช่อผลอินทผลัมสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้และสามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
วิธีการแต่งช่อผลอินทผลัม
การแต่งช่อผลเป็นการเพิ่มคุณภาพผลอินทผลัมที่เกษตรกรสามารถทำได้ง่ายและสะดวก ช่วยลดจำนวนผลที่มากเกินไป เพิ่มขนาดผล ปรับปรุงคุณภาพ และสามารถดูแลรักษาช่อผลได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ การแต่งช่อผลทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเด็ดผลทิ้งด้วยมือ ตัดก้านย่อยกลางช่อตัดก้านย่อยจากปลาย สุ่มตัดก้านย่อยทั้งช่อ โดยตัดทิ้งประมาณ 30 - 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผลหรือจำนวนก้านย่อยทั้งหมดทำให้ขนาดผล น้ำหนักผล ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ สารต้านอนุมูลอิสระ และน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำหนักช่อผลลดลงเป็นการเพิ่มมูลค่าและตรงตามความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่ถิ่นกำเนิดอินทผลัมอยู่ในเขตร้อนทะเลทรายซึ่งสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ ควรนำเทคโนโลยีการผลิตอินทผลัมอีกหลายด้านมาพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เกษตรกรจะมีการผลิตอินทผลัมได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ประเทศไทยลดการนำเข้าได้อย่างมหาศาล รวมไปถึงผลผลิตอินทผลัมมีคุณภาพสามารถส่งออกไปต่างประเทศ เกษตรกรมีรายได้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความมั่นคงอาชีพเกษตรกรต่อไป
สำหรับปี 2564 นี้ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวอินทผลัมได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนกันยายน อาจไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยตรงเหมือนมะม่วงและทุเรียน ที่เริ่มออกสู่ตลาดและส่งออกไปทั่วโลก ในปีที่ผ่านมาผลผลิตอินทผลัมไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีความโชคดีที่อินทผลัมเก็บเกี่ยวตรงกับช่วงผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งผลผลิตไม่ได้มีการส่งออกไปต่างประเทศจึงไม่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางการขนส่ง
ผู้บริโภคเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มในประเทศการซื้อขายเปลี่ยนเป็นรูปแบบโซเซียลมีเดียมากขึ้น รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชมสวนก็เช่นกัน ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไรและมีผลอย่างไรต่ออินทผลัมที่จะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึง ประสบการณ์ของเกษตรกร ชีวิตวิถีใหม่ และวัคซีนไวรัสโควิด-19 ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตอีกครั้งไปได้