Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: พลูคาว, ผักคาวตอง ประโยชน์ สรรพคุณ ต้านโควิด-19?

พลูคาว มีสรรพคุณในตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณในประเทศต่าง ๆ จึงนิยมใช้เพื่อรักษาโรค และยังถูกใช้เป็นอาหารและเครื่องสำอาง ในประเทศจีนเลือกใช้สมุนไพรพลูคาว มาใช้ในการป้องกันรักษา โรคโควิด-19 ซึ่งจะสามารถช่วยลดไข้ ไอ เสมหะ เหนื่อย และอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยได้

สมุนไพรพลูคาว และการผลิตต้นกล้าปลอดโรค

พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb) จัดอยู่ในวงศ์ Saururaceae มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันไป ได้แก่ ผักก้านตอง ผักคาวตอง ผักคาวปลา ผักเข้าตอง ผักคาวทอง ฮื่อชอเช่า หรือหื้อแชเช่า เป็นต้น

ต้นไม้: พลูคาว (ผักคาวตอง) ประโยชน์ สรรพคุณ ต้านโควิด19

พลูคาว มีลักษณะเป็นพืชล้มลุก มีอายุอยู่ได้หลายปี มีกลิ่นคล้ายคาวปลา ลำต้นสูงประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร มีลักษณะกลม สีเขียวหรือแดง ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายรูปหัวใจ เป็นพืชที่ต้องการร่มเงา มักเจริญเติบโตได้ในสภาพที่มีความชื้นสูงและเป็นบริเวณที่ได้รับแสงแดดไม่มากนัก สามารถเจริญเติบโตได้ในดินร่วนจนถึงดินทราย

รายละเอียดเพิ่มเติม

สมุนไพรพลูคาวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อ และการปักชำ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตยา เครื่องสำอาง รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้ความสนใจ จึงถือเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน

ฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพรพลูคาว

พลูคาวมีสรรพคุณในตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณในประเทศต่าง ๆ จึงนิยมใช้เพื่อรักษาโรค ได้แก่

  • ประเทศจีน มีการใช้สมุนไพรพลูคาวในการรักษาโรคกลากเกลื้อน โรคไข้มาลาเรีย โรคลมแดด ปอดอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น
  • ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยับยั้ง การติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกกลุ่มที่สร้างสปอร์ เป็นต้น
  • ประเทศเกาหลี มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อรักษาอาการไอ สิว กลากเกลื้อน เริม ตกขาว มดลูกอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
  • ประเทศอินเดีย มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อรักษาอาการอ่อนเพลีย ช่วยให้สดชื่น ช่วยให้หลับสบาย รักษาอาการโรคหัวใจ เป็นต้น
  • ประเทศไทย มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นสารต้านมะเร็ง รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ใช้เป็นยาต้านการอักเสบ เป็นต้น

นอกจากการใช้เป็นยาแล้ว สมุนไพรพลูคาวยังถูกใช้เป็นอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีมักจะใช้สมุนไพรพลูคาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องสำอางสำหรับการป้องกันหรือรักษาริ้วรอย ปรับปรุงสภาพผิว และกำจัดฝ้า

นอกจากนี้พบว่ามีการใช้สารสกัดพลูคาวหมักกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆเพื่อรักษาโรคผิวหนัง เนื่องจากสามารถช่วยลดการอักเสบ ลดอาการคัน และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้สารสกัดพลูคาวเป็นส่วนผสมในแชมพูเพื่อการบำรุงเส้นผม และป้องกันปัญหารังแค และยังมีการใช้เป็นส่วนผสมในครีมมาส์กนวดหน้าเพื่อรักษารอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว เกลื้อน กระ และฝ้า

พลูคาว สรรพคุณ ต้านโควิด-19

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการอุบัติใหม่ของโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจขั้นรุนแรง โดยมีชื่อเป็นทางการว่า“โควิด-19” (Covid-19) ซึ่งเมื่อตรวจสอบสายวิวัฒนาการพบว่าไวรัสโคโรนา 2019 และเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือโรคซาร์ส (SARS-CoV) มีลำดับนิวคลีโอไทด์คล้ายคลึงกันถึง 89.1%

และมีโมเลกุลเป้าหมาย ที่ใช้สำหรับพัฒนายารักษาโรคถึง 95% ตัวอย่างเช่น angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ที่มีบทบาทในการนำเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เซลล์ พบว่ามีความคล้ายคลึงกับที่พบในไวรัสโคโรนาทำให้เกิดโรคซาร์ส ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของ ACE2 อาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้

ซึ่งจากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า พลูคาวสามารถลดการเกิดอาการต่าง ๆ ที่พบในโรคซาร์ส เช่น ฝีในปอดเมือกในปอด ปอดบวม เป็นต้น โดยผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารสกัดของพลูคาวมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ CD4+ และ CD8+ ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์

นอกจากนี้พบว่าสารสกัดน้ำจากพลูคาว สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ SARS-CoV 3CLPro ที่เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ดังนั้นพลูคาวจึงเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ประเทศจีนเลือกมาใช้ในการป้องกันรักษา โรคโควิด-19 ซึ่งจะสามารถช่วยลดไข้ ไอ เสมหะ เหนื่อย และอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยได้

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรพลูคาว

ปัจจุบันสมุนไพรพลูคาวถูกนำมาแปรรูปเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในยารักษาโรค เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่ม เนื่องจากพลูคาวมีสารพฤกษเคมี ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ สเตอรอล แอลคาลอยด์ กรดอินทรีย์ กรดไขมัน น้ำมันหอมระเหย และกรดอะมิโน อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าปริมาณสารพฤกษเคมีหรือสารสำคัญในพืชมักแปรผันตามสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่เพาะปลูก

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรพลูคาว

นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญในภาคการผลิตที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมุนไพรไทยคือ ผู้ผลิตพืชสมุนไพรส่วนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตยังมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรพลูคาวให้เป็นที่ยอมรับ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทย สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

การประยุกต์ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นทางเลือกหนึ่งในการผลิตพืชและสารสำคัญจากพืช ซึ่งจะทำให้การผลิตสารสำคัญสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการผลิตสารจากการเพาะปลูกพืชตามธรรมชาติ

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรพลูคาว

สามารถทำโดยคัดเลือกต้นพลูคาวที่มีความสมบูรณ์ปราศจากโรคและศัตรูพืชที่มีอายุ 6 เดือน จากนั้นทำการตัดชิ้นส่วนบริเวณปลายยอดและข้อออกมาจากกระถางเพาะเลี้ยง แล้วนำชิ้นส่วนพืชที่ตัดได้มาล้างด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้ง ตัดใบส่วนเกินออก แล้วนำมาล้างทำความสะอาด เอาเศษดินที่ติดมาออกด้วยน้ำยาล้างจานจำนวน 1 ครั้ง และล้างน้ำไหลผ่าน เป็นเวลา 15 นาที จากนั้นนำชิ้นส่วนพืชมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ

ทำความสะอาดชิ้นส่วนข้อและยอดพลูคาว โดยฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนพืชด้วยแอลกอฮอล์ 95% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นนำไปฟอกฆ่าเชื้อต่อด้วยสารฟอกฆ่าเชื้อหรือไฮเตอร์ 15% เป็นเวลา 15 นาที และไฮเตอร์ 5% เป็นเวลา 5 นาที

เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดนำชิ้นส่วนไปล้างด้วยน้ำที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที ตัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่ตายออก แล้วตัดชิ้นส่วนข้อให้ได้ความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร จากนั้นนำไปเลี้ยงบนอาหารสูตร MS ที่ปราศจากสารควบคุมการเจริญเติบโตเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

จากนั้นทำการชักนำต้นพลูคาวให้เกิดยอดจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ในขยายพันธุ์พืชปลอดเชื้อให้ได้ปริมาณมากอย่างรวดเร็ว โดยนำต้นพลูคาวที่อยู่ในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบนอาหารสูตร MS อายุประมาณ 2 เดือน มาเพาะเลี้ยงบนอาหารแข็งสูตร MS ที่เติมน้ำตาลซูโครส 30 กรัมต่อลิตร ผงวุ้น 2.5 กรัมต่อลิตร และสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิด BA ที่ระดับความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยทำการเพาะเลี้ยงในสภาพที่มีแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน ที่อุณหภูมิ 25±2 องศาเซลเซียส

จากนั้นย้ายต้นกล้าไปปลูกในโรงเรือนเพาะชำโดยปลูกในกระถางขนาด 8 นิ้ว วัสดุปลูก ได้แก่ ดินแกลบ กาบมะพร้าว อัตราส่วน 1:1:1 ทำการควบคุม ความชื้นสัมพัทธ์เพื่อลดการสูญเสียน้ำโดยอนุบาลในกระถางที่คลุมด้วยพลาสติก เป็นเวลา 2 - 3 วัน รดน้ำ วันละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ทำการควบคุมความเข้มแสง โดยอาจใช้ตาข่ายพรางแสงที่มีเปอร์เซ็นต์การพรางแสงสูงในช่วง 3 - 4 วันแรก เพื่อลดการสังเคราะห์แสงและลดการเปิดปิดของปากใบที่ทำให้เกิดการคายน้ำในต้นกล้า จากนั้นจึงลดเปอร์เซ็นต์การพรางแสงลงตามความเหมาะสม เพื่อให้ต้นอ่อนพลูคาวได้รับแสงมากขึ้น หลังจากการปรับสภาพพืชเป็นระยะเวลา 1 - 3 สัปดาห์แล้วจึงย้ายไปยังระบบปลูกต่อไป

การเพาะเลี้ยงพลูคาว ในระบบไฮโดรโปนิกส์

ปัญหาสำคัญที่มีผลต่อมูลค่าของผลผลิตสมุนไพรพลูคาว คือการรบกวนของโรค ซึ่งโรคที่สำคัญ ที่พบในพลูคาว คือโรคใบจุดและโรคต้นกล้าแห้งจากเชื้อรา (Sclerotium rolfsii) โดยการสะสมของโรคในต้นพันธุ์พลูคาว ทำให้พืชมีความอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคอื่น ๆ และทำให้ได้ผลผลิตน้อย จึงเป็นเหตุให้การผลิตพลูคาวมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากการป้องกันกำจัดโรค

ปัจจุบันทางสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพกรมวิชาการเกษตร ได้ทดสอบปลูกต้นพลูคาวปลอดเชื้อในระบบที่ไม่ใช้ดินหรือระบบไฮโดรโปนิกส์ พบว่าการปลูกพืชในระบบนี้จะทำให้สามารถจัดการปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำ แสง ธาตุอาหาร และอุณหภูมิ ให้แก่พืชได้อย่างเหมาะสม

ต้นพลูคาวสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วอย่างมีคุณภาพปราศจากโรค ทำให้สามารถผลิตพลูคาวได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งยังทำให้การใช้น้ำและใช้ปุ๋ยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสมุนไพรพลูคาวในเชิงพาณิชย์ต่อไป

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรพลูคาว” หรือต้องการต้นพลูคาวปลอดโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพกรมวิชาการเกษตร

อ้างอิง: วรารัตน์ ศรีประพัฒน์; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

รายละเอียดเพิ่มเติม