✓ต้นไม้: มะลิเขี้ยวงู (มะลิป่า,กรงจัน) ลักษณะ มะลิพื้นเมืองไทย?
มะลิเขี้ยวงู
มะลิเขี้ยวงู พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมา เมื่อปี พ.ศ.2380 สำหรับในไทยพบครั้งแรกในอำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี โดย A. Marcan ชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2467
ชื่อวิทยาศาสตร์
มะลิเขี้ยวงู ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Jasminum decussatum Wall. ex G.Don อยู่ในสกุล Jasminum (ชื่อสกุล Jasminum มาจากภาษาอาหรับคำว่า yasmin ที่ใช้เรียกมะลิ พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 197 ชนิด ในไทยพบอยางน้อย 35 ชนิด)
Photo by Natureman Thaimountain
จัดอยู่ในวงศ์ Oleaceae มะลิเขี้ยวงู เป็นพันธุ์พืชที่เราจัดไว้ในกลุ่มไม้ดอกหอม
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Jasminum puberulum Ridl.
ชื่อไทย
ชื่อทางการของพืชชนิดนี้ (อ้างอิงจาก ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557) มีชื่อไทยว่า "มะลิเขี้ยวงู" และมีชื่ออื่น (ชื่อพื้นเมือง, ชื่อท้องถิ่น) ว่า กรงจัน (ภาคเหนือ); มะลิป่า (นครราชสีมา)
Photo by Natureman Thaimountain
ถิ่นกำเนิด
มะลิเขี้ยวงู ในประเทศไทย พบขึ้นตามป่าละเมาะ ชายป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้
การแพร่กระจายพันธุ์มะลิเขี้ยวงู
ในเมียนมา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะลิเขี้ยวงู
- ลักษณะวิสัย: ไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ทอดยาวได้ไกล 2-7 เมตร
- ลำต้น: มีขนสั้นนุ่มหรือขนยาวตามกิ่งอ่อน
- ใบ: ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก
- ดอก: ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง ช่อละกว่า 15 ดอก กลิ่นหอมอ่อนๆตลอดวัน แต่จะมีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางคืน ดอกบานเพียงวันเดียวก็ร่วงโรย ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกสีขาวหม่น ดอกเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 7-8 กลีบ รูปใบหอก ปลายกลีบแหลมถึงเรียวแหลม เมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว และปลายกลีบโค้งงอ ออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายน
- ผล: ผลรูปรีกว้าง ออกเป็นคู่ ขนาด 0.6-1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ มีเมล็ดเดียว
อ้างอิง: Natureman Thaimountain, Forest Botany Division (BKF), Plants of the World Online (POWO)