Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: สาคูด่าง สาคูลาย ว่านนกยูงด่าง วิธีปลูก ดูแล ไม้มงคล?

ปัจจุบันความนิยมและกระแสการปลูกไม้ดอกไม้ประดับโดยเฉพาะไม้ที่มีสีสันแปลกตาหรือมีลักษณะโดดเด่นเช่น ไม้ใบด่าง ทำให้ราคาไม้ประดับพุ่งสูงขึ้นตามกลไกความต้องการของตลาด ด้วยเหตุนี้จึงจะขอแนะนำพืชที่มีลักษณะใบด่างที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบเห็นมาตั้งแต่อดีต ใบมีลวดลายที่สวยงามและราคาไม่สูงมากนัก (ราคาตลาดอยู่ที่ 50 - 150 บาทต่อต้น) ได้แก่ "สาคูใบด่าง" หรือ "มันสาคูใบลาย" หรือ "ว่านนกยูงด่าง"

สาคูด่าง สาคูลาย ว่านนกยูงด่าง

ลักษณะทั่วไป

ต้นสาคูด่าง หรือ ว่านนกยูงด่าง มีชื่อเรียกอื่น เช่น ว่านนกขวา (แม่ฮ่องสอน) บุเรงนอง (กรุงเทพฯ) มีลักษณะคล้ายตันมันสาคูที่อยู่ในวงศ์คล้า (Mrantaceae) 

ต้นไม้: สาคูด่าง สาคูลาย ว่านนกยูงด่าง วิธีปลูก ดูแล ไม้มงคล

เป็นไม้ล้มลุกมีอายุอยู่ได้หลายฤดู เหง้ามีสีขาว เนื้อในเหง้ามีสีขาวอมเทา ใบรูปไข่ขอบใบขนาน ใบเรียบ พื้นใบมีลายสีขาวเป็นแถบสลับกับสีเขียวพาดบนใบสวยคล้ายนกยูง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ต้นสาคูด่าง ไม้มงคล

ตามตำราว่านโบราณมีการนำต้นมันสาคูด่างมาใช้ปลูกเป็นไม้มงคล เพื่อป้องกันเสนียดจัญไรแก่ครอบครัวหรือผู้อยู่อาศัย โดยถ้านำหัวว่านมาเสกด้วยคาถา แล้วนำหัวว่านติดตัวจะปลอดภัยแคล้วคลาดจากศัตรูและอันตราย รวมทั้งเป็นว่านเสน่ห์มหานิยมทำให้ผู้คนสนใจ ค้าขายดี

สรรพคุณ สาคูด่าง

มีการใช้หัวมันสาคูด่างต้มเป็นสรรพคุณทางยาเพื่อแก้ร้อนใน รักษาเด็กที่เป็นอีสุกอีใสแก้เจ็บคอ แต่บางครั้งว่านนกยูงมีหัวหรือเหง้าที่มีสีเทาลักษณะแตกต่างจากสาคูใบด่างที่มีเหง้าสีขาวที่นำมาใช้ในการบริโภคได้

วิธีปลูก ดูแล และการขยายพันธุ์

การปลูกสาคูด่าง ใช้วิธีเดียวกับต้นมันสาคูใบเขียวธรรมดา โดยปลูกในสภาพดินร่วนหรือร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ และระบายน้ำได้ดี ทนทานต่อสภาพร่มเงาได้ ขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนปลายของเหง้า หน่อ และต้นอ่อนที่เกิดบริเวณลำต้น และสามารถสร้างเหง้าได้เช่นเดียวกับมันสาคูใบเขียวธรรมดา

ต้นไม้: สาคูด่าง สาคูลาย ว่านนกยูงด่าง วิธีปลูก ดูแล ไม้มงคล

โดยพบมีการเริ่มสร้างเหง้าแรกเมื่ออายุประมาณ 3 - 4 เดือน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช้บริโภคได้ เมื่ออายุตั้งแต่ 8 - 9 เดือนขึ้นไป โดยเหง้าทั้งมันสาคูและมันสาคูใบด่างจะมีการสะสมเม็ดแป้งจากบริเวณศูนย์กลางเกือบกึ่งกลางเหง้า เม็ดแป้งมีขนาดโตเต็มที่พบทั้งเหง้าช่วง 34 สัปดาห์ เม็ดแป้งมีรูปไตหรือรีแกมไข่ ความยาวเฉลี่ย 6 - 250 ไมโครเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษามันสาคูและมันสาคูใบด่างจากลักษณะทางสัณฐานวิทยา การเจริญเติบโต ลักษณะทางกายวิภาค เซลล์วิทยา และ allozyme จากไอโซไซม์ พบว่า มันสาคูใบเขียวธรรมดา และ มันสาคูใบด่าง มีระดับความคล้ายคลึงกัน 80 - 95%

ซึ่ง The Plant List รายงานว่าต้นสาคูด่าง (Maranta arundinacea var.variegata) เป็นชื่อพ้อง (synonym) ของมันสาคู (Maranta arundinacea L.) โดยมีตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงเป็น Herbarium specimens จาก Royal Botanic Gardens, Kew ในระบบฐานข้อมูลของ GBIF (Global Biodiversity Information Facility และพบมีการบันทึกเป็นภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ตั้งแต่ปี 2431 ใน Gartenflora ฉบับที่ 37 โดย Regel ซึ่งรวบรวมในระบบฐานข้อมูลของ Plantillustrations ในชื่อของ Phrynium variegatum N.E.Br.

จะเห็นได้ว่าต้นสาคูด่าง หรือ ว่านนกยูงมีหลักฐานการพบเจอมากว่า 100 ปี ทั้งมีคุณประโยชน์หลากหลายทั้งในแง่การปลูกเพื่อใช้เป็นไม้ประดับตกแต่งสถานที่ให้มีความสวยงาม หรือการนำเหง้าหรือหัวมาใช้ในการบริโภคยามขาดแคลนได้แล้ว ยังมีคุณสมบัติทางว่านป้องกันสิ่งอัปมงคลและเสริมเสน่ห์มหานิยมตามตำราโบราณอีกด้วย

อ้างอิง: พัชร ปิริยะวินิตร; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

รายละเอียดเพิ่มเติม