✓ต้นไม้: หญ้าหวาน ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีการปลูก ดูแลรักษา?

หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana (Bertoni) ชื่อสามัญ Stevia จัดอยู่ในวงศ์ Asteraceae เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก มีสาร Stervioside ซึ่งเป็นสารให้ความหวานคล้ายคลึงกับน้ำตาลทรายมาก และมีความหวานประมาณ 250 - 300 เท่าของน้ำตาลซูโครส

หญ้าหวาน (Stevia)

หญ้าหวานมีสารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย เนื่องจากไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานในร่างกาย จากคุณสมบัติของสารหวานดังกล่าว ปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นสารที่ให้ความหวานสำหรับอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท

ต้นไม้: หญ้าหวาน ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีการปลูก ดูแลรักษา

โดยใช้แทนน้ำตาลทรายบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือลดปริมาณแคลอรี่ในอาหาร และเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบเป็นรูปหอกกลับ (oblanceolate) ปลายใบแหลม(acute) ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย (serrate) แผ่นใบเรียบ สีเขียวสดและงุ้มเข้ากลางแผ่นใบ ใบมีขนเล็ก ๆ ปกคลุมทั่วทั้งใบ และพบมากบริเวณผิวใบด้านบน

ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด (terminal) เรียงแบบตรงข้าม (opposite) มีก้านดอกสั้น กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ รูปหอกหรือรูปไข่(lanceolate-ovate) แผ่นกลีบดอกมีสีขาว มีเกสรเพศผู้และเพศเมียในดอกเดียวกัน ผลหญ้าหวานเป็นชนิดผลแห้งเมล็ดอ่อน (achene) มีขนาดเล็ก ไม่ปริแตกเมื่อผลสุกแก่

งานวิจัยหญ้าหวาน

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวนกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการสำรวจสายต้นหญ้าหวานในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ในพื้นที่แปลงเกษตรกรที่ผลิตหญ้าหวานเชิงการค้า จ. เชียงใหม่ เพื่อให้ได้สายพันธุ์หญ้าหวานที่มีคุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง โดยสามารถรวบรวบได้ 4 สายต้น คือ

  1. สายต้น SM-OL1 มีลักษณะเด่น ที่ใบ ค่อนข้างใหญ่แผ่กว้าง ใบดก มีขนปกคลุมที่ใบชัดเจน และลำต้นสูง
  2. สายต้น SM-OL2 มีลักษณะเด่น คือ ยอดอ่อนมีสีม่วง
  3. สายต้น SM-OL3 ใบมีลักษณะเรียวแคบและยาว
  4. สายต้น SM-OL4 ลำต้นมีลักษณะทรงพุ่มเตี้ย มีใบค่อนข้างเล็กและสั้น เมื่อวิเคราะห์ DNA ด้วยเทคนิค RAPD พบว่าหญ้าหวานทั้ง 4 สายต้น มีความแตกต่างทางพันธุกรรมทั้งหมด 

จากการนำผลผลิตหญ้าหวานแต่ละสายต้น ที่เก็บเกี่ยวหลังปลูก 135 วัน นำมาวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ สตีวีโอไซด์ ซาโปนิน และฟีนอล รวมทั้งวัดค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ สามารถสรุปได้ว่า

  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL2 มีปริมาณสารสตีวิโอไซด์มากที่สุด เท่ากับ 10.6 mg. stevioside/g sample/dw
  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL1 มีปริมาณสารประกอบฟีนอลมากที่สุด เท่ากับ 5.80 mg galic/g sample 
  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL3 มีปริมาณสารซาโปนินมากที่สุด เท่ากับ5.20 mg/g sample/dw
  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL4 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.74

เมื่อพิจารณาปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญหลักคือ สารสตีวีโอไซด์ พบว่าหญ้าหวานสายต้น SM-OL2 มีลักษณะที่เหมาะสมในการส่งเสริมปลูกเชิงการค้ามากที่สุด โดยในการคัดเลือกสายต้นหญ้าหวานนั้น หากต้องการสายต้นหญ้าหวานที่ให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญ รวมทั้งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่สูง ควรมีการนำทุกสายต้นมาปลูกทดสอบร่วมกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูการตอบสนองด้านการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิต และปริมาณสารสำคัญที่ได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพันธุ์หญ้าหวานเพื่อปลูกเชิงการค้าต่อไป

การปลูกและดูแลรักษา

1. การเตรียมแปลงปลูก

ถางพื้นที่กำจัดวัชพืช ทำการไถพรวนหลายรอบหรือไถพรวน 2 ครั้ง เพื่อให้พื้นที่เรียบและสม่ำเสมอกัน จากนั้นขึ้นแปลงหรือยกร่อง ขุดดินพูนให้เป็นแปลงสูงจากพื้นดิน ประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร ขนาดแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยเว้นระยะห่างระหว่างแปลง 30 – 50 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 20 - 30 เซนติเมตร พื้นที่ปลูกควรและมีการระบายน้ำที่ดี 

2. การขยายพันธุ์ ทำได้ 2 วิธี คือ

- การเพาะกล้าจากเมล็ด จะเก็บเมล็ดในช่วงเดือนพฤศจิกายน วิธีเก็บใช้ถุงพลาสติกครอบดอก เขย่าให้เมล็ดร่วงลงในถุง นำเมล็ดมาเพาะในเดือนมีนาคม - เมษายนจะมีอัตราการงอกดี มีข้อดี คือ ทำได้รวดเร็ว ลำต้นแตกกิ่งมากให้ผลผลิตสูง และเก็บเกี่ยวได้นานหลายฤดูปลูก รวมถึงทนต่อโรคและแมลงได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ มีค่าเมล็ดพันธุ์สูง อายุความมีชีวิตสั้น และเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง อาจมีผลทำให้ปริมาณสารให้ความหวานลดลงหรือผลผลิตต่ำลง

- การปักชำกิ่ง เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติ โดยเลือกตัดกิ่งที่สมบูรณ์และแข็งแรง ตัดเกือบถึงโคนต้นให้เหลือใบอยู่ 2 คู่แล้วตัดกิ่งที่จะนำมาชำให้ยาว 12 – 15 เซนติเมตร แล้วนำมาเพาะในถุงหรือกระบะเพาะ เด็ดใบออกก่อน เพราะถ้ารดน้ำความหวานของใบจะลงสู่ดิน ทำให้กล้าที่ชำไว้ตายได้

เมื่อกิ่งชำแตกรากออกมาได้ 10 – 14 วัน จึงนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ มีข้อดี คือ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ ไม่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ลำต้นแตกกิ่งน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตที่ได้ต่ำกว่าการปลูกจากเมล็ด รวมถึงลำต้นอ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคและแมลง เนื่องจากมีระบบรากที่ไม่แข็งแรง

การปลูกและดูแลรักษา หญ้าหวาน

3. การปลูก

นำต้นกล้าที่ขยายพันธุ์ได้ ซึ่งมีใบจริง 2 คู่ใบ ปลูกในแปลงที่มีการผสมดินปลูกกับปุ๋ยคอกหรืออินทรียวัตถุ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

4. การให้น้ำ

ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง

5. การเก็บเกี่ยว

ในการเก็บเกี่ยวหญ้าหวานครั้งแรกควรทำหลังการปลูกได้ประมาณ 40 - 45 วัน หลังจากนั้นให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวได้เรื่อย ๆ ทุกระยะ 40 - 45 วันหรือเก็บเกี่ยวก่อนพืชเริ่มออกดอก และเก็บเกี่ยวได้ประมาณปีละ 6 – 8 ครั้ง ผลผลิตจะสูงในช่วงเดือนพฤษภาคม -กรกฎาคม หลังจากนั้นจะเริ่มแก่และออกดอก

ในระหว่างนี้หญ้าหวานจะหยุดการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตน้อยในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม การเก็บเกี่ยวหญ้าหวานให้เกษตรกรฉีดน้ำล้างฝุ่นออกก่อน จึงค่อยตัดกิ่งและเด็ดใบออก ข้อควรระวัง ไม่ควรตัดกิ่งหญ้าหวานก่อนนำไปล้างน้ำ เพราะความหวานจะละลายไปกับน้ำ ทำให้คุณภาพต่ำลงไปด้วย

6. ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม

หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็นในการเจริญเติบโตและพัฒนา อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 20 – 26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดี เมื่อปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 – 700เมตร

สรรพคุณของหญ้าหวาน

  • สมุนไพรหญ้าหวานช่วยเพิ่มกำลังวังชา
  • ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  • ช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก

สารสำคัญ

สารสำคัญที่ทำให้มีรสหวานในหญ้าหวานเป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดคือ steviol,steviolbioside, stevioside, rebaudioside A-F และdulcoside A โดยพบว่า stevioside เป็นสารที่พบในปริมาณมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 2.0 - 7.7 รองลงมาคือrebaudioside ประมาณร้อยละ 0.8 - 2.9 ส่วนสารตัวอื่นจะพบในปริมาณน้อย

หญ้าหวาน นอกจากจะสามารถนำมาปรุงรสหวานในอาหารและให้ความหวานในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มาจากธรรมชาติ ที่ไม่ให้พลังงานและไขมัน ไม่เกิดการสะสมในร่างกายผู้บริโภค รวมทั้งไม่เกิดการดูดซึมในระบบการย่อยยังทำให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการลดน้ำหนักและที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้อีกด้วย

สารให้ความหวานในหญ้าหวานสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียสทนต่อสภาวะความเป็นกรด-เบส ในช่วง 3 – 9 ให้ความหวานคงตัวตลอดกระบวนการผลิต ป้องกันการหมักทำให้ไม่เกิดการเน่าบูด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความแก่แล้วยังจัดเป็นโภชนาการบำบัดที่ดี เนื่องจากไม่มีความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังต่อสัตว์ทดลอง ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งทางระบาดวิทยายังไม่เคยมีรายงานการป่วยหรือปัญหาต่อสุขภาพ ที่เกิดจากการบริโภคหญ้าหวานเป็นประจำแต่อย่างใด

การแปรรูปสมุนไพรหญ้าหวาน

โดยทั่วไปนิยมบริโภคหญ้าหวาน 5 รูปแบบ ได้แก่ แบบใบอบแห้ง หรือใบแห้งบดสำหรับชงแบบสำเร็จรูป (ชาหญ้าหวาน), แบบใบสด, แบบใบแห้งบดสำหรับใช้แทนน้ำตาล(หญ้าหวานผง), แบบสารสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำ นิยมนำมาชงเป็นชาดื่ม และแบบการนำมาต้มและเคี่ยว

การทำหญ้าหวานแห้ง

การทำหญ้าหวานแห้ง

ตัดใบหญ้าหวานสดนำมาล้างทำความสะอาด ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง ภายในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเวลา 8 ชั่วโมง จะมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 2 – 5 %แต่วิธีนี้จะทำให้ได้ผลผลิตหญ้าหวานแห้งที่มีสีเขียวคล้ำส่วนการทำแห้งโดยนำมาอบในตู้อบไฟฟ้าหรือแก๊ส ที่อุณหภูมิประมาณ 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จะมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 5 – 10 %

ซึ่งหญ้าหวานที่อบด้วยตู้อบลมร้อนจะให้สีของผลผลิตหญ้าหวานแห้งมีสีเขียวธรรมชาติและไม่เกิดสีคล้ำเป็นวิธีการที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตแห้งได้ โดยหญ้าหวานสด 3 กิโลกรัม จะได้หญ้าหวานแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม

การสกัดผงให้ความหวานจากหญ้าหวาน การคัดเลือกใบหญ้าหวานแห้ง จะคัดเลือกจากสภาพความชื้นของหญ้าหวาน ถ้ามีความชื้นมากกว่า 10% จะไม่นำมาสกัด เพราะการสกัดหญ้าหวานที่ได้ผลดีจะต้องใช้หญ้าหวานที่มีความชื้นต่ำ

การสกัดสารให้ความหวานเป็นชนิดผง หากใช้หญ้าหวานแห้งน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม จะสกัดผงสารให้ความหวานประมาณ 100 กิโลกรัม หากใบหญ้าหวานมีความชื้นสูงจะได้ผงสารให้ความหวานน้อยลง

ขั้นตอนสกัดผงหญ้าหวาน

การสกัดสารให้ความหวานจากใบหญ้าหวาน สามารถสกัดได้ด้วยน้ำหรือใช้ตัวทำละลาย ได้แก่ เมทานอลหรือเอทานอล ซึ่งอาจใช้น้ำอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกันก็ได้ วิธีเหล่านี้มีความสะดวก ง่าย และไม่มีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ มีขั้นตอนดังนี้

1. นำใบหญ้าหวานที่แห้งความชื้นไม่เกิน 10% มาหั่นให้ละเอียด (ไม่ต้องบดเป็นผง) พร้อมกับผสมน้ำลงไปด้วย อัตราส่วน 1:10 คือ หญ้าหวานแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำประมาณ 10 กิโลกรัม จากนั้น นำไปต้มโดยใช้ไฟปานกลางที่อุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการต้มนาน 10 ชั่วโมง หลังจากนั้นหยุดต้มให้ปล่อยทิ้งไว้อีก 10 ชั่วโมง ซึ่งหลังทิ้งไว้น้ำต้มจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งนี้ การต้มใบหญ้าหวานแห้งในน้ำร้อน (Heating) จะทำให้สารให้ความหวานหรือสติวิโอไซด์ละลายออกมาเป็นสารละลาย

2. นำน้ำต้มใบหญ้าหวานไปกำจัดสีดำออกด้วยระบบแยกสารอินทรีย์ (Electolysis) จนได้น้ำต้มที่มีลักษณะใสจากนั้นเติมสารเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน (β-Cyclodextrin)เพื่อช่วยในตกตะกอนของกากใบหญ้าหวาน ทำให้ได้น้ำต้มหญ้าหวานที่ใสมากขึ้น

3. นำน้ำต้มเข้าสู่กระบวนการทำให้เข้มข้น (Concentrate) และทำบริสุทธิ์ (Pre-Purifsy) โดยนำน้ำต้มไปให้ความร้อน เพื่อระเหยน้ำหรือตัวทำละลายออก ที่อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียส ความดัน 70 มิลลิบาร์ (mbar) จนได้สารให้ความหวานที่อยู่ในรูปไซรัป (สารให้ความหวานที่เข้มข้นและหนืด) จากนั้น นำไปวิเคราะห์ค่าความหวานด้วยเครื่อง Brix Refractometer อ่านค่าเป็นองศาบริกซ์ (°Brix) ของรสหวานจากไซรัป ซึ่งควรมีค่าประมาณ 30 °Brix

4. นำไซรัปไปทำให้แห้งด้วยเครื่องอบทำผงแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) ซึ่งจะได้ผงสีขาวละเอียดออกมา โดยจะมีความบริสุทธิ์ของสารให้ความหวานประมาณ 93% และมีความชื้นเล็กน้อย 2 – 5 % จากนั้น นำผงสารให้ความหวานไปทดสอบคุณภาพ ก่อนบรรจุในถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม เพื่อเตรียมส่งลูกค้าต่อไป

ถึงแม้ว่าสาร stevioside จะไม่ตกค้างในร่างกายก็ตามการบริโภคใบหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นจำนวนมากอาจก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นควรบริโภคหญ้าหวานในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ สำหรับปริมาณสารปรุงรสหวานในหญ้าหวานที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน ได้แก่ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมของผู้บริโภค 

หญ้าหวานจัดเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสารปรุงรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีปัญหาของโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้สารให้ความหวานจากหญ้าหวานยังใช้ทดแทนน้ำตาลเทียมที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มักมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในต่างประเทศที่ต้องการสารสกัดที่ได้ จากหญ้าหวานทดแทนน้ำตาลในการผลิตเป็นจำนวนมาก

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การผลิตหญ้าหวาน” ได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2579 0583 และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เลขที่ 313 หมู่ 12 ต. หนองควาย อ. หางดง จ. เชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5311 4133 - 6

อ้างอิง: สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

ความแตกต่าง ราชพฤกษ์, กาฬพฤกษ์, กัลปพฤกษ์, ชัยพฤกษ์ มีกี่ชนิด ในประเทศไทย?

ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นกันภัยมหิดล ประวัติความเป็นมา ลักษณะ, วิธีปลูก การใช้ประโยชน์ การขยายพันธุ์?

✓ต้นไม้: โมกนเรศวร โมกของไทย ณ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตาก?

ต้นสัตฤาษี (ตีนฮุ้งดอย) งานวิจัย ประโยชน์ สรรพคุณ สมุนไพร?

ต้นอินทรชิต, เสลา(สะ-เหลา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร วิธีปลูก ราคา?

การแบ่งประเภท(ตัวย่อ) สูตรผสม สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช รูปแบบของกลุ่มสารผสม?