Lazada Birthday

» วันเกิดลาซาด้า! ลดแรงกว่า 90%*

24 - 27 มี.ค. นี้เท่านั้น (จำนวนจำกัด)

✓ต้นไม้: มะแขว่น (พริกหอม) วิธีใช้ประโยชน์ สรรพคุณ การปลูก..

มะแขว่น หรือ พริกหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum limonella Alston อยู่ในวงศ์ Rutaceae จัดเป็นไม้ยืนต้น ที่ชาวเหนือนิยมนำผลและเมล็ดแห้ง มาประกอบอาหาร รวมถึงใช้ทำเป็นยาสมุนไพร เนื่องจาก ผลแห้งมีกลิ่นหอมแรง และมีรสเผ็ดร้อน ทำให้ช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยมากขึ้น

มะแขว่น (พริกหอม)

มะแขว่น ยังนิยมนำผลแห้งมาสกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับใช้ทานวด ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง หรือ ใช้พ่นป้องกันยุงลายได้ด้วย ในบางท้องที่จะเรียกมะแขว่นว่า พริกหอม เนื่องจาก ผลแห้งที่ใช้มีรสเผ็ดร้อนเหมือนพริกมาก และใช้ประกอบอาหารแทนพริกได้เป็นอย่างดี ประกอบกับสามารถให้กลิ่นหอมแรงได้ด้วย จึงเรียกอีกชื่อว่า "พริกหอม"

มะแขว่น (พริกหอม) วิธีใช้ประโยชน์ สรรพคุณ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะแขว่น เป็นไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 5 - 10 เมตร มีหนามอยู่รอบลำต้นและกิ่ง ต้นอ่อนจะมีสีแดงแกมเขียว

ลักษณะของใบ เป็นใบประกอบ แต่ละใบจะมีใบย่อย 10 - 25 ใบ

ช่อดอกเป็นช่อแบบกลุ่มย่อย มีสีขาวอมเทา ยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่คนละต้น

ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.3 - 0.5 เซนติเมตร เปลือกของผลสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลแก่จัดจะแตกออก เมล็ดกลมเรียบ เมื่อแก่จัดจะมีสีดำเข้มเป็นมัน มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายผักชี มีรสเผ็ดเล็กน้อย

มะแขว่น (พริกหอม) วิธีใช้ประโยชน์ สรรพคุณ การปลูก

ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์

มะแขว่น พบทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยธรรมชาติพบขึ้นในป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขา

แหล่งผลิตมะแขว่น

เกษตรกรจะปลูกมะแขว่นสลับกับพืชสวนป่า คือ ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ มะแขว่นมีการปลูกมากในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน

แหล่งผลิตมะแขว่นที่มีคุณภาพ เช่น ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน และตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

มะแขว่น เจริญเติบโตในที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 - 1,000 เมตร ต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น ความชื้นในอากาศสูง เจริญเติบโตดีในสภาพกลางแจ้ง ไม่ต้องการน้ำมากนัก ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี จึงควรปลูกตามไหล่เขา หรือพื้นที่สูงชัน

การผลิตมะแขว่น

โดยทั่วไปการขยายพันธุ์มะแขว่นใช้วิธีเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่จัด และเป็นเมล็ดสดที่ออกจากเปลือกใหม่ ๆ ยังไม่แห้ง นำลงเพาะทันที โดยแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส 5 - 10 นาที แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็น 1 คืน เพื่อให้เปลือกนอกแตก และเป็นการทำลายไขที่เคลือบเมล็ดออกด้วย เพื่อจะช่วยให้เมล็ด สามารถงอกได้เร็วและได้ผลดีขึ้น หรืออาจนำเมล็ดมะแขว่นสดมาขูดเอาส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ดออกก่อน โดยใช้ทรายถู

จากนั้นนำไปเพาะในกระบะทราย รดน้ำเป็นระยะ แต่อย่าให้น้ำขังมากเกินไป เป็นเวลาประมาณ 1 - 2 เดือน เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริงและแข็งแรงดีแล้วย้ายลงปลูกในถุงเพาะชำ เพื่อเตรียมย้ายลงแปลงปลูกต่อไป กล้าที่เหมาะสมย้ายปลูกควรมีอายุ 3 เดือน ความสูงประมาณ 3 - 5 นิ้ว กล้าขนาดเล็กจะมีอัตราการรอดสูง ดังนั้น จึงควรเพาะกล้าตั้งแต่เดือนมีนาคมเพื่อให้ทันปลูกในต้นฤดูฝน

การปลูกและดูแลรักษา

การย้ายปลูกควรทำในฤดูฝน หลุมปลูก ต้องไม่ขังน้ำ กล้าจะเน่าตายได้ ใช้ระยะปลูก 4X4 เมตร จำนวน 100 ต้นต่อไร่ ในระยะแรก ควรให้มะแขว่นเติบโตตามธรรมชาติ การพรวนดินหรือการกำจัดวัชพืชต้องระมัดระวัง อาจทำให้ระบบรากกระทบกระเทือน เพราะรากมะแขว่นอยู่ระดับผิวดิน จึงอาจทำให้ต้นมะแขว่นตายหรือชะงักการเจริญเติบโตได้

เมื่อต้นมะแขว่นมีอายุ 1 - 2 ปี ควรเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งก้าน เป็นการเพิ่มผลผลิตและยังทำให้ต้นเตี้ย ซึ่งจะสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ในระยะ 1 - 3 ปีแรก ต้นมะแขว่นจะไม่สามารถจำแนกต้นตัวผู้หรือต้นตัวเมียได้ 

จนกระทั่งเริ่มออกดอกในปีที่ 3 หรือ 4 ดอกบานเต็มที่ต้นตัวเมียเริ่มติดผล แต่ต้นตัวผู้ดอกจะร่วงและไม่ติดผล นิยมตัดต้นตัวผู้บางส่วนทิ้ง และใช้วิธีเสียบยอดแทน โดยตัดส่วนยอดออกเหลือลำต้นสูงประมาณ 1 - 1.5 เมตร แล้วใช้วิธีเสียบยอดของต้นตัวเมียแทนต้นเดิม

ปัญหาสำคัญที่พบ ได้แก่ ปลวกกัดกินรากและโคนต้น ทำให้ต้นกลวงและถูกมดดำเข้าทำลายซ้ำ ทำให้ต้นตาย หรือถูกสัตว์จำพวกตัวตุ่นกัดกินราก ทำให้ยืนต้นตายบางส่วน และที่สำคัญคือ ถูกไฟป่าเผาทำลาย ในฤดูแล้งจึงควรถางหญ้าเพื่อป้องกันไฟป่า

มะแขว่น (พริกหอม) วิธีใช้ประโยชน์ สรรพคุณ การปลูก

การเก็บเกี่ยวและการทำแห้ง

มะแขว่น จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3 - 5 ปี โดยที่มะแขว่นมีพันธุ์หนักและพันธุ์เบา พันธุ์เบาจะเริ่มออกดอก ในเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ส่วนพันธุ์หนักจะเริ่มออกดอกในเดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวผลในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม

การเก็บเกี่ยว ผลแก่จัดซึ่งเมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาลดำและมีกลิ่นหอม หากเก็บผลผลิตมะแขว่นอ่อนเมื่อทำแห้งแล้วสีเปลือกจะไม่ดำ ผลเหี่ยว เป็นเชื้อราได้ง่าย กลิ่นเสื่อมเร็วและตลาดไม่ต้องการ

การทำแห้ง

โดยทั่วไปเกษตรกรจะนำมามัดเป็นกำ และแขวนผึ่งแดดบนราวยกพื้น ตากแดดประมาณ 3 - 4 วัน จนแห้งสนิท และเก็บเข้าในเวลากลางคืนทุกวัน เพื่อป้องกันความชื้นจากน้ำค้างที่ทำให้เกิดเชื้อรา การอบด้วยเครื่องอบแห้ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้คุณภาพดีสม่ำเสมอ

กระบวนการอบแห้งด้วยเครื่องอบลมร้อน คือ ตัดมะแขว่นจากช่อใหญ่ให้มีขนาดช่อเล็กลง สามารถวางเกลี่ยบนตะแกรงอบได้อย่างสม่ำเสมอ ใช้อุณหภูมิการอบที่ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วลดอุณหภูมิลงทีละ 5 องศา ทุกชั่วโมง จนแห้งสนิท ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง อัตราส่วนผลผลิตสดต่อผลผลิตแห้ง คือ ผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งเหลือ 1 กิโลกรัม

การเก็บรักษาผลผลิตแห้ง

นำมะแขว่นแห้งมาเขย่า แยกเมล็ดออก และนำไปบรรจุถุงพลาสติกเพื่อการขนส่ง การเก็บรักษาเพื่อให้มีกลิ่นหอม คุณภาพดี ควรเก็บในถุงฟอยล์ที่ปิดผนึกจะสามารถเก็บรักษาได้นาน

ผลผลิตมะแขว่น

มะแขว่น อายุ 3 - 5 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 1 - 5 กิโลกรัมแห้งต่อต้น อายุ 6 - 10 ปี จะให้ผลผลิต 10 - 15 กิโลกรัมแห้งต่อต้น อายุ 11 - 15 ปี จะให้ผลผลิต 30 - 35 กิโลกรัมแห้งต่อต้น และอายุ 21 - 25 ปี จะให้ผลผลิตถึง 50 กิโลกรัมแห้งต่อต้น

การตลาดและผลิตภัณฑ์

เนื่องจากเป็นพืชเครื่องเทศที่ใช้ในอาหารพื้นเมืองตลาดมะแขว่นส่วนใหญ่จึงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ราคามะแขว่นที่เกษตรกรขายได้ (เดือนสิงหาคม 2553) อยู่ในช่วง 50 - 70 บาทต่อกิโลกรัมแห้ง นอกจากเกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตมะแขว่นแล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มะแขว่นดองน้ำเกลือ น้ำพริกลาบ เป็นต้น

ส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารคือ ใบอ่อนและผลมะแขว่น ใบและยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก ลาบ ยำ

ผลเป็นเครื่องเทศที่นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงน้ำพริกลาบ มีรสเผ็ด นำมาดองน้ำปลา รับประทานกับลาบ ใส่ในยำชิ้นไก่ หลู้ แกงขนุน แกงผักกาด ช่วยทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้น

มะแขว่นมีภูมิปัญญา ชาวบ้านที่ใช้รับประทานแกล้มสำหรับอาหารจานที่มีเนื้อสัตว์มาก เพราะช่วยย่อยเนื้อได้ ทางภาคใต้นิยมผสมมะแขว่นในเครื่องแกง เช่น แกงฟักทอง แกงปลาไหล เป็นต้น ช่วยให้แกงมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอม

สารสำคัญออกฤทธิ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและสรรพคุณ

น้ำมันหอมระเหยสกัดจากเมล็ดมะแขว่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากพิษของสาร Formalin และ Carragenin และเมื่อทดลองกับคนสามารถระงับการอักเสบบนผิวหนังได้ เมื่อทาด้วยน้ำมัน น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากผลมีฤทธิ์ในการขับพยาธิลำไส้ และยังไม่มีรายงานวิจัยความเป็นพิษของมะแขว่น 

สรรพคุณทางยาแผนโบราณ

ใช้รากและเนื้อไม้เป็นยาขับลมในลำไส้ ลมขึ้นเบื้องสูง ทำให้หน้ามืดตาลาย วิงเวียน ลดความดัน เป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี แต่ไม่ใช้กับหญิงมีครรภ์ ใบ แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน เมล็ดสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลม การใช้ในตำรายาจีน แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย

มะแขว่นเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นหนึ่งที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรภาคเหนือ ต้นมะแขว่นเป็นไม้ยืนต้น ขึ้นในที่สูง โล่งแจ้งและอากาศเย็น มะแขว่นนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารเหนือแทบทุกชนิด การส่งเสริมปลูกมะแขว่นควรเป็นพืชหลังบ้าน หรือพืชร่วมกับพืชอื่น ๆ ในระบบสวนป่า.

อ้างอิง: ภูมิปัญญาชาวบ้าน กลุ่มส่งเสริมผลิตพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

รายละเอียดเพิ่มเติม