Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นจิกน้ำ, กระโดนน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ กินได้ สรรพคุณสมุนไพร ออกดอกเดือนไหน?

จิกน้ำ, กระโดนน้ำ (Itchy tree, Indian oak)

ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)

จิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. จัดเป็นพืชในสกุล Barringtonia อยู่ในวงศ์จิก (Lecythidaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มสมุนไพร

ชื่อไทย

ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า จิกน้ำ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)

ต้นจิกน้ำ มีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า Itchy tree, Indian oak

ต้นไม้: จิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ลักษณะ ประโยชน์ กินได้ สรรพคุณ Barringtonia-acutangula

และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า จิก จิกนา จิกน้ำ (ภาคกลาง, ภาคใต้, นครราชสีมา), กระโดนสร้อย (พิษณุโลก), ตอง ปุยสาย (ภาคเหนือ), ลำไพ่ (อุตรดิตถ์), กระโดน กระโดนน้ำ กระโดนทาม กระโดนทุ่ง (อีสาน), ดัมเรียง เดิมเรียง (เขมรอ.ท่าตูม สุรินทร์), กระโด๊ะ (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์)

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของจิกน้ำ (กระโดนน้ำ)

  • ลักษณะวิสัย: ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง 5-15 ม.
  • ลำต้น: เปลือกเรียบ-แตกเป็นร่องตื้นตามยาว สีน้ำตาลอ่อน เปลือกชั้นในมีเส้นใยเหนียวตามยอด ใบ และช่อดอกเกลี้ยง
  • ใบ: ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปหอกกลับ-ไข่กลับ ยาว 9-20 ซม. ปลายใบมน-แหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ โคนใบสอบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-10 เส้น ก้านใบบวมหนา สีแดงอมม่วง ยาว 0.5-1 ซม. ใบแก่ก่อนร่วงสีส้ม-แดง
  • ดอก: ช่อดอกแบบกระจะ ห้อยลง ยาว 20-60 ซม. ออกที่ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว 4 กลีบ ยาว 2-4 มม. กลีบดอกสีแดง 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1 ซม. บานม้วนกลับ มีกลิ่นหอมเอียน เกสรเพศผู้สีแดง มีจำนวนมาก ยาว 1.5-2.5 ซม.
  • ผล: ผลรูปรีแกมขอบขนาน ยาว 3-5 ซม. มีสันคมตามแนวยาว 4 สัน ผิวเกลี้ยง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน มีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด

จิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ออกดอกเดือนไหน

ต้นจิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน - กรกฎาคม ผลแก่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม

ต้นจิกน้ำ กระโดนน้ำ มีลักษณะคล้าย กระโดน/กระโดนบก (Careya arborea) ที่มักจะขึ้นตามพื้นที่ดอนหรือที่แห้งแล้งกว่า ดอกกระโดนบกจะมีสีขาวอมเขียว กลีบดอกยาว 4-6 ซม. เป็นช่อดอกสั้นและตั้งขึ้นอยู่ตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-7 ซม. ผลรูปทรงกลม กว้าง 5 ซม. ไม่มีสัน/เหลี่ยม

ดอกจิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ลักษณะ ประโยชน์ กินได้ สรรพคุณ Barringtonia acutangula

ต้นจิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ริมน้ำ ชายป่า หรือตามทุ่งนาในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง พบมากในป่าบุ่งป่าทาม เป็นไม้เบิกนำที่สำคัญของป่าบุ่งป่าทามเมื่อป่าถูกทำลาย ขึ้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

การกระจายพันธุ์

การกระจายพันธุ์ของจิกน้ำ (กระโดนน้ำ) ในไทยพบได้ง่ายทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย

ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ของจิกน้ำ (กระโดนน้ำ) สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อน รสมันอมฝาดเล็กน้อย กินเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก/ป่น แกล้มกับลาบ ก้อย ปิ้งปลา

สรรพคุณ ทางสมุนไพร

  • เปลือก: ทุบแช่น้ำ แล้วแช่เท้าลงไป รักษาโรคหอกินเท้า (โรคเท้าเปื่อย น้ำกัดเท้า)
  • เปลือก: เคี้ยวแล้วกลืนกินแก้ท้องเสีย
  • เปลือก: รสฝาด ต้มดื่ม แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด
  • ราก: รักษาโรคมะเร็ง โดยเข้ายากับสมุนไพรอื่น ๆ
  • รากหรือเปลือก: ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบายอ่อน ๆ หรือใช้แทนควินินได้, เปลือก : ฝนทาแก้แมลงกัดต่อย พอกแผล

การใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่นใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม้ทำฟืนหรือเผาถ่าน, ก่อสร้างหรือเครื่องมือ เนื้อไม้ แปรรูปทำไม้กระดานหรือฝา ใช้ก่อสร้าง หรือทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ผุง่ายไม่ทนทาน, แก่น ใช้ทำด้ามปืนแก๊บ, เนื้อไม้ นำมาผ่าเป็นแผ่น ทำเป็นตีนกระติ๊บข้าว

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เปลือก ทุบแล้วแช่น้ำให้สีม่วงอมดำ ใช้ย้อมแห ทำให้แหแข็งแรง ทนทาน และยังมีเปลือกหนามีเส้นใยเหนียว ลอกออกมาเป็นแผ่นขนาดใหญ่ แล้วทุบให้นิ่มทำเป็นแผ่นรองนั่งติดบนหลังสัตว์พาหนะ หรือรองใต้แหย่งหลังช้าง (เหมือนกระโดนบก)  ใช้เปลือกทุบแล้วเอาไปกวนในน้ำ ใช้เบื่อปลาได้ และสามารถทั้งต้นใช้เป็นอาหารช้างได้

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.

รายละเอียดเพิ่มเติม