Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นอะราง, นนทรีป่า ความแตกต่าง นนทรีบ้าน มีกี่พันธุ์ ใช้ประโยชน์ สรรพคุณ สมุนไพร?

อะราง (นนทรีป่า)

ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)

อะราง (นนทรีป่า) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Peltophorum dasyrhachis (Miq.) Kurz จัดเป็นพืชในสกุล Peltophorum อยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ดอกหอม

ชื่อพ้อง (Synonyms)

  • Baryxylum dasyrhachis (Miq.) Pierre
  • Brasilettia dasyrhachis (Miq.) Kuntze
  • Caesalpinia dasyrhachis Miq.

อะราง (นนทรีป่า) แบ่งแยกได้อีก 2 พันธุ์ (variety เขียนย่อว่า var.) คือ Peltophorum dasyrhachis var. dasyrhachis ซึ่งพบในประเทศไทย และ Peltophorum dasyrhachis var. tonkinensis (Pierre) K.Larsen & S.S.Larsen ซึ่งพบใน กัมพูชา เวียดนาม และทางจีนตอนใต้

อะราง (นนทรีป่า)

ต้นอะราง (นนทรีป่า) ในประเทศไทยพบขึ้นตามชายป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ หรือป่าเสื่อมโทรม หรือตามพื้นที่ดินลูกรังหรือดินปนทราย ในป่าบุ่งป่าทามมักจะพบตามแนวเชื่อมต่อกับป่าบก หรือบนเนินดิน เป็นไม้เบิกนำ โตเร็ว เหมาะสมต่อการนำไปปลูกฟื้นฟูป่า ขึ้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 ม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า อะราง (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)

ต้นอะราง ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า นนทรี (ภาคกลาง, ภาคใต้), นนทรีป่า (ฉะเชิงเทรา), อินทรี (จันทบุรี), คางรุ้ง คางฮุ่ง (พิษณุโลก), จ๊าขาม ช้าขม (เลย), อะราง (นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, อุดรธานี, อ.เจริญศิลป์ สกลนคร), ร้าง (นครราชสีมา), สะฝาง (อ.ศรีสงคราม นครพนม), ตาเซก (เขมร-บุรีรัมย์), ราง (ส่วย-สุรินทร์) และมีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า -

การกระจายพันธุ์

การกระจายพันธุ์ของอะราง (นนทรีป่า) ในไทยพบกระจายพันธุ์ทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในลาว เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว

อะราง (นนทรีป่า) ออกดอกเดือนไหน

ดอกอะราง (ดอกนนทรีป่า)

ต้นอะราง (นนทรีป่า) ผลัดใบช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ออกดอกพร้อมแตก ใบใหม่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ผลแก่พฤษภาคม - กรกฎาคม

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของอะราง (นนทรีป่า)

  • ลักษณะวิสัย: ไม้ต้น สูง 10-30 ม.
  • ลำต้น: เปลือกเรียบสีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศจำนวนมาก ตามกิ่งอ่อน ช่อดอก แกนใบ และช่อดอกมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ยอดมีหูใบหุ้ม รูปเขากวาง ยาว 1-2.5 ซม.
  • ใบ: ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ยาว 15-40 ซม. ใบประกอบเรียงตรงข้าม มี 5-9 คู่ ใบย่อยเรียงตรงข้าม มี 6-16 คู่ รูปขอบขนาน ยาว 1-2 ซม. ปลายใบกลม-เว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว ผิวใบด้านล่างมีขนสั้น
  • ดอก: ช่อดอกแบบกระจะ ยาว 15-30 ซม. ห้อยลง ออกตามซอกใบใกล้ยอด ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง รูปไข่กลับ ยาว 1.5-2.5 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 2-4 ซม.
  • ผล: ผลแบบฝักแบน มีปีกบางรอบ รูปรี ยาว 4-6 ซม. กว้าง 2-2.5 ซม. ปลายทั้งสองด้านเรียวแหลม ฝักบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ผลแก่แห้งไม่แตก มี 4-8 เมล็ด

อะราง (นนทรีป่า) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับ นนทรีบ้าน (Peltophorum pterocarpum) แตกต่างกันที่นนทรีบ้าน จะมีช่อดอกและช่อผลตั้งขึ้น และไม่พบหูใบรูปเขากวาง

ประโยชน์

ผลแบบฝักแบน ผลอะราง ฝักนนทรีป่า

การใช้ประโยชน์ของอะราง (นนทรีป่า) สามารถนำมาเป็นอาหาร เปลือก มีรสฝาด สับแล้วขูดใส่กับตำแตง ช่วยดับพิษจากยางของแตง ไม่กัดลิ้น-ปาก (ปกติหลังจากกินตำแตงแล้วลิ้นจะเสียสมดุลในการรับรส เช่น ดื่มน้ำแล้วมีรสขมเฝื่อน (คุณสมบัติเหมือนเปลือกของ เปือยน้ำ (Lagerstroemia floribunda)

รายละเอียดเพิ่มเติม

สรรพคุณทางด้านสมุนไพร

  • เปลือก : รสฝาด ปิดธาตุ สมานธาตุ แก้ท้องเสีย, ใช้เปลือก (หรือใช้เปลือกต้นโกงกาง) ทุบผสมเกลือหมักดองแมงกระพรุนให้แข็งตัวและกรอบ ช่วยถนอมอาหาร แมงกระพรุนดองใช้ลวกจิ้มน้ำจิ้ม ผัด หรือใส่ก๋วยเตี๋ยว
  • เปลือก : แก้ท้องร่วง แก้ผายลม ขับระดู
  • เปลือกหรือแก่น : ช่วยปรับธาตุ แก้ท้องร่วง ท้องเสีย
  • ตำรับ ยาชักมดลูกให้เข้าอู่ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นหลังคลอดบุตร กระชับมดลูก รักษาอาการมดลูกอักเสบ

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ไม้ใช้ทำฟืนหรือเผาถ่าน เนื้อไม้แข็งแรงปานกลาง แปรรูปเป็นไม้ฝา กระดาน เสา โครงเคร่า ก่อสร้างบ้าน หรือทำเฟอร์นิเจอร์ เนื้อไม้แข็งแรงปานกลาง มอดเจาะกินได้ แต่แข็งแรงมากกว่า ต้นคางฮุง (Albizia lebbeckoides) ใช้ในงานก่อสร้าง

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.

รายละเอียดเพิ่มเติม