✓ต้นไม้: รสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) ลักษณะ สรรพคุณ ไม้เลื้อยดอกหอม?
รสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
รสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Tetracera loureiri (Finet & Gagnep.) Pierre ex Craib จัดเป็นพืชในสกุล Tetracera อยู่ในวงศ์ส้าน (Dilleniaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ดอกหอม
ชื่อไทย
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า รสสุคนธ์ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นรสสุคนธ์ มีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า - และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า รสสุคนธ์ รสสุคนธ์ขาว สุคนธรส (กรุงเทพฯ), เถากะปดใบเลื่อม (ประจวบคีรีขันธ์), อรคนธ์ (ตรัง), ปดคาย ปดเลื่อน (สุราษฎร์ธานี), ย่านปด (นครศรีธรรมราช), ปดน้ำมัน (ปัตตานี), ปะละ สะปัลละ (มลายู-นราธิวาส), ตีนแรด ลิ้นแรด (อีสาน), เครือส้านทาม เครือส้านแว้ (ภูไท-อ.พรรณานิคม สกลนคร), ตะลมเป้ (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์), ต้าลม่า (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
นิเวศวิทยา
ต้นรสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ที่รกร้างหรือชายป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ และป่าบุ่งป่าทาม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของรสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) ในไทยพบได้ค่อนข้างง่าย ขึ้นอยู่ทั่วประเทศไทย ยกเว้นภาคเหนือ ต่างประเทศพบในลาว กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ และคาบสมุทรมาเลเซียตอนบน
รสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) ออกดอกเดือนไหน
ต้นรสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) ออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของรสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด)
- ลักษณะวิสัย: ไม้เลื้อย ยาวได้ถึง 20 ม.
- ลำต้น: ตามกิ่งอ่อน ช่อดอก ใบ และก้านใบมีขนสั้นสีขาวสากคายมือ
- ใบ: ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 6-10 ซม. ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยห่างๆ มีติ่งหนามที่เกิดจากปลายเส้นแขนงใบยื่นพ้นออกจากขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ 8-16 เส้น ผิวใบด้านล่างมีขนสากมือหรือเกลี้ยง ก้านใบ ยาว 7-10 มม. โคนก้านใบแผ่โอบกิ่ง
- ดอก: ช่อดอกแบบแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 10-20 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมขาว รูปไข่ ยาว 5-7 มม. กลีบดอก 3 กลีบ สีขาว-ชมพู รูปไข่ ยาว 5 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกบานกลับ เกสรเพศผู้จำนวนมาก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
- ผล: ผลติดเป็นกลุ่มๆ ละ 3 ผลย่อย รูปไข่กลับ ยาว 7-8 มม. ปลายมีติ่งแหลม ผิวสีเขียว-แดงเรื่อ ผิวเกลี้ยงมันเงา มีกลีบเลี้ยงติดทน เมื่อแก่จะแห้งแตก มีเมล็ดจำนวนมาก ทรงกลม กว้าง 2-3 มม.
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของรสสุคนธ์ (ฮิ้นแฮด) สามารถนำมาเป็นสมุนไพร.
- ลำต้น: ทุบแช่น้ำ ดื่มและอาบน้ำรักษาโรคซาง
- เถา: ตัดเป็นท่อน แล้วเป่าลมใส่อีกด้านให้น้ำในเถาออก นำมาหยอดตารักษาโรคตาแดง ตาแฉะ
- เถา: รสฝาด ต้มน้ำดื่มเป็นยาล้างท้อง หรือยาสมานแผลในระบบทางเดินอาหาร
- ดอก : บำรุงหัวใจ แก้วิงเวียน ใช้เข้าตำรับยาหอม
- เถา : แก้ตกขาว
- เถาหรือราก : รักษาอาการปวดไขข้อ ปวดหัวเข่า
- ตำรับ ยาแก้ปวดเมื่อย-กระดูกทับเส้น แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไขข้อ ปวดกระดูก แก้กระดูกทับเส้น บำรุงธาตุ
- ตำรับ ยาแก้สำแดงเมถุน แก้อาการผิดสำแดงเพราะเสพเมถุน (เกิดได้ทั้งในเพศชายหรือหญิงที่ทำงานหนักมากแล้วมาร่วมหลับนอน อาการจะหมดแรง นอนหงายไม่ได้ คั่นเนื้อคั่นตัวถึงมีอาการไข้)
- ตำรับ ยาขับนิ่วในไต-ทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในไต และทางเดินปัสสาวะ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น เถา เนื้อเหนียวและทนทานมากใช้แทนเชือก ใช้คล้องช้าง ล่ามวัว-ควาย มัดสิ่งของ นำมาแขวนกระโซ้วิดน้ำ (โพรงวิดน้ำ) หรือผูกลอบ/ไซ ทำกงลอบ กงไซ อยู่ทนทาน