เพลี้ยไก่แจ้ส้ม แมลงศัตรูพืช ส้ม,มะนาว,มะกรูด วิธีป้องกันกำจัด?

เพลี้ยไก่แจ้ส้ม คืออะไร

เพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Asian citrus psyllid) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Diaphorina citri Kuwayama จัดอยู่ในวงศ์ Psyllidae อันดับ Hemiptera เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ความยาวจากส่วนหัวถึงปลายปีก 3-4 มิลลิเมตร

ปีกคู่หน้ามีสีเทาปนน้ำตาลขอบปีกมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนของปีกมีลักษณะคล้ายหางไก่แจ้ ขณะที่เกาะอยู่กับที่ลำตัวจะทำมุม 45 องศากับแนวที่เกาะ หากได้รับการกระทบกระเทือนจะกระโดดหนี

หลังจากผสมพันธุ์เพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มหรือฟองเดี่ยวๆ ที่บริเวณตาหรือใบของยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่หรือตามซอกระหว่างก้านใบอ่อน ตัวอ่อนมีสีเหลือง ลำตัวค่อนข้างกลมแบน มีตาสีแดง 1 คู่ เห็นได้ชัดเจน ตัวอ่อนมี 5 วัย ระยะเวลาประมาณ 11-15 วัน

เพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Asian citrus psyllid) ศัตรูพืช ส้ม มะนาว มะกรูด
photo by David Hall.

ตัวอ่อนเมื่อฟักจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอดอ่อน ซึ่งขณะดูดกินจะสร้างขี้ผึ้งสีขาวหรือบางครั้งมีลักษณะเป็นเส้นด้ายปกคลุมลำตัว ใบที่ถูกทำลายจะหงิกงอ และเหี่ยวแห้งได้ ถ้ามีการเข้าทำลายรุนแรงทำให้ใบร่วงติดผลน้อยหรือไม่ติดผลเลย

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากนี้เพลี้ยไก่แจ้ส้มยังเป็นพาหะถ่ายทอดโรคใบเหลืองต้นโทรม หรือกรีนนิ่ง (greening disease) วงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัย 20 – 47 วัน เพลี้ยไก่แจ้ส้มเป็นศัตรูสำคัญของพืชตระกูลส้มทุกชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว ส้มเกลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ต้นแก้ว Murraya paniculata (L.) Jack เป็นพืชอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง

แมลงศัตรูชนิดนี้พบระบาดทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และอเมริกาใต้ สำหรับประเทศไทยพบในแหล่งปลูกส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว มะกรูด โดยพบปริมาณมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม และพฤษภาคม-กรกฏาคม.

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

1. หมั่นสำรวจโดยการสุ่ม 10-20 ต้นต่อสวน ต้นละ 5 ยอด และสำรวจตัวเต็มวัยโดยการใช้กับดักกาวเหนียวติด 5 กับดักต่อไร่ เมื่อพบต้องดำเนินการควบคุมทันที สำหรับยอดที่พบไข่ให้ตัดออกและนำไปเผาทำลายตัวเต็มวัยต้องควบคุมโดยการใช้สารเคมี

2. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติดังนี้

  • แตนเบียนทามาริคเซีย
  • แตนเบียนซิลเลฟายคัส
  • แมลงช้างปีกใส
  • แมลงช้างสีน้ำตาล
  • ด้วงก้นกระดก
  • ด้วงเต่าลายหยัก ด้วงเต่าลายจุด ด้วงเต่าลายขวาง ด้วงเต่าสีส้ม
  • แมลงปอบ้าน
  • มวนตาโต

3. ใช้สารชีวภัณฑ์อัตราตามคำแนะนำในฉลาก พ่นให้โดนตัวแมลง ดังนี้

  • บิวเวอเรีย บาเซียน่า
  • เมตาไรเซี่ยม เอนนิโซเพล
  • พาซิโลมัยซิส ลินลาซินัส

ไซมิดาโกลด์ อิมิดาคลอพริด Imidacloprid 10% SL

4. ใช้สารเคมีอัตราตามคำแนะนำในฉลากดังนี้

  • อิมิดาคลอพริด 10% เอสแอล (Imidacloprid 10% SL) อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  • โคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  • แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  • แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน/ไทอะมีทอกแซม 14.1%/10.6% แซดซีอัตรา 4 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร