เก๊กฮวย สมุนไพร ดอกแห้ง สรรพคุณ ประโยชน์ ลักษณะ วิธีปลูก?
เก๊กฮวย คืออะไร
เก๊กฮวยเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ส่วนจีนกลางเรียกว่า จวี๋ ฮวา เป็นพืชสมุนไพรมีฤทธิ์เย็นที่ได้รับความนิยม นำมาใช้เป็นเครื่องดื่ม มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน และได้มีการแพร่ไปในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว และไทย
เก๊กฮวย เป็นพืชกลุ่มเดียวกับเบญจมาศ (chrysanthemum) อยู่ในวงศ์ Compositae ต้นเก๊กฮวย สามารถแยกย่อยได้หลายสายพันธุ์ สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาใช้ทำยาและเครื่องดื่มมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ เบญจมาศหนู (Chrysanthemum morifolium Ramat.) ซึ่งมีลักษณะดอกเป็นสีขาว และ เบญจมาศสวน (Chrysanthemum indicum Linn.) ซึ่งมีดอกสีเหลือง ทั้งสองสายพันธุ์มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน
สารประกอบ
สารสำคัญที่พบในดอกเก๊กฮวย ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) (Cao et al., 2012) โพลีฟีนอล และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น
และในการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดน้ำจากดอกเก๊กฮวยทั้งสองสายพันธุ์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ขจัดสารพิษ ดูดซับสารก่อมะเร็ง ต้านจุลชีพ ช่วยรักษาและป้องกัน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ช่วยขยายหลอดเลือด ลดการเกิดภาวะ หัวใจล้มเหลว และโรคความดันโลหิตสูง แก้ร้อนใน บำรุงสายตา บำรุงตับ และแก้ไข้ (กองบรรณาธิการหนังสือสุขภาพ, 2556)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เก๊กฮวย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เจริญเติบโตเป็นพุ่มแผ่ไปตาม พื้นดิน ใบเดี่ยวรูปรี ขอบใบเว้าเป็นหยักลึก (ไชยยง, 2557) มีช่อดอกแบบ head ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ (florets) เป็นจำนวนมาก ดอกที่อยู่รอบนอกมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่า มองเห็นกลีบดอกได้ชัดเจนกว่าเรียกว่า ray florets (ดอกชั้นนอก)
ดอกเก๊กฮวย เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือมีแต่เกสรตัวเมีย ไม่มีเกสรตัวผู้ ส่วนดอกที่อยู่วงในเข้าไปและมีการเจริญเติบโตช้า มองเห็นกลีบดอกไม่ชัดเจน เพราะว่ามีกลีบดอกสั้น เรียกว่า disc florests (ดอกชั้นใน) รวมกันอยู่ เป็นกระจุกตรงกลางดอก disc florets นี้เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย (เสริมศิริ, 2532)
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
สภาพที่เหมาะสมในการปลูกเก๊กฮวย คือ ดินเป็นดินร่วนมี pH 6.5 – 7.5 อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 15 องศาเซลเซียส สูงสุดเฉลี่ย 32.6 – 37.7 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ย 0–1.3 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,200 มิลลิเมตร (เสริมศิริ, 2532)
การขยายพันธุ์
เก๊กฮวย เป็นพืชกลุ่มเดียวกับเบญจมาศวิธีการขยายพันธุ์จึงแบบเดียวกันคือ การแยกหน่อ การปักชำ และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่นิยมกันมากคือ การแยกหน่อ และการปักชำ ซึ่งมักจะใช้ส่วนยอดปักชำทำให้ได้ต้นพันธุ์เหมือนเดิม นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ได้อีกด้วย (เสริมศิริ, 2532)
การเตรียมแปลงปลูก และการปลูก
เริ่มเตรียมแปลงในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน ขุดพลิกดินตากแดด 10-14 วัน ยกแปลงสูง 15 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ระยะระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่
อาจใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ในอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมด้วยในกรณีที่ปุ๋ยคอกมีไม่เพียงพอ การปลูกควรปลูกในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม รดน้ำก่อนปลูก 1 วัน หรือ หากมีฝนควรปลูกหลังฝนตก 1 วัน โดยใช้ระยะปลูก 30X30 เซติเมตร
การดูแลรักษา
หลังย้ายปลูกสัปดาห์แรกให้น้ำวันละ 2 ครั้งในช่วงเช้า และเย็น หลังจากสัปดาห์แรกจึงให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า เริ่มให้ปุ๋ยหลังย้ายปลูก 1 เดือน โดยให้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่
แล้วทำการเด็ดยอดเพื่อให้เกิดการแตกยอด เป็นพุ่มใหญ่ เพื่อให้ดอกดกขึ้นควรเด็ดยอดทุก 20 วัน รวม 4 ครั้ง เมื่อต้นเก๊กฮวย อายุ 60 วันจึงให้ปุ๋ยสูตร15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
โรคและแมลงศัตรูพืช
1. โรคใบแห้ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ระบาดมากในสภาพอากาศร้อน และความชื้นสูง การป้องกันกำจัด ควรใช้กิ่งปักชำที่ปราศจากโรค และถ้ามีโรคระบาด ในแปลงควรเผาทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีประเภทสเตรปโตมัยซิน
2. โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา ระบาดมากในฤดูฝน การป้องกันกำจัด ควรใช้กิ่งปักชำที่ปราศจากโรคมาปลูก และถ้ามีโรคระบาดในแปลงควรเผาทำลาย หรือ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีประเภทสเตรปโตมัยซิน
3. โรคดอกเน่าเกิดจากเชื้อรา ระบาดมากในฤดูฝน การป้องกันกำจัด ควรฉีดสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไซเนบ, แคบแทน เอ็ม 45 โดยใช้ร่วมกับสารจับใบ
4. โรคคราสนิม เกิดจากเชื้อรา การป้องกันกำจัด ดูแลแปลงปลูก ให้สะอาด และฉีดพ่นด้วยเพลนท์แวกซ์ทุกๆ 7 วันในช่วงที่มีการระบาด
5. เพลี้ยไฟขอบปล้องหยัก เพลี้ยไฟสามารถทำลายได้ทุกส่วน จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากกลีบดอก ทำให้ดอกไม่บานหรือดอกแหว่ง และทำให้กลีบดอกเหี่ยวแห้ง การป้องกันกําจัด พ่นด้วยอีมาเม็คติน เบนโซเอต ,คารโบซัลแฟน อิมิดาโคลพริด หรือฟโปรนิล
6. หนอนกระทู้ผัก สามารถทำลายได้ทุกส่วน โดยเฉพาะดอกอ่อน ช่วงเวลาระบาดเกือบทั้งปี ดอกแหว่งและเหี่ยว การป้องกันกําจัด ฉีดพ่นด้วย สปินโนแซด ,อีมาเมคติน เบนโซเอท หรือ ลูเฟนนูรอน
7. เพลี้ยอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงที่โคนกลีบดอก ทำให้ดอกหงิกงอ ไม่บานหรือยอดคดงอ ดอกมีขนาดเล็กลง สามารถระบาด ได้ทั้งปีและระบาดมากในชวงฤดูแล้ง การป้องกันกําจัด ฉีดพ่นด้วยมาลาไธออน หรือบาซูดิน
การเก็บเกี่ยว
เก๊กฮวย สามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือน เวลาที่เหมาะสมในการเก็บดอกเก๊กฮวยอยู่ในช่วง 9.00–10.00 น. เพื่อไม่ให้น้ำค้างอยู่ที่ดอกทำให้ดอกช้ำและอาจเกิดเชื้อราในภายหลัง เลือกดอกที่มีเกสรบาน 2 ใน 3 เก็บเฉพาะดอกที่มีเกสรสีเหลืองสด ใช้มือเก็บทีละดอก เด็ดก้านดอกให้ชิดมากที่สุด
ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเก๊กฮวยสามารถเก็บเกี่ยวได้ 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายนตลอดทั้งเดือน หลังจาการเก็บเกี่ยวช่วงที่1 แล้ว ให้ตัดแต่งต้นเก๊กฮวยเพื่อให้แตกกิ่ง และเกิดทรงพุ่มใหม่ และสามารถเก็บเกี่ยวในช่วงที่ 2 ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ตลอดทั้งเดือนเช่นกัน
ในการเก็บเกี่ยวแต่ละช่วงให้แบ่ง เก็บ 3 ครั้งดังนี้
- ครั้งที่ 1 เก็บดอกประมาณ 40% ของดอกที่ออกทั้งหมด
- ครั้งที่ 2 เก็บหลังจากที่เก็บครั้งที่1ไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เก็บดอกอีก 40% ของดอกที่ออกทั้งหมด
- ครั้งที่ 3 เก็บหลังจากที่เก็บครั้งที่2ไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เก็บดอกออกทั้งหมด
กรรมวิธีการทำดอกเก๊กฮวยแห้ง ประกอบด้วย 2 กระบวนการ คือ
1. การนึ่งดอกเก๊กฮวย
การนึ่งดอกเก๊กฮวย คือการนำดอกเก๊กฮวยมาใส่ในรังหม้อนึ่ง โดยใส่พอประมาณอย่าให้ซ้อนทับกันหนาเกินไป แล้วไปนึ่งในน้ำอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 3 นาที
อย่าให้น้ำเดือดกระทบดอกเก๊กฮวย เพราะจะทำให้ดอกแห้งมีสีไม่สวย จากนั้นเทดอกเก๊กฮวยที่นึ่งแล้วใส่ในตะแกรง ใช้ไม้คน พลิกกลับให้ดอกแยกออกจากกัน และเกลี่ยบาง ๆ แล้วจึงนำเข้าตู้อบความร้อน
2. การทำดอกแห้ง
สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผึ่ง การตากแดด การอบด้วยลม ร้อน เป็นต้น (Winnie et al., 2011) วิธีการตากแดด นั้นจะใช้วิธีนี้เฉพาะช่วงที่มีแสงแดดดี โดยนำกระจาดที่บรรจุดอกเก๊กฮวยที่นึ่งแล้ว เทคว่ำลงในกระด้งหรือเสื่อฟางข้าว แล้วนำไปผึ่งแดดทุกวัน พลิกกลับในตอนเช้าทุกวัน
ตากจนเกสรแห้งซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน อบแห้งโดยใช้วิธีผิงไฟถ่านนำเก๊กฮวยที่นึ่งแล้ววางบนแขนงไม้ไผ่ที่อยู่เหนือเตาถ่าน รักษาอุณหภูมิไว้ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ผิงไฟโดยกลับดอกซึ่งติดกันอยู่เป็นแผงเป็นระยะจนแห้งดี หรือประมาณ 6 ชั่วโมง ปกติดอกเก๊กฮวย แห้งน้ำหนักจะลดลงจากดอกสดในอัตราส่วน 1 ต่อ 7 (แจ่มจันทร์, 2530)