ต้นม่วงเขาพ่อตาหลวงแก้ว พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย จ.ระนอง?
ม่วงเขาพ่อตาหลวงแก้ว
ม่วงเขาพ่อตาหลวงแก้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Codonoboea porphyrea (B. L. Burtt) D. J. Middleton
วงศ์ชาฤาษี (Gesneriaceae)
ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม อวบน้ำ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ผิวด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีแค่ 1 ดอก ก้านดอกเรียวยาว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ
กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วง ผิวด้านนอกมีขนสั้นมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แยกเป็นซีกบน 2 แฉก บิดขี้น ด้านในสีม่วงจาง ซีกล่างมี 3 แฉก สีม่วงเข้ม ตรงโคนบริเวณคอหลอดดอกมีแถบสีเหลืองเข้ม 2 แถบ
ม่วงเขาพ่อตาหลวงแก้ว เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย (endemic) พบมีการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้แถบระนองถึงนครศรีธรรมราช ตัวอย่างต้นแบบ Geesink, Hattink & Charoenphol 7417 เก็บจากเขาพ่อตาหลวงแก้ว จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1974 ตัวอย่างที่เก่าที่สุดเก็บโดยหมอคาร์ (A. F. G. Kerr) ซึ่งท่านขึ้นเขาพ่อตาหลวงแก้วทางด้านคลองกำพวน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1929
เอกสารอ้างอิง: Burtt, B. L. 2001. Flora of Thailand: annotated checklist of Gesneriaceae. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 81−109.